องคมนตรี

รู้จัก 15 องคมนตรี ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่10

งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 10 เมื่อวันที่ 4-6 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้ประกอบการพระราชพิธีตามโบราณราชประเพณี ซึ่งยึดถือปฏิบัติสืบมา ได้ผ่านลุล่วงไปด้วยดี นำมาซึ่งความเป็นสวัสดิมงคลของประเทศชาติและราชอาณาจักร ท่ามกลางเหล่าพสกนิกรที่จงรักภักดีร่วมปีติยินดีในพระราชพิธีสำคัญครั้งประวัติศาสตร์ วันนี้ทีมข่าว MThai ขอพาไปรู้จักกับคณะองคมนตรี ในรัชสมัยปัจจุบัน…

Home / NEWS / รู้จัก 15 องคมนตรี ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่10

งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 10 เมื่อวันที่ 4-6 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้ประกอบการพระราชพิธีตามโบราณราชประเพณี ซึ่งยึดถือปฏิบัติสืบมา ได้ผ่านลุล่วงไปด้วยดี นำมาซึ่งความเป็นสวัสดิมงคลของประเทศชาติและราชอาณาจักร ท่ามกลางเหล่าพสกนิกรที่จงรักภักดีร่วมปีติยินดีในพระราชพิธีสำคัญครั้งประวัติศาสตร์ วันนี้ทีมข่าว MThai ขอพาไปรู้จักกับคณะองคมนตรี ในรัชสมัยปัจจุบัน

คณะองคมนตรี  คือคณะบุคคล ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงเลือกและทรงแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วยประธานองคมนตรีคนหนึ่งและองคมนตรีอื่นอีกไม่เกิน 18 คน คณะองคมนตรีมีหน้าที่ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ในพระราชกรณียกิจทั้งปวงที่พระมหากษัตริย์ทรงปรึกษา และมีหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

“องคมนตรี” เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งสภาขึ้น 2 สภา คือ สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Council of state) จำนวน 12 คน เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2417 ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2437 ได้ยกเลิกไปและจัดตั้ง รัฐมนตรีสภาขึ้นแทน และปรีวีเคาน์ซิล (Privy council) หรือ ที่ปรึกษาในพระองค์ จำนวน 49 คน เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2417 ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น องคมนตรีสภา

โดยรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 มี คณะองคมนตรี 15 คนด้วยกัน ประกอบด้วย

15 องคมนตรี ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10

พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี  (ตั้งแต่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2559 – ปัจจุบัน)

หลังพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2531 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พลเอกเปรม เป็นองคมนตรี ในวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2531 จากนั้นในวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2531 ได้รับโปรดเกล้าฯ ยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษ และในวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2541 มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นประธานองคมนตรี

พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์  (6 ธันวาคม พ.ศ. 2559 – ปัจจุบัน)

พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งองคมนตรี เป็นอดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกเสนอชื่อโปรดเกล้าฯโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ภายหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ก่อนเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พล.อ.สุรยุทธ์เคยดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และองคมนตรี

ในปลายเดือนกันยายน 2550 นายอารีย์ วงศ์อารยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ลาออกจากตำแหน่ง พล.อ.สุรยุทธ์ ได้เข้าดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แทนนายอารีย์อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย 8 เมษายน 2551 พล.อ.สุรยุทธ์ ได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ จาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้กลับดำรงตำแหน่ง องคมนตรี เป็นครั้งที่สอง

นายเกษม วัฒนชัย   (6 ธันวาคม พ.ศ. 2559 – ปัจจุบัน)

นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี อดีตได้ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าหน่วยวิชาโรคหัวใจ คณะแพทย์ศาสตร์ ม.เชียงใหม่, อธิการบดี ม.เชียงใหม่, รองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย (นักบริหาร 10) สำนักงานปลัดทบวงมหาวิทยาลัย,

ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย, อธิการบดี ม.หัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สมัยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ), สมาชิกวุฒิสภา, กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

นายพลากร สุวรรณรัฐ  (6 ธันวาคม พ.ศ. 2559 – ปัจจุบัน)

นายพลากร สุวรรณรัฐ เริ่มเข้ารับราชการ เมื่อปี 2516 ในตำแหน่งวิทยากรโท ฝ่ายพัฒนาการเมืองและการปกครอง สำนักนโยบายและแผนมหาดไทย, รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ย้ายไปรับตำแหน่งเดิมที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์, ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี, ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่,

รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ฝ่ายกิจการพิเศษ ทำหน้าที่ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผอ.ศอ.บต.) คนที่ 8 นอกจากนี้ ยังเป็นกรรมการธนาคารออมสิน, กรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, ประธานกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (แทนนายปริญญา นาคฉัตรีย์)

นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ  (6 ธันวาคม พ.ศ. 2559 – ปัจจุบัน)

เริ่มเข้ารับราชการในตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้พิพากษา, ผู้พิพากษาศาลจังหวัดนครราชสีมา, ผู้พิพากษาศาลฎีกา, ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำกระทรวง, ผู้ช่วยเลขาธิการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, รองเลขาธิการส่งเสริมงานตุลาการ, เลขานุการศาลฎีกา,

รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ฝ่ายบริหาร, รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง, ผู้พิพากษาศาลฎีกา, ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา, อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาธนบุรี, อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง, ประธานศาลอุทธรณ์, ประธานศาลฎีกา คนที่ 34 และเกษียณอายุราชการ ปี 2547

นอกจากนี้ ยังเป็นกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค, กรรมการตุลาการ ข้าราชการตุลาการ, กรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิในชั้นศาลชั้นอุทธรณ์, กรรมการกฤษฎีกา,

กรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ผู้ทรงคุณวุฒิในชั้นศาลชั้นฎีกา, ศาสตราจารย์พิเศษในสาขาวิชานิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรรมการคดีพิเศษ และประธานสมาคมกฎหมายอาเซียน

นายศุภชัย ภู่งาม  (6 ธันวาคม พ.ศ. 2559 – ปัจจุบัน)

นายศุภชัย ภู่งาม เคยดำรงตำแหน่งเป็น ผู้พิพากษาศาลแรงงานกลาง, รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ฝ่ายวิชาการ, รองอธิบดีกรมผู้พิพากษาศาลแพ่ง, ผู้พิพากษาศาลแพ่ง, ผู้พิพากษาศาลฎีกา, รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 และเข้ารับตำแหน่ง ประธานศาลฎีกา เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2547 ก่อนเกษียณอายุราชการ


“บิ๊กต๋อย” พลอากาศเอกชลิต พุกผาสุข  (6 ธันวาคม พ.ศ. 2559 –ปัจจุบัน)

พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้บังคับฝูงบิน 231 กองบิน 23ฯ, เสนาธิการ กองบิน 23ฯ, รองผู้บังคับการ กองบิน 1ฯ, ผู้บังคับการกรมนักเรียนนายเรืออากาศ รักษาพระองค์ ร.ร.นายเรืออากาศ, ผู้บัญชาการกองพลบินที่ 2 กองบัญชาการยุทธทางอากาศ, เจ้ากรมกำลังพลทหารอากาศ,

ผู้บัญชาการโรงเรียนนายเรืออากาศ กองบัญชาการฝึกศึกษาทหารอากาศ, ผู้ช่วยเสนาธิการทหารอากาศฝ่ายกำลังพล, รองเสนาธิการทหารอากาศ ฝ่ายยุทธบริการ, ผู้บัญชาการกองบัญชาการยุทธทางอากาศ, ผู้บัญชาการทหารอากาศ คนที่ 20 ก่อนเกษียณอายุราชการ

นอกจากนี้ ยังเคยเป็นประธานกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), ประธานคณะกรรมการกำกับดูแลการสรรหาสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ (กดส.), รองหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คนที่ 2

“บิ๊กต๊อก” พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา 6 ธันวาคม พ.ศ. 2559 – ปัจจุบัน

พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา ได้เข้ารับราชการเป็นนายทหารพิเศษประจำหน่วยทหารรักษาพระองค์ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์, ผู้บังคับกองพัน ผู้บังคับการกรม ทั้ง 3 กรม คือ กรมทหารราบที่ 111,

กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ นอกจากนี้ ยังเข้ารับตำแหน่งเป็นสมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

“บิ๊กหนุ่ย” พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ  (6 ธันวาคม พ.ศ. 2559 – ปัจจุบัน)

พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เข้ารับราชการเป็นผู้บังคับหมวดปืนเล็ก กองร้อยอาวุธเบา กองพันทหารราบที่ 2 กองผสมที่ 23, ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์

เคยดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก่อนเข้ามานั่งเก้าอี้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นายจรัลธาดา กรรณสูต  (12 ธันวาคม พ.ศ. 2559 – ปัจจุบัน)

นายจรัลธาดา กรรณสูต เคยรับราชการที่ กรมประมง อธิบดีกรมประมง ระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม 2548-30 กันยายน 2550 ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และอดีตอธิบดีกรมประมง ในปี 2550 และที่ปรึกษาสำนักราชเลขาธิการ


“บิ๊กโชย” พลเอกกัมปนาท รุดดิษฐ์  (23 ธันวาคม พ.ศ. 2559 – ปัจจุบัน)

พลเอกกัมปนาท รุดดิษฐ์ ก่อนหน้าที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นองคมนตรี เคยดำรงตำแหน่ง นายทหารราชองครักษ์พิเศษ ตุลาการศาลทหารสูงสุด ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก กรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นายทหารพิเศษประจำหน่วยทหารรักษาพระองค์ และเป็นหนึ่งในนายทหารที่ควบคุมการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ พ.ศ. 2553 ปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 อดีตรองเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

“บิ๊กนิค” พลเรือเอกพงษ์เทพ หนูเทพ  (8 มิถุนายน พ.ศ. 2560 – ปัจจุบัน)

พลเรือเอกพงษ์เทพรับราชการในหลายตำแหน่งอาทิ ผู้บังคับการเรือ ต. 97 ต้นหนรับเรือหลวงสุโขทัย ผู้บังคับการเรือหลวงอุดมเดช ผู้บังคับการเรือหลวงรัตนโกสินทร์ ราชองครักษ์เวร ผู้บังคับการกรมนักเรียนนายเรือรักษาพระองค์

ผู้บัญชาการโรงเรียนนายเรือ ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพเรือ กระทั่งได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงกลาโหม ก่อนจะได้รับโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี

นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา  (12 มีนาคม พ.ศ. 2561 -ปัจจุบัน)

นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองครั้งแรกเป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในรัฐบาล พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2524 ต่อมาได้ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

สืบแทนนายอบ วสุรัตน์ ซึ่งลาออกจากตำแหน่ง และในรัฐบาลถัดมา ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก่อนจะลาออกจากตำแหน่ง และได้รับโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จนถึง 11 มีนาคม พ.ศ. 2561

“ดร.กบ” นายอำพน กิตติอำพน  (2 ตุลาคม พ.ศ. 2561 -ปัจจุบัน)

นายอำพน กิตติอำพน ก่อนหน้านี้เคยดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต่อมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แทนนายสุรชัย ภู่ประเสริฐ

“บิ๊กเจี๊ยบ” พลเอกเฉลิมชัย สิทธิสาท  (2 ตุลาคม พ.ศ. 2561 -ปัจจุบัน)

พลเอกเฉลิมชัย สิทธิสาท อดีตผู้บัญชาการทหารบก คนที่ 40 และอดีตเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตุลาการศาลทหารสูงสุด อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และอดีตผู้อำนวยการกองอำนวยการร่วมรักษาความสงบเรียบร้อย และกรรมการในคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ


“บิ๊กจอม” พลอากาศเอกจอม รุ่งสว่าง  (2 ตุลาคม พ.ศ. 2561 -ปัจจุบัน)

พลอากาศเอกจอม รุ่งสว่าง อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ ,ตุลาการศาลทหารสูงสุด ผู้บัญชาการศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน กรรมการในคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ

ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 6/2559 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กรรมการในคณะกรรมการเพื่อเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา