นางหาบ พระโคแรกนา พืชมงคล

เปิดคำพยากรณ์ ‘อาหารพระโค’ 7 อย่าง บอกความหมายใดบ้างในวันพืชมงคล

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพระราชพิธี ๒ พิธีรวมกัน คือ พระราชพิธีพืชมงคล อันเป็นพิธีสงฆ์ อย่างหนึ่ง ซึ่งจะประกอบพระราชพิธีวันแรกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ อันเป็นพิธีพราหมณ์ อย่างหนึ่ง ซึ่งจะประกอบพระราชพิธีในวันรุ่งขึ้น ณ มณฑลพิธีสนามหลวง ซึ่งปีนี้จัดขึ้นในวันที่ 9…

Home / NEWS / เปิดคำพยากรณ์ ‘อาหารพระโค’ 7 อย่าง บอกความหมายใดบ้างในวันพืชมงคล

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพระราชพิธี ๒ พิธีรวมกัน คือ พระราชพิธีพืชมงคล อันเป็นพิธีสงฆ์ อย่างหนึ่ง ซึ่งจะประกอบพระราชพิธีวันแรกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ อันเป็นพิธีพราหมณ์ อย่างหนึ่ง ซึ่งจะประกอบพระราชพิธีในวันรุ่งขึ้น ณ มณฑลพิธีสนามหลวง ซึ่งปีนี้จัดขึ้นในวันที่ 9 พฤษภาคม 2562

ทั้งนี้ การจัดงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญได้กระทำ เต็มรูปบูรพประเพณีครั้งสุดท้ายในปี 2479 แล้วก็ว่างเว้นไปจนกระทั่งในปี 2503 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ฟื้นฟูพระราชประเพณีนี้ขึ้นใหม่ และได้กระทำติดต่อกันมาทุกปีจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญในงานพระราชพิธีวันพืชมงคลนั้น คือ การเสี่ยงทายของพระโคที่สามารถบ่งบอกได้ถึงเรื่องราวต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นกับการเพาะปลูกในปีนั้นๆ ซึ่งอาหารที่ถูกนำมาให้พระโคเลือกกินเพื่อการเสี่ยงทายจะมีด้วยกัน 7 อย่าง ได้แก่ ข้าวเปลือก หรือ ข้าวโพด น้ำ และ หญ้า , ถั่ว , งา , เหล้า โดยมีความหมายดังนี้

ข้าวเปลือก หรือ ข้าวโพด พยากรณ์ว่า ธัญญาหาร ผลาหาร จะบริบูรณ์ดี

น้ำ หรือ หญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร (เนื้อสัตว์) จะอุดมสมบูรณ์ดี

ถั่ว หรือ งา พยากรณ์ว่า ผลาหาร ภักษาหาร (อาหารที่กินเป็นประจำ) จะอุดมสมบูรณ์ดี

เหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมจะสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศจะดีขึ้น เศรษฐกิจจะรุ่งเรือง

พระโค ในทางศาสนาพรามหณ์ หมายถึง เทวดาผู้ทำหน้าที่เป็นพาหนะของพระอิศวรซึ่งเปรียบได้กับการใช้แรงงานและความเข้มแข็ง และเป็นสัตว์เลี้ยงที่พระกฤษณะและพระพลเทพดูแลซึ่งเปรียบได้กับความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้น ในการประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จึงได้กำหนดให้ใช้พระโคเพศผู้เข้าร่วมพระราชพิธีเสมอมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ เพื่อเป็นตัวแทนของความเข้มแข็งและความอุดมสมบูรณ์

สำหรับ พระโค ตามหลักเกณฑ์ กล่าวคือ จะต้องเป็นโคที่มีลักษณะดี รูปร่างสมบูรณ์ มีความสูงไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เซนติเมตร ความยาวลำตัวไม่น้อยกว่า ๑๒๐ เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอกไม่น้อยกว่า ๑๘๐ เซนติเมตร โคทั้งคู่จะต้องมีสีเดียวกัน ผิวสวย ขนเป็นมัน กิริยามารยาทเรียบร้อย ฝึกง่าย สอนง่ายไม่ดุร้าย เขาลักษณะโค้งสวยงามเท่ากัน ตาแจ่มใส หูไม่มีตำหนิ หางยาวสวยงามดี มีขวัญหน้า ขวัญทัดดอกไม้ซ้ายขวา และขวัญหลังถูกต้อง มีขาและกีบข้อเท้าแข็งแรง มองดูด้านข้างลำตัวจะเป็นสี่เหลี่ยม

โดยในปี 2562 กรมปศุสัตว์ ได้ทำการคัดเลือกพระโค เพื่อใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จำนวน ๒ คู่ คือ พระโคแรกนา 1 คู่ ได้แก่ พระโคเพิ่ม พระโคพูล และ พระโคสำรอง 1 คู่ ได้แก่ พระโคพอ พระโคเพียง

พระโคแรกนา

พระโคเพิ่ม มีความสูง ๑๕๙ เซนติเมตร ความยาวลำตัว ๒๓๐ เซนติเมตร  ความสมบูรณ์ รอบอก ๒๐๑ เซนติเมตร อายุ ๙ ปี

พระโคพูล มีความสูง ๑๕๗ เซนติเมตร ความยาวลำตัว ๒๓๘ เซนติเมตร  ความสมบูรณ์ รอบอก ๒๐๕ เซนติเมตร อายุ ๙ ปี

พระโคสำรอง

พระโคพอ มีความสูง ๑๖๕ เซนติเมตร ความยาวลำตัว ๒๒๐ เซนติเมตร ความสมบูรณ์ รอบอก ๒๑๔ เซนติเมตร อายุ ๗ ปี

พระโคเพียง มีความสูง ๑๖๙ เซนติเมตร ความยาวลำตัว ๒๓๓ เซนติเมตร  ความสมบูรณ์ รอบอก ๒๐๓ เซนติเมตร อายุ ๗ ปี

 

ที่มา www.moac.go.th