ประเด็นน่าสนใจ
- ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันแถลงผลการตรวจสอบและดำเนินคดีผู้ทุจริตในโครงการคนละครึ่ง
- มีรูปแบบการกระทำความผิดอยู่ 2 แบบ คือ ร้านแลกหรือรับเงินเป็นผู้ดำเนินการ / มีเจ้ามือเป็นผู้ดำเนินการจำนวนหลายราย
- เบื้องต้นพบผู้กระทำความผิดกว่า 700 ราย มีการระงับการใช้แอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” และระงับการจ่ายเงินให้แก่ร้านค้าดังกล่าว
วานนี้ (18 ธ.ค. 63) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. พร้อด้วย พล.ต.ต.ปัญญา ปิ่นสุข รอง ผบช.ก. , พล.ต.ต.ไมตรี ฉิมเฉิด ผบก.ปอศ. นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และนายพงษ์สิทธิ์ ชัยฉัตรพรสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานกำกับกฎเกณฑ์และกฎหมายธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) ร่วมกันแถลงผลการตรวจสอบและดำเนินคดีผู้ทุจริตในโครงการคนละครึ่ง
มีรูปแบบการกระทำความผิดอยู่ 2 แบบ คือ
- ร้านแลกหรือรับเงินเป็นผู้ดำเนินการ
- มีเจ้ามือเป็นผู้ดำเนินการจำนวนหลายราย
เบื้องต้นจึงได้มีการระงับการใช้แอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” และระงับการจ่ายเงินให้แก่ร้านค้าดังกล่าว และได้จัดส่งข้อมูลร้านค้าและผู้เกี่ยวข้องที่กระทำผิดเงื่อนไข ให้แก่ ตร. ดำเนินการ ผบ.ตร. จึงได้มอบหมาย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ควบคุมกำกับดูแลการตรวจสอบและดำเนินคดี โดยมี พล.ต.ท.สุทิน ทรัพย์พ่วง ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็นผู้ช่วย และมอบหมายให้ บช.ก. เร่งรัดดำเนินการ โดย มี พล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดช รอง ผบช.ก. เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน ร่วมดำเนินการกับ บก.ปอศ.
มีผลการดำเนินคดี 1 ราย ผู้ต้องหา 4 คน ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าเป็นบุคคลซึ่งมีพฤติการณ์เป็นแบบเจ้ามือ ใช้เฟซบุ๊คชื่อ “สาวิตา รักชีพชอบ” โฆษณาชักชวนให้ประชาชนที่ร่วมโครงการฯ มาแลกรับเงินจากเจ้ามือโดยไม่ต้องมีการซื้อ
จากการตรวจสอบพบธุรกรรมต้องสงสัยมีการสแกนใช้สิทธิ์กับร้านขายของชำแห่งหนึ่งในเขต จ.สมุทรสาคร โดยประชาชนหลายรายมีภูมิลำเนาและที่อยู่ปัจจุบันห่างไกลจากร้านค้าดังกล่าวมาก บางรายอยู่ จ.เชียงใหม่ , จ.สงขลา เป็นต้น แต่กลับมีการใช้จ่ายผ่านแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง กับแอพพลิเคชั่นถุงเงินของร้านค้าดังกล่าวซึ่งตั้งอยู่ใน จ.สมุทรสาคร ประชาชนได้รับโอนเงินส่วนต่างจากเจ้ามือ จำนวน 80-100 บาท ต่อการทำธุรกรรมใช้จ่ายผ่านร้านดังกล่าว
…
พบผู้กระทำความผิดกว่า 700 ราย
โดยอยู่ระหว่างตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม ขณะนี้ ตร. โดย ท่าน ผบ.ตร. อยู่ระหว่างมีคำสั่งแต่งตั้งชุดปฏิบัติการสืบสวน เพื่อสนับสนุน ในการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ของบุคคล กลุ่มบุคคล ที่เกี่ยวข้องในภาพรวมก่อนว่ามีผู้ใด หรือมีเครือข่ายใดเกี่ยวข้องบ้าง และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง อาจจะมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานฯ ซึ่งมีอยู่ในแต่ละจังหวัดไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน โดยจะให้นำแนวทางการสืบสวนสวนในภาพรวมของ บช.ก. และ ตร. ดังกล่าวไปใช้ เพื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน
อัตราโทษ
จึงขอฝากประชาสัมพันธ์เตือนถึงพี่น้องประชาชนว่า แม้คดีฉ้อโกงฯ จะมีอัตราโทษไม่มาก จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ 5 ปี /ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือ 100,000 บาท ก็ตาม แต่การกระทำความผิดในแต่ละครั้ง จะถือว่าเป็นการกระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระ หากมีการกระทำความผิดในลักษณะดังกล่าวซ้ำๆหลายครั้ง ก็จะได้รับโทษในแต่ละครั้งในทุกๆครั้ง
เมื่อรวมแล้วอาจจะได้รับโทษจำคุก ถึง 10-20 ปี หรือมากกว่านั้น จึงขออย่าได้เข้าร่วมในการกระทำการทุจริตในโครงการฯดังกล่าว เพราะจะมีการตรวจสอบที่เข้มข้น ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายร้านค้าผู้ประกอบการหรือประชาชน เพื่อไม่ให้เป็นการเสียโอกาสของผู้อื่น จึงขอความร่วมมือประชาชนไม่ให้หลงเชื่อการชักชวนให้กระทำผิดเงื่อนไขโครงการ เพราะทั้งร้านค้าและประชาชนจะถูกตัดสิทธิ์ และจะถูกดำเนินคดีทุกรายซึ่งมีอายุความในการดำเนินคดีถึง ๑๐ ปี
หากท่านพบพฤติกรรมการใช้จ่ายที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขโครงการ สามารถแจ้งเบาะแสมาที่ halfhalf@fpo.go.th หรือส่งไปรษณีย์ลงทะเบียนถึงสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โดยระบุ รายละเอียดของการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไข และข้อมูลสำหรับการติดต่อกลับพร้อมหลักฐาน (หากมี) หรือที่ ตร. ที่เว็บไซต์ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.) http://pct.police.go.th/form.php