สำนักงานเครือข่ายงดเหล้า (สคล.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลพบุรี และภาคีเครือข่าย ผนึกกำลังจัดงาน ‘บวชหมู่สร้างสุข ปลอดเหล้า ไม่ก่อเวร’ ขึ้น ณ วัดญาณเสน ต.โก่งธนู อ.เมือง จ.ลพบุรี หวังเป็นต้นแบบงานบวชปลอดเหล้า รณรงค์สร้างค่านิยมและพฤติกรรมใหม่ในสังคม เน้นงานบวชที่เรียบง่ายตามวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิม เผยสถิติการสำรวจงานฉลองบวชนาคของจังหวัดลพบุรีที่ผ่านมา พบมีงานที่จัดเฉลิมฉลองใหญ่โตสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายไปกับค่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงถึง 200,000 บาท ส่งผลให้งานบวชหลายงานกลายเป็นงานบาป เกิดการทะเลาะวิวาทบาดเจ็บเสียชีวิต วางเป้าหมายจากนี้ขับเคลื่อนเป็นนโยบายสาธารณะร่วมกับเครือข่ายทั่วประเทศ
นายชัยณรงค์ คำแดง ผู้จัดการโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะงานบวชสร้างสุข ตัวแทนสำนักงานเครือข่ายงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า “ที่ผ่านมา สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และ สสส. ได้ร่วมกับเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนา สังฆะเพื่อสังคม ขับเคลื่อนโครงการวัดปลอดเหล้า-บุหรี่ และปลอดการพนัน และได้มีโครงการต่อเนื่องมาในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ งานบวชสร้างสุข มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะส่งเสียงถึงชุมชนให้เกิดการปรับเปลี่ยนค่านิยมและพฤติกรรมของงานบวช ที่ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปจากวัฒนธรรมที่เรียบง่ายดั้งเดิม จนส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อสังคม เป็นงานบุญเปื้อนบาป เบียดเบียนสังคม ทะเลาะวิวาท เกิดหนี้สินเพราะจัดงานเลี้ยงใหญ่โตเกินจำเป็น โดยจากการสำรวจโครงการศึกษาข้อมูลการจัดงานบวชนาคเพื่อประโยชน์ในการผลักดันนโยบายสาธารณะงานบวชสร้างสุข ที่สอดคล้องกับพุทธธรรมและประเพณีท้องถิ่นในจังหวัดลพบุรี พบว่าค่าใช้จ่ายในส่วนของบริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานฉลองบวชนาคนั้น งานที่มีค่าใช้จ่ายสูงสุดใช้จ่ายไปถึง 200,000 บาท ค่าเฉลี่ยโดยรวมอยู่ที่ 20,000 บาท ซึ่งนับเป็นความสิ้นเปลืองอย่างมาก อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบสถิติแล้ว จำนวนการบริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการจัดงานเลี้ยงฉลองการบวชนาคมีแนวโน้มลดลงจากปี 2561-2563 จาก 49.20%, 43.60% และ 23.80% ตามลำดับ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์การระบาดของโควิด19 ในช่วงต้นปี 2563”
นางกฤษณา สิทธิราช วัฒนธรรมจังหวัดลพบุรี กล่าวว่า “ทางสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลพบุรี มีนโยบายเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม เพื่อไม่ให้วัฒนธรรมประเพณีผิดเพี้ยนและเบี่ยงเบนไปจากเดิม ซึ่งในโครงการงานบวชปลอดเหล้า ภายใต้แนวคิด บวชหมู่สร้างสุข ปลอดเหล้า ไม่ก่อเวร ครั้งนี้เป็น พิธีบรรพชา-อุปสมบทหมู่เฉลิมพระเกียรติ ถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 2 เมษายน 2564 ทั้งนี้จะเป็นการสนับสนุนให้เกิดวัฒนธรรมประเพณีที่ถูกต้อง เป็นประเพณีการบวชพระที่ควรอนุรักษ์ ไม่ให้เกินกว่าวัฒนธรรมประเพณีที่ควรที่เหมาะสม โดยทางเครือข่ายที่เฝ้าระวังทางวัฒนธรรมในแต่ละอำเภอ จะมีผู้นำท้องถิ่นท้องที่เข้าไปควบคุมดูแลให้ประชาชนได้เห็นคุณค่าทางวัฒนธรรมไม่ให้มีการเบี่ยงเบนไป ตลอดจนคณะสงฆ์ในจังหวัดลพบุรี มีมติให้งานบวช ไม่มีการดื่มเหล้า รวมถึงงานแต่งงาน งานบุญ หรือการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในเขตของวัด ต้องห้ามดื่มเหล้าทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังรวมถึงการแต่งกายที่ไม่เหมาะสม รวมถึงการจัดรถแห่ – แตรวงหรือดนตรีต่าง ๆ ได้มีการรณรงค์ให้หลีกเลี่ยงเพื่อให้เกิดวัฒนธรรมที่เรียบง่ายอีกด้วย”
พระครูสันติญาณประยุต เจ้าอาวาสวัดญาณเสน ต.โก่งธนู อ.เมือง จ.ลพบุรี กล่าวว่า “การบวชนั้นนับเป็นการสืบทอดทางพระพุทธศาสนา เป็นประเพณีที่สืบทอดต่อกันมาอย่างเรียบง่าย มีความหมายถึงการละทิ้งวิถีชีวิตความเป็นอยู่เดิมคือฆราวาส มาสู่วิถีชีวิตใหม่ในเพศบรรพชิต เพื่อความเป็นอยู่ที่ง่าย สะดวก บริสุทธิ์ ปราศจากมลทิน ถ้าเราเข้าใจในแนวคิดนี้ ไม่ว่าใครก็สามารถบวชได้ ไม่จำเป็นต้องจัดงานใหญ่โต ไม่ต้องใช้เงินมากมาย คนยากจนก็บวชได้ โครงการบวชสร้างสุขจะสร้างให้เกิดค่านิยมใหม่ในงานบวช เป็นการบวชเพื่อสืบทอดพระศาสนาที่แท้จริง เป็นงานที่เรียบง่าย ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่ใช่งานบวชแบบเปื้อนบาปมีน้ำเมา ในอีกด้านหนึ่ง งานบวชสร้างสุขจะเป็นการสร้างความสมัครสมานสามัคคีของคนในชุมชนให้เกิดขึ้นด้วย การที่หลวงพ่อทำให้ชาวบ้านดู แล้วชาวบ้านก็ร่วมมือร่วมแรงใจกันทำ นั่นคือความสามัคคี ทำให้งานบวชกลายเป็นงานบวชสร้างสุขได้จริง ๆ”
ในส่วนของ นายอษิวัฒน์ ปานจุ๋ย อดีตสมาชิกสภาจังหวัดหนึ่งในผู้เข้าร่วมอุปสมบทหมู่ บวชสร้างสุข ในครั้งนี้กล่าวสะท้อนความรู้สึกว่า “ก่อนหน้านี้มานิมนต์ท่านเจ้าอาวาสเพื่อที่จะจัดงานบวชให้กับคนอื่น แต่พอได้ยินท่านเจ้าอาวาสเล่าถึงงานบวชสร้างสุขให้ฟัง ว่าเป็นงานบวชที่เรียบง่าย ไม่มีเหล้า-บุหรี่ ก็รู้สึกสนใจมาก คิดในใจว่าจะเป็นไปได้อย่างไร จึงตัดสินใจเข้าร่วมบวชสร้างสุขครั้งนี้ด้วยทันที แม้ตัวเองจะเป็นคนที่มีกำลังทรัพย์จัดงานใหญ่โตได้ มีผู้คนรู้จักนับหน้าถือตาพอสมควร แต่คิดว่าการจัดงานบวชสร้างสุขแบบเรียบง่ายนั้นดีกว่า เราเคยได้ยินแต่งดเหล้าเข้าพรรษา แต่ตอนนี้งดเหล้าด้วยการบวชนาคได้ด้วย ญาติโยมที่มาร่วมงานก็ถือโอกาสงดเหล้า ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก ก็อยากจะเชิญชวนทุกคน ไม่ว่ายากจนแค่ไหน หากตั้งใจจะบวชก็สามารถบวชได้ด้วยแนวคิดบวชสร้างสุขนี้”
ขณะที่ นายพิษณุ ยุวัฒชนะ อีกหนึ่งในผู้เข้าร่วมอุปสมบทหมู่ กล่าวเพิ่มเติมว่า “คิดจะบวชมานานแล้ว แต่ไม่มีโอกาส เนื่องจากได้ยินว่าค่าใช้จ่ายในงานบวชค่อนข้างสูงมาก ต้องมีเงินเป็นหลักแสนถึงจะบวชได้ แต่สำหรับบวชสร้างสุขนี้ หลวงพ่อบอกว่าไม่มีเงินก็บวชได้ ก็รู้สึกดีใจมาก วันนี้ได้มีโอกาสบวชตามที่ตั้งใจไว้มานานแล้ว พ่อแม่ครอบครัวก็ดีใจ”
ทั้งนี้ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า สสส. และเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนา สังฆะเพื่อสังคม วางเป้าหมายในการดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะงานบวชสร้างสุขร่วมกับเครือข่ายทั่วประเทศ นอกจากภาคกลางที่จังหวัดลพบุรีแล้ว มีการขับเคลื่อนงานบวชสร้างสุขให้เกิดขึ้นในภาคต่างๆ ได้แก่ ภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก, ภาคอีสานที่จังหวัดมหาสารคาม สุรินทร์, ภาคใต้ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี สงขลา, ภาคตะวันออกที่จังหวัดจันทบุรี และภาคตะวันตกที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์