“ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นองค์กรที่ข้าพเจ้าตั้งใจจัดตั้งขึ้นเพื่อถวาย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตามพระราชปณิธานที่ทรงมุ่งหวังให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี และมีคุณภาพชีวิตที่ได้มาตรฐาน โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะเป็นศูนย์กลางการเรียนการสอน และการวิจัยที่จะสร้างบัณฑิต และพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ วิทยาศาสตร์ สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม ที่มีจิตในการทำประโยชน์ให้ผู้อื่นก่อนคิดถึงประโยชน์ของตัวเอง พร้อมบริการสังคม ด้วยความรู้ความชำนาญ คุณธรรมจริยธรรม จิตอาสา ความมุ่งมั่น และด้วยความเป็นเลิศในวิชาชีพเพื่อทุกชีวิตในสังคม อีกทั้งเป็นสถาบันที่ให้บริการทางการแพทย์ด้วยมาตรฐานสากล แก่ประชาชนอย่างไม่หวังผลกำไร โดยเฉพาะผู้ที่ยากไร้และด้อยโอกาส เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยทั้งประเทศ”
พระปณิธานใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์
อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เตรียมการผลิตสัตวแพทย์ยุคใหม่
บูรณาการ คน-สัตว์-สิ่งแวดล้อม ยึดหลัก One Health สุขภาพหนึ่งเดียว
จากแนวคิดและพันธกิจ ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่มุ่งตอบสนองพระปณิธานในการกำจัดโรคที่มาจากสัตว์สู่คน นำมาซึ่งการก่อตั้ง คณะสัตวแพทยศาสตร์และสัตววิทยาประยุกต์ ของ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อผลิตสัตวแพทย์ที่มีความพร้อมในการทำงานที่สอดคล้องกับการพัฒนาของวิทยาการด้านสุขภาพในโลกยุคศตวรรษที่ 21 ดังปณิธานของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่ต้องการให้บัณฑิตที่นี่ทุกคน เรียนรู้ วิจัย เพื่อสร้างปัญญาและผู้นำทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในระดับนานาชาติ
รศ. น.สพ.ปานเทพ รัตนากร คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์และสัตววิทยาประยุกต์ และ รองอธิการบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายพัฒนาวิทยาเขตและการสัตวแพทย์ ได้บรรยายให้เห็นถึงภารกิจของการผลิต “สัตวแพทย์” ให้เท่าทันโลกยุคใหม่ ตามหลักสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) นั้น ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมี “หมอสัตว์” ในอนาคต และต้องรีบบ่มเพาะความเชี่ยวชาญ เปิดโอกาสให้ได้เก็บชั่วโมงบินจากประสบการณ์จริง แม้ว่า
ปัจจุบันเราจะผลิตสัตวแพทย์ได้จำนวนน้อย แต่ต้องมีคุณภาพและแตกต่างอย่างโดดเด่น โดยบัณฑิตสัตวแพทย์ จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ที่จะจบไปสู่สังคมในอนาคต ต้องมีความใฝ่รู้และคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ และต้องมีความเสียสละและอุทิศตน เพื่อสังคมและประเทศชาติ
ทำไมต้องสร้างคณะสัตวแพทยศาสตร์และสัตววิทยาประยุกต์
สำหรับ คณะสัตวแพทยศาสตร์และสัตววิทยาประยุกต์ ก่อตั้งขึ้นเป็นคณะที่ 4 ภายใต้วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยมีความมุ่งหมายที่จะให้เกิดความสมบูรณ์ในการดูแลสุขภาพ ซึ่งเราเรียกว่า สุขภาพหนึ่งเดียว อันเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันระหว่างสุขภาพคน สุขภาพสัตว์ และสุขภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันแยกกันไม่ได้ การที่จะทำให้สุขภาพคนสมบูรณ์ได้ ก็จำเป็นต้องทำให้สุขภาพของสัตว์นั้นสมบูรณ์ด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้น คณะสัตวแพทยศาสตร์ฯ ของเราจึงถูกถือกำเนิดขึ้นมา นับเป็นการสอดรับและสนองพระปณิธานในการที่จะกำจัดโรคที่มาจากสัตว์สู่คนรวมถึงการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทย
แนวทางการเรียนการสอน “คณะสัตวแพทยศาสตร์และสัตววิทยาประยุกต์”
มีแนวทางที่ถือปฏิบัติอย่างชัดเจน ในการที่จะแก้ปัญหาสุขภาพของส่วนรวม โดยใช้แนวทางสุขภาพหนึ่งเดียว เรามุ่งผลิตสัตวแพทย์ออกไปเพื่อเสริมสร้างการดูแลสุขภาพของคน ผ่านการดูแลสุขภาพสัตว์ที่ดี และสุขภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี ดังนั้น สัตวแพทย์ที่จบไปจากเราจะมีความตระหนักในเรื่องนี้ มีความสามารถปฏิบัติงานบูรณาการข้ามศาสตร์ได้ ซึ่งนั่นหมายถึงการทำงานร่วมกับสาขาวิชาอื่นในแง่ของสุขภาพ ตลอดจนมีแนวคิดในเชิงเป็นนักวิจัย เพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ทุกคนยังมีความตระหนักที่รับใช้ประเทศชาติ ท้ายที่สุดเรามุ่งหมายการสร้างคนดีบ่มเพาะคนเก่ง นั่นคือสิ่งที่จะเป็นผลผลิตของคณะสัตวแพทยศาสตร์ฯ แห่งนี้
นอกจากนั้น เรายังมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาขาดแคลนสัตวแพทย์ ที่มีความจำเพาะ ในบางหน่วยงาน หรือบางพื้นที่ ยกตัวอย่างเช่น สัตวแพทย์ที่จบไปต้องทำงานเป็นการใช้ทุนกับหน่วยงานต่างๆ ที่มีความต้องการ เราจะสร้างสัตวแพทย์ที่ตอบสนองต่อการขาดแคลนที่มีความจำเพาะตามภารกิจของหน่วยงานเหล่านั้น รวมถึงสัตวแพทย์ที่จบออกไป จะต้องมีความโดดเด่นและมีความเป็นผู้นำ ที่จะประยุกต์นำความรู้และความสามารถที่ได้รับจากการเรียนภายในรั้วราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และส่งต่อสิ่งเหล่านั้นสู่สังคมภายนอกได้อย่างเป็นรูปธรรม
หลักสูตรสัตวแพทย์และการเรียนการสอน
ปัจจุบันเราได้รับนักศึกษารุ่นแรกตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 และกำลังดำเนินการเปิดรับนักศึกษารุ่นที่ 2 สำหรับปีการศึกษา 2564 โดยหลักสูตรสัตวแพทยศาสตรบัณฑิตที่เป็นโครงการความร่วมมือกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (โครงการมหาวิทยาลัยมหิดล – วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์) เป็นหลักสูตรที่ใช้เวลาเรียน 6 ปีด้วยกัน เราจะรับทั้งหมด 5 รุ่น แต่ด้วยความที่เราต้องการจะพัฒนาการเรียนการสอนสัตวแพทย์แนวใหม่ด้วย ”หลักสูตรใหม่” ที่เป็นของเราเอง โดยจะเป็นการเรียนแบบต่อยอด คือ การรับนักศึกษาผู้ที่จบการศึกษาแล้วจากสาขาวิทยาศาสตรบัณฑิต 4 ปีทั่วไป หรือสาขาอื่นที่มีความเกี่ยวข้องมีพื้นฐานตามกำหนด แล้วมาเรียนต่ออีก 4 ปี ในสาขาวิชาชีพการสัตวแพทย์ ซึ่งจะเน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติ หลักสูตรนี้เรามีเป้าหมายให้ได้รับการรับรองในระดับนานาชาติ โดยที่เรายึดเกณฑ์ของประเทศออสเตรเลียเป็นแนวทางในการพัฒนาหลักสูตร ทั้งนี้หลักสูตรใหม่จะเริ่มรับนักศึกษารุ่นแรกในปีการศึกษา 2568
โครงการจัดตั้งวิทยาเขตใหม่ รองรับการเรียนการสอน เปิดโอกาสให้สัตวแพทย์ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์โดยตรง
สำหรับวิทยาเขตหลักของคณะสัตวแพทย์ฯ ตั้งอยู่อำเภอปากช่อง จ.นครราชสีมา มีพื้นที่ 240 ไร่ ได้รับมอบจากกรมปศุสัตว์ อยู่ใกล้กับศูนย์วิจัยและพัฒนาสุกร วิทยาเขตนี้ได้รับ พระราชทานนามจากองค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ว่า “วิทยาเขตเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์พนารักษ์ ปากช่อง” วิทยาเขตนี้จะมีการจัดตั้งโรงพยาบาลสัตว์ ให้การดูแลทั้งปศุสัตว์ สัตว์เลี้ยง สัตว์ป่าและสัตว์ทดลอง ชื่อว่า “โรงพยาบาลสัตว์ศรีสวางควัฒน” เป็นชื่อพระราชทานเช่นกัน ในขณะนี้ อยู่ในระยะการออกแบบและจะเริ่มการก่อสร้างในปี 2564 โดยจะเริ่มก่อสร้างโรงพยาบาลปศุสัตว์ก่อน ใช้เวลาประมาณ 2 ปี จากนั้นจะทยอยก่อสร้างอาคารในส่วนอื่นต่อไป เช่น โรงพยาบาลสัตว์เล็ก ส่วนของศูนย์วินิจฉัย ศูนย์วิจัยต่างๆ ศูนย์สัตว์ทดลอง ตลอดจนคลินิกที่เกี่ยวกับสัตว์ป่า และในส่วนที่ใช้รองรับการฝึกอบรมเกษตรกรและผู้ประกอบการในพื้นที่ ฉะนั้นในปี 2567 เราเชื่อว่าวิทยาเขตจะเสร็จสมบูรณ์และเปิดดำเนินงานได้อย่างครบถ้วน
“สัตวแพทย์” ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในการร่วมให้บริการภาคสังคม
แม้อาคารสถานที่ของเรายังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่เราได้เริ่มดำเนินงานโครงการที่ “โครงการสำนักงานคณะสัตวแพทยศาสตร์และสัตววิทยาประยุกต์และโรงพยาบาลสัตว์ศรีสวางควัฒน ส่วนหน้า วิทยาเขตเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์พนารักษ์ ปากช่อง” ไปแล้ว ตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี2563 โดยใช้พื้นที่ของ ศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดนครชัยบุรินทร์บางส่วนมาเป็นสถานที่เตรียมการ และตั้งหน่วยปฏิบัติงานที่เราเรียกว่า
“หน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์” ขึ้น ให้บริการดูแลปศุสัตว์ในพื้นที่ ตลอดจนกรณีสัตว์ป่าเราก็ทำงานร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช หน่วยโมบายคลินิก (Mobile Clinic) ออกพร้อมสัตวแพทย์ประจำหน่วย ในการดูแลปศุสัตว์ในพื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นวัวนมและปศุสัตว์อื่นๆ ที่ชาวบ้านเลี้ยงอยู่ นอกจากนี้ เรายังมีการฝึกอบรมการจัดการสุขภาพสัตว์ และให้คำแนะนำกับเกษตรกรหน่วยงานอื่นๆ รวมถึงสร้างเครือข่ายประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่เพื่อให้บริการแก่เกษตรกรอย่างครอบคลุมและทั่วถึง
กิจกรรมภายนอก บ่มเพาะชั่วโมงบิน
นอกจากนั้น เรายังมีความร่วมมือระหว่างคณะหน่วยงานภายในราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เอง และหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภายในประเทศและหน่วยงานระหว่างประเทศ สำหรับหน่วยงานในประเทศมีหน่วยงานราชการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัย ไปจนถึงหน่วยราชการที่เป็นกรม กอง กระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ยกตัวอย่างเช่น กรมปศุสัตว์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมประมง หรือมหาวิทยาลัยด้วยกัน เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏและราชมงคลในภูมิภาค มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยในภูมิภาคอีกหลายแห่ง นอกจากนี้ เรายังมีความสัมพันธ์กับองค์กรระหว่างประเทศที่ดี เช่น FAO (องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ) OIE (องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ) เป็นต้น หรือแม้แต่องค์กรภาคเอกชนระดับนานาชาติ มีความสัมพันธ์เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนถ่ายเทความรู้ การทำวิจัยร่วมกัน จนถึงเรื่องของการสนับสนุนเงินทุนที่จะใช้ในการศึกษาวิจัย และการแลกเปลี่ยนดูงานของนักศึกษา มีความสัมพันธ์กับมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านการสัตวแพทย์และการแพทย์ ทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น รวมถึงออสเตรเลียที่เป็นพันธมิตรสำคัญมีความร่วมพัฒนาสัตวแพทยศาสตร์ศึกษาและหลักสูตรใหม่ของคณะ ฯ ยกตัวอย่างที่ผ่านมาเช่น กรณีของการที่มีมูลนิธิหรือองค์กรภาคเอกชนในต่างประเทศ เราก็ได้ถ่ายทอดความรู้ ได้รับอาสาสมัครที่เข้ามาช่วย ตลอดจนการสนับสนุนด้านอื่นๆ ด้วย
อาชีพสัตวแพทย์ยุคใหม่ ในศตวรรษที่ 21 น่าจะมีคุณสมบัติอะไรเพิ่มเติมอีก
สัตวแพทย์ที่มีความจำเป็นในอนาคต และเป็นสิ่งจำเป็นที่มีความแตกต่างเราต้องสร้างให้เขาเกิดขึ้น อย่างแรกสัตวแพทย์ต้องเป็นผู้ที่มีความใฝ่รู้ตลอดเวลา ตั้งใจและสนใจในการติดตามในเรื่องของวิทยาการทางการแพทย์ สัตวแพทย์และศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง จะต้องดูให้กว้าง กระทั่งในเรื่องของสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม สัตวแพทย์ต้องมีหูตาที่กว้างไกล ต้องมีความตั้งอกตั้งใจที่จะเข้าไปแก้ปัญหาในสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสังคมหรือสิ่งแวดล้อม เรื่องของเทคโนโลยีเราต้องตามให้ทัน และนั่นคือความมุ่งหมายของคนดีและคนเก่งที่เราต้องการ มีความรับผิดชอบนี่คือสิ่งที่เราต้องการมาก ไม่ใช่แค่ตัวเอง
หรือตัวสัตว์ แต่ต้องรับผิดชอบต่อส่วนรวมด้วย ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้จะต้องเร่งสร้างและใส่เข้าไปในตัวของสัตวแพทย์
และปัจจัยต่อมาที่ส่งผลให้สัตวแพทย์ ทำงานได้เป็นอย่างดีในอนาคตนั้น คือ จะต้องเป็นผู้ที่มีความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ และมีความคิดในแง่เป็นระบบด้วยเชิงของนักวิจัย เพื่อใช้วิเคราะห์และแก้ปัญหาต่างๆ อย่างเหมาะสมแม้ว่าจะไม่ได้ทำงานวิจัยก็ตาม และ สุดท้าย การถูกหล่อหลอมให้เป็นคนที่สมบูรณ์ มีความโอบอ้อมอารี ไม่ว่าจะเป็นต่อเพื่อนมนุษย์หรือสัตว์ ความมุ่งหวังที่จะทำประโยชน์ต่อสาธารณะ ซึ่งปัจจุบันเรายังขาดสิ่งเหล่านี้หรือมีไม่มากเท่าที่ควร
สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราพยายามฟูมฟักให้คนของเราเป็นสำคัญ แต่ต้องไม่ลืมว่า หลักสูตรของเราในอนาคตเป็นหลักสูตรต่อยอด เพราะฉะนั้น หวังว่าจะให้ผู้ที่เข้ามาเรียนกับเรานั้นได้กลับไปสู่ส่วนงานของตนเอง ไปเพื่อช่วยพัฒนา และเติมเต็มในส่วนที่ขาด ยกตัวอย่างในบางส่วนที่มีองค์ความรู้ในการเลี้ยงสัตว์เท่านั้น แต่ก็ยังขาดในเรื่องของสุขภาพสัตว์ เพราะฉะนั้น หากนำมาต่อยอดในแง่สุขภาพสัตว์ก็จะทำให้เขามีความสมบูรณ์ พร้อมทั้งความรู้เรื่องการผลิตสัตว์และความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพสัตว์มีลักษณะ Two in One และที่สำคัญเขาอยู่บนพื้นฐานที่จะเชื่อมโยงและบูรณาการกับสาขาสุขภาพอื่น ๆ ไม่ว่าจะไปอยู่กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมควบคุมโรค ฯลฯ สุดท้ายก็ต้องช่วยเพื่อนมนุษย์ได้ เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ในสังคมของเรา
สามารถติดตามข่าวสารของคณะสัตวแพทยศาสตร์และสัตววิทยาประยุกต์ เพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/cra.veterinary