สุนัขดมกลิ่น สุนัขดมกลิ่นหาผู้เชื้อโควิด โควิด-19

ผลการวิจัยทั้งไทย-เทศ ระบุ สุนัขสามารถดมกลิ่นหาโควิด-19 ได้แม่นยำ

เหมาะกับการค้นหาผู้ป่วยในที่ที่มีผู้คนเป็นจำนวนมาก เช่นสนามบิน สถานีรถไฟ หรืองานอีเว้นต์ต่าง ๆ

Home / โควิด-19 / ผลการวิจัยทั้งไทย-เทศ ระบุ สุนัขสามารถดมกลิ่นหาโควิด-19 ได้แม่นยำ

ประเด็นน่าสนใจ

  • ในหลายประเทศมีการค้นคว้าวิจัย การใช้สุนัขดมกลิ่นค้นหาผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อการตรวจคัดกรองอย่างรวดเร็ว
  • พบระดับความแม่นยำค่อนข้างสูงในหลายประเทศ แต่ยังคงจำเป็นต้องมีการตรวจซ้ำด้วยวิธีการ RT-PCR เพิ่มเติม
  • เหมาะกับการค้นหาผู้ป่วยในที่ที่มีผู้คนเป็นจำนวนมาก เช่นสนามบิน สถานีรถไฟ หรืองานอีเว้นต์ต่าง ๆ

สถานการณ์โควิด-19 ในหลายประเทศยังคงมีการระบาดอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 ใช้งานกันแล้วก็ตาม แต่อัตรการระบาดและการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้น ยังคงมีความกังวลกับการระบาดในระลอกใหม่เพิ่มเติม

แม้ว่าจะมีความพยายามในการตรวจคัดกรองบางอย่างเช่น การตรวจวัดอุณหภูมิก็ไม่สามารถคัดกรองในผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการได้ ในขณะที่การใช้ชุดตรวจแบบ Rapid Test แม้ว่าจะเร็ว แต่ก็ยังคงมีค่าใช้จ่ายในการตรวจที่ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง

การใช้สุนัขดมกลิ่นเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่มีการค้นคว้าวิจัยถึงความเป็นไปได้ในการตรวจหาผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อเป็นการคัดกรองเพื่อค้นหาผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยก็มีการวิจัยในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

ที่มาที่ไปของการค้นคว้า

นักวิจัยในหลายประเทศเล็งเห็นว่า สุนัขเป็นสัตว์ที่มีความสามารถในการดมกลิ่น และที่ผ่านมาก็มีการนำสุนัขมาใช้ดมกลิ่นเพื่อตรวจหาโรคบางโรค เพื่อเป็นการคัดกรองเบื้องต้นสำหรับการตรวจอย่างละเอียดต่อไป เนื่องจาก

  • สามารถคัดกรองได้รวดเร็ว จากความไวในการดมกลิ่น
  • มีความแม่นยำในการตรวจคัดกรองเบื้องต้นได้ดี

โดยเฉพาะโรคโควิด-19 ที่ปัจจุบันมีแนวโน้มการพบผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการมากกว่าผู้ที่แสดงอาการ ดังนั้นการตรวจวัดอุณหภูมิจึงไม่สามารถคัดกรองผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการได้

การทดลอง-วิจัยใช้สุนัขดมกลิ่นโควิด-19

วิธีการตรวจเหงื่อต่างๆเหล่านี้เกิดจากการที่ต่อมใต้ผิวหนังชนิด Eccrine, Sebaceous และ Apocrine โดยต่อม Apocrine นี้จะเป็นต่อมสำคัญที่ผลิตสารระเหยง่าย เป็นกลิ่นตัวเฉพาะของมนุษย์ ส่วนต่อมอีกสองชนิดจะผลิตสารเคมีที่ไม่ระเหยง่ายเป็นส่วนใหญ่ซึ่งไม่มีผลต่อกลิ่นตัวโดยตรง

อย่างไรก็ตามสารพวกนี้จะถูกนำไปใช้ต่อโดยแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ใต้ผิวหนังมนุษย์แล้วเปลี่ยนเป็นสารระเหยง่าย ให้กลิ่นไปปนอยู่กับกลิ่นตัวมนุษย์ ดังนั้นกลิ่นโดยรวมของตัวอย่างเหงื่อที่ดูดซับโดยแท่งสำลี แล้วเก็บมาให้สุนัขดม จะมีคุณสมบัติแตกต่างกันขึ้นกับชนิดและปริมาณของต่อมในแต่ละอวัยวะ

การที่ผู้ป่วยโควิด-19 มีกระบวนการเผาผลาญในร่างกายที่แตกต่างออกไปจากก่อนที่จะได้รับเชื้อ ทำให้มีสารเคมีจากต่อมทั้งสามชนิดเปลี่ยนแปลงไปทั้งชนิดและปริมาณ จึงถูกตรวจจับโดยสุนัขได้

การวิจัยใช้สุนัขดมกลิ่นหาโควิด-19 ในประเทศต่าง ๆ

ประเทศไทย

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการค้นคว้า วิจัยในเรื่องนี้ โดยงานวิจัยจะใช้สำลีหนีบไว้ที่รักแร้ของผู้สัมผัสทั้งสองข้างข้างละ 5 นาทีเพื่อเก็บเหงื่อจากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการเตรียมการณ์ให้สุนัขดมเนื่องจากกลิ่นเหงื่อของแต่ละคนจะมีกลิ่นเฉพาะ

ซึ่งสุนัขมีความสามารถรับกลิ่นได้มากกว่ามนุษย์ถึง 50 เท่า ขณะที่เชื้อไวรัสโควิดก็มีกลิ่นเฉพาะตัวของมันเช่นกัน หากสุนัขดมกลิ่นเหงื่อแล้วไม่ได้กลิ่นก็จะเดินผ่าน แต่หากดมแล้วมีเชื้อโควิด สุนัขก็จะนั่งลงเราก็จะนำบุคคลนั้นไปตรวจหาเชื้อ โดยวิธีการ RT-PCR อีกครั้ง

ทั้งนี้ จากการทดสอบสุนัขดมกลิ่นมีความแม่นยำในการตรวจหาเชื้อถึง 96% วิธีการนี้จะช่วยให้เจ้าหน้าที่ตรวจเชิงรุกได้รวดเร็วขึ้น รวมทั้งลดภาระการสว๊อป (Swap) โดยแต่ละรอบสุนัขสามารถดมกลิ่นได้รอบละ 12 ตัวอย่างในภาพรวมสามารถตรวจได้วันละ 600 ถึง 1,000 ตัวอย่าง

อังกฤษ

ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้มีการค้นคว้าวิจัยในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน โดยมีการทดสอบให้สุนัขดมกลิ่นจากถุงเท้า, หน้ากากอนามัย และเสื้อที่ผู้ทำการทดสอบใส่ โดยมีทั้งผู้ป่วยโควิด-19, ผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัด

ผลการทดสอบพบว่า สุนัขสามารถค้นหาผู้ป่วยโควิด-19 ได้ประมาณ 88% ในขณะที่เลือกผิด 16%

กรุงเบรุต, เลบานอน

มหาวิทยาลัย Saint Joseph ในกรุงเบรุต มีโครงการร่วมระหว่างฝรั่งเศสและเลบานอน ในการค้นคว้าวิจัยในเรื่องนี้ พบว่า สุนัข 18 ตัวที่ได้รับการฝึก และนำสุนัขไปดมกลิ่นผู้โดยสารที่ลงจากเครื่อง ณ สนามบินเลบานอน จำนวน 1,680 ราย สามารถตรวจพบผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน158 ราย (มีการตรวจยืนยันด้วยวิธีการ RT-PCR ซ้ำ)

โดยในผลการวิจัยได้ข้อสรุปว่า สุนัขสามารถแยกแยะผู้ที่ไม่มีเชื้อได้ 100% และค้นหาผู้ติดเชื้อได้อย่างถูกต้องประมาณ 92% ซึ่งถือว่า เป็นอยู่ในระดับที่แม่นยำสูง และรวดเร็ว

สหรัฐฯ

University of Pennsylvania Institutional Animal Care ได้มีการรับรองผลการวิจัยเกี่ยวกับการใช้สุนัขดมกลิ่นค้นหาผู้ป่วยโควิด-19 โดยได้มีการให้สุนัขดมกลิ่นในตัวอย่างที่ได้จากปัสสาวะ และน้ำลาย ซึ่งผลการทดสอบพบว่า มีความแม่นยำถึง 95%

ที่มา- https://doi.org/10.1371/journal.pone.0250158

ออสเตรเลีย

ในการวิจัยได้มีการนำสุนัขที่ได้รับการฝึกดมกลิ่นหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไปทดสอบที่สนามบินในอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ ที่ซิดนีย์ พบว่า สามารถดมกลิ่น ค้นหาผู้ป่วยโควิด-19 ได้ ที่ระดับความแม่นยำ 96 -98% โดยเก็บตัวอย่างเหงื่อจากบริเวณรักแร้ เป็นเวลาราว 2 นาที และนำไปให้สุนัขดม ซึ่งถือว่ารวดเร็วมาก

แนวทางการนำไปใช้

จากการรวบรวมข้อมูลของเอ็มไทยพบว่า ในหลายประเทศมีผลการทดสอบไปในทิศทางเดียวกันคือ พบว่า สุนัขสามารถค้นหาผู้ป่วยโควิด-19 จากการดมกลิ่นได้ในอัตราการพบที่สูงกว่า การตรวจคัดกรองแบบทั่วๆไป เช่น การวัดอุณหภูมิ ดังนั้นการใช้สุนัขดมกลิ่นค้นหาเชื้อโควิด-19 นั้น หลายประเทศมีข้อสรุปไปในทิศทางเดียวกันคือ

  • ต้องมีการใช้ร่วมกับการตรวจหาเชื้อแบบอื่นที่แม่นยำกว่า
  • เหมาะกับการนำไปใช้ตรวจคัดกรองแบบรวดเร็ว ในพื้นที่ที่มีคนพลุกพล่าน เช่น สนามบิน สถานีรถไฟ หรือแม้กระทั่งงานอีเว้นต์ต่าง ๆ

ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสุนัข

สำหรับการใช้สุนัขในการดมกลิ่นค้นหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 นั้น หากเป็นการดมกลิ่นเหงื่อของผู้ป่วยโควิด-19 จะมีความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับสุนัขน้อยมาก เนื่องจากผลการค้นคว้าที่ผ่านมา ไม่พบว่า ในเหงื่อ สารคัดหลั่งจากช่องคลอดและน้ำอสุจิ มีเชื้อโควิด-19 แต่อย่างใด

เนื่องจากโควิด-19 เป็นการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเชื้อไวรัส จะพบมากในน้ำมูก น้ำลาย เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นการให้สุนัขดมกลิ่นจากเหงื่อ จึงถือว่า มีความปลอดภัยต่อสุนัข

ในขณะเดียวกัน แม้ว่าในปัจจุบันจะมีรายงานการพบ สุนัข แมว หรือสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ ติดเชื้อโควิด-19 อยู่บ้าง แต่พบว่า เป็นการได้รับเชื้อจากการสัมผัสใกล้ชิดกับคนเลี้ยง


ที่มา