รมว.เฉลิมชัยฯ สั่งด่วนกรมชลฯ ระบายน้ำเพิ่มลดค่าความเค็มแม่น้ำเจ้าพระยา ลดผลกระทบต่อการใช้น้ำ ช่วยเกษตรกร/คนกรุง
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากรายงานของกรมชลประทานที่ได้ติดตามการตรวจวัดค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา ช่วงเวลา 20.00 น. มีค่าความเค็มอยู่ที่ 2.50 กรัมต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ปกติ ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาของการประปานครหลวง บริเวณสถานีสูบน้ำดิบสำแล จังหวัดปทุมธานี และการเพาะปลูกไม้ผลไม้ยืนต้นของเกษตรกรในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ กระทรวงเกษตรฯ มีความห่วงใยเกษตรกรและการผลิตน้ำประปาในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล หลังน้ำทะเลหนุนสูงทำค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาพุ่งสูงขึ้น จึงสั่งการด่วนให้กรมชลประทานเร่งระบายน้ำเพิ่มมาไล่ความเค็ม เพื่อลดผลกระทบต่อการใช้น้ำของเกษตรกรและประชาชน
“จากสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้ค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น จึงมีความห่วงใยต่อพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากค่าความเค็มที่เพิ่มขึ้นในน้ำดิบที่นำไปผลิตน้ำประปาของการประปานครหลวง ทำให้บางช่วงเวลาน้ำประปามีรสชาติที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น จึงสั่งการให้กรมชลประทาน เพิ่มการระบายน้ำจากทางตอนบน เพื่อเจือจางค่าความเค็ม ช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชน โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล” ดร.เฉลิมชัยฯ กล่าว
ด้าน นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมชลประทาน ได้เพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนพระรามหก เดิมระบาย 20 ลบ.ม./วินาที เป็น 25 ลบ.ม./วินาที ตั้งแต่วานนี้ (31 ม.ค. 64) และจะทยอยปรับการระบายเพิ่มขึ้นเป็น 30 ลบ.ม./วินาที ไปจนถึงวันที่ 2 ก.พ. 64 เพื่อประหยัดน้ำต้นทุน พร้อมกันนี้ได้เพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จาก 35 ลบ.ม./วินาที เป็น 45 ลบ.ม./วินาที ตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค. – 2 ก.พ. 64 เพื่อไม่ให้กระทบต่อการใช้น้ำในพื้นที่ตอนบน ทั้งนี้ เพื่อให้การควบคุมค่าความเค็มเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดและมีผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม จึงขอความร่วมมือประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าทุกแห่งที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงมาจนถึงปากอ่าวไทย ให้งดการรับน้ำหรือสูบน้ำในระยะนี้
“ได้สั่งการให้โครงการชลประทานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์ค่าความเค็มในแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด รวมถึงวางแผนบริหารจัดการน้ำโดยใช้อาคารชลประทานควบคุมการรับน้ำ เพื่อป้องกันความเค็มไม่ให้รุกล้ำเข้าไปในพื้นที่การเกษตร ลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด” นายสัญญาฯ กล่าว.