พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระโค พระโคกินอะไร พระโคเสี่ยงทาย วันพืชมงคล

ย้อน 5 ปีหลังสุดกับการเสี่ยงทายของพระโคใน ‘วันพืชมงคล’

วันที่ 8 พฤษภาคม 2562 นี้ เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็น ‘วันพืชมงคล‘ ซึ่งตามประวัติแล้วนั้น พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพระราชพิธี 2 พิธีรวมกัน คือ พระราชพิธีพืชมงคล และ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ…

Home / NEWS / ย้อน 5 ปีหลังสุดกับการเสี่ยงทายของพระโคใน ‘วันพืชมงคล’

วันที่ 8 พฤษภาคม 2562 นี้ เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็น ‘วันพืชมงคล‘ ซึ่งตามประวัติแล้วนั้น พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพระราชพิธี 2 พิธีรวมกัน คือ พระราชพิธีพืชมงคล และ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

โดยพระราชพิธีพืชมงคล เป็นพิธีสงฆ์ ซึ่งจะประกอบพระราชพิธีวันแรกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 และ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีพราหมณ์ ซึ่งจะประกอบพระราชพิธีในวันรุ่งขึ้น ณ มณฑลพิธีสนามหลวง

ความเป็นมาของ ‘พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ’

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ‘ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายไว้ในพระราชนิพนธ์เรื่อง พระราชพิธีสิบสองเดือน ว่า

“การแรกนาที่ต้องเป็นธุระของผู้ซึ่งเป็นใหญ่ในแผ่นดินเป็นธรรมเนียมนิยม มีมาแต่โบราณ เช่น ในเมืองจีนสี่พันปีล่วงมาแล้ว พระเจ้าแผ่นดินก็ลงทรงไถนาเองเป็นคราวแรก พระมเหสีเลี้ยงตัวไหม ส่วนจดหมายเรื่องราวอันใดในประเทศสยามนี้

ที่มีปรากฏอยู่ในการแรกนานี้ก็มีอยู่เสมอเป็นนิตย์ ไม่มีเวลาว่างเว้น ด้วยการซึ่งผู้นั้นเป็นใหญ่ในแผ่นดินลงมือทำเองเช่นนี้ ก็เพื่อจะให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎรชักนำให้มีใจหมั่นในการที่จะทำนา เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่จะได้อาศัยเลี้ยงชีวิตทั่วหน้า เป็นต้นเหตุของความตั้งมั่นและความเจริญไพบูลย์แห่งพระนครทั้งปวง

แต่การซึ่งมีพิธีเจือปนต่างๆ ไม่เป็นแต่ลงมือไถนาเป็นตัวอย่างเหมือนอย่างชาวนาทั้งปวงลงมือไถนาของตนตามปกติ ก็ด้วยความหวาดหวั่นต่ออันตราย คือ น้ำฝนน้ำท่ามากไปน้อยไป ด้วงเพลี้ยและสัตว์ต่างๆ จะบังเกิดเป็นเหตุอันตรายไม่ให้ได้ประโยชน์เต็มภาคภูมิ และมีความปรารถนาที่จะให้ได้ประโยชน์เต็มภาคภูมิเป็นกำลัง

จึงต้องหาทางที่จะแก้ไขและหาทางที่จะอุดหนุนและที่จะเสี่ยงทายให้รู้ล่วงหน้า จะได้เป็นที่มั่นอกมั่นใจโดยอาศัยคำอธิษฐานเอาความสัตย์เป็นที่ตั้งบ้าง ทำการซึ่งไม่มีโทษนับว่าเป็นการสวัสดิมงคลตามซึ่งมาในพระพุทธศาสนาบ้าง บูชาเซ่นสรวงตามที่มาทางไสยศาสตร์บ้าง ให้เป็นการช่วยแรงและเป็นที่มั่นใจตามความปรารถนาของมนุษย์ซึ่งคิดไม่มีที่สิ้นสุด”

กำหนดการ ‘พระราชพิธีพืชมงคล’ ปีนี้มีดังนี้

วันพุธที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 เวลาประมาณ 15.00 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เสด็จพระราชดำเนินขึ้นสู่พระอุโบสถ ทรงจุดธูป เทียนถวายนมัสการ พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรและพระพุทธรูปที่สำคัญ พระราชาคณะถวายศีลจบแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระสุหร่ายถวายดอกไม้บูชาพระคันธารราษฎร์ ทรงอธิษฐานเพื่อความสมบูรณ์แห่งพืชผลของราชอาณาจักรไทยแล้ว

พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ หัวหน้าคณะพราหมณ์ อ่านประกาศพระราชพิธีพืชมงคล พระสงฆ์ 11 รูป เจริญพระพุทธมนต์จบแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงหลั่งน้ำสังข์ พระราชทานใบมะตูม ทรงเจิม พระ ราชทานธำมรงค์กับพระแสงปฏัก

สำหรับตำแหน่งพระยาแรกนาแก่ นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แล้วทรงหลั่งน้ำสังข์ พระราชทานใบมะตูม ทรงเจิมแก่เทพีผู้ที่จะเข้าในการพระราชพิธีจรดพระนังคัล แรกนาขวัญ ขณะนั้น พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา พนักงานประโคมฆ้องชัย เครื่องดุริยางค์ หลังจากนั้น ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรม พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ออกจากพระอุโบสถเสด็จพระราชดำเนินกลับ

กำหนดการ ‘พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ’ ปีนี้มีดังนี้

วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 เวลา 07.30 น. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งทำหน้าที่พระยาแรกนา พร้อมด้วยเทพีขึ้นรถยนต์หลวงที่หน้าวัดพระศรีรัตนศาสดารามออกจากพระบรมมหาราชวังทางประตูสวัสดิโสภา ถนนสนามไชยไปยังมณฑลพิธีท้องสนามหลวง

เมื่อเดินทางมาถึงจะได้ตั้งกระบวนแห่อิสริยยศ แล้วเดินกระบวนแห่อิสริยยศไปส่งที่โรงพิธีพราหมณ์พระยาแรกนาจุดธูปเทียนถวายสักการะเทวรูปสำคัญแล้วจะได้ตั้งสัตยาธิษฐาน หยิบผ้านุ่งแต่งกายไว้พร้อมเมื่อพระยาแรกนาตั้งสัตยาธิษฐาน หยิบได้ผ้านุ่งผืนใด ให้นุ่งผืนนั้นทับผ้านุ่งเดิมอีกชั้นหนึ่ง นุ่งอย่างบ่าวขุนเตรียมออกแรกนา

เวลาประมาณ 08.30 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ไปยังพลับพลาที่ประทับบริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง เพื่อเป็นองค์ประธานในงานพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

ฤกษ์พิธีไถหว่าน ระหว่างเวลา 08.19 – 08.49 น. นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งทำหน้าที่พระยาแรกนา จะได้ยาตราพร้อมเทพีออกจากโรงพิธีพราหมณ์ มีราชบัณฑิตและพราหมณ์นำผ่านพลับพลาหน้าพระที่นั่ง

พระยาแรกนาเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายบังคม แล้วไปยังลานแรกนา เจ้าพนักงานจูงพระโคเทียมแอก พระยาแรกนาเจิมพระโคและคันไถ จับหางไถแล้วไถดะไปโดยทักษิณาวรรต 3 รอบ ไถแปร 3 รอบ พร้อมหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวพนักงานประโคมฆ้องชัยเครื่องดุริยางค์ แล้วไถกลบอีก 3 รอบ เพื่อกลบเมล็ดพันธุ์ข้าว ลงในดิน

เสร็จแล้วพนักงานปลดพระโคออกจากแอก พระยาแรกนาและเทพีกลับไปยังโรงพิธีพราหมณ์ พราหมณ์เสี่ยงทายของกิน 7 สิ่ง ตั้งเลี้ยงพระโค เมื่อพระโคกินของสิ่งใด โหรหลวงจะได้ถวายคำพยากรณ์ เสร็จแล้วจะได้ เบิกเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ตัวแทนสถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ตัวแทนสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ และปราชญ์เกษตรของแผ่นดินสาขาต่างๆ เข้ารับพระราชทานโล่เกียรติคุณ

หลังจากนั้นจะได้แห่พระยาแรกนาเป็นกระบวนอิสริยยศออกจากโรงพิธีพราหมณ์ พระยาแรกนากราบถวายบังคม แล้วเข้ากระบวนไปขึ้นรถยนต์หลวงพร้อมด้วยเทพีไปรอเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่แปลงนาทดลองในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดารโหฐาน

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งออกจากพลับพลาพิธีไปยังแปลงนาทดลองในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดารโหฐาน พระยาแรกนาได้เข้ากราบถวายบังคมพระยาแรกนาและเทพีนำเมล็ดพันธุ์ข้าวไปหว่านในแปลงนาทดลองในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดารโหฐาน เพื่อปลูกไว้ใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในปีต่อไป

เมื่อพระยาแรกนาหว่านข้าวเสร็จแล้ว เข้าไปกราบถวายบังคม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นอันเสร็จพระราชพิธี

ของกิน 7 สิ่ง ในการเสี่ยงทายพระโค

ของกิน 7 ประกอบด้วย ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่ว งา เหล้า น้ำ และหญ้า โดยมีความหมายดังนี้

  • พระโคกินข้าวเปลือกหรือข้าวโพด หมายถึงปีนั้นจะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยข้าวและผลไม้
  • พระโคกินถั่วหรืองา หมายถึงปีนั้นจะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชผักและเนื้อสัตว์
  • พระโคกินเหล้า หมายถึงปีนั้นการคมนาคมจะสะดวกดีขึ้น การค้าขายกับต่างชาติจะเป็นไปด้วยดี และเศรษฐกิจภายในประเทศจะรุ่งเรือง
  • พระโคกินน้ำหรือหญ้า หมายถึงปีนั้นน้ำท่าจะสมบูรณ์เพียงพอต่อการเพาะปลูก รวมไปถึงการเลี้ยงสัตว์เพื่อส่งขายก็จะเป็นไปในทางที่ดี

พระโค ในทางศาสนาพรามหณ์ หมายถึง เทวดาผู้ทำหน้าที่เป็นพาหนะของพระอิศวรซึ่งเปรียบได้กับการใช้แรงงานและความเข้มแข็ง และเป็นสัตว์เลี้ยงที่พระกฤษณะและพระพลเทพดูแลซึ่งเปรียบได้กับความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้น ในการประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จึงได้กำหนดให้ใช้พระโคเพศผู้เข้าร่วมพระราชพิธีเสมอมาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 เพื่อเป็นตัวแทนของความเข้มแข็งและความอุดมสมบูรณ์

ในปี 2562 กรมปศุสัตว์ ได้ทำการคัดเลือกพระโคเพื่อใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จำนวน 2 คู่ คือ พระโคแรกนา 1 คู่ ได้แก่ พระโคเพิ่ม พระโคพูล และพระโคสำรอง 1 คู่ ได้แก่ พระโคพอ พระโคเพียง

การเสี่ยงทายของพระโคใน ‘วันพืชมงคล’ 5 ปีหลังสุด มีดังนี้

วันที่ 14 พฤษภาคม 2561 โดยพระโคพอ และพระโคเพียง กินน้ำ หญ้า เหล้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี และถ้าพระโคกินเหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง

วันที่ 12 พฤษภาคม 2560 โดยพระโคเพิ่ม และ พระโคพูล กินข้าว ข้าวโพด หญ้า พยากรณ์ว่า ธัญญาหาร ผลาหาร จะบริบูรณ์ดี น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหารผลาหาร ภักษาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี

วันที่ 9 พฤษภาคม 2559 โดยพระโค กินข้าว ข้าวโพด งา เหล้า น้ำ และหญ้า พยากรณ์ว่า ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร จะบริบูรณ์ดี น้ำท่าจะบริบูรณ์สมควร การคมนาคมสะดวกยิ่งขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดี เศรษฐกิจรุ่งเรืองขึ้น

วันที่ 6 พฤษภาคม 2558 โดยพระโค กินถั่วกับข้าวโพด พยากรณ์ว่า ปีนั้นจะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชผักและเนื้อสัตว์ และอุดมสมบูรณ์ไปด้วยข้าวและผลไม้

วันที่ 9 พฤษภาคม 2557 โดยพระโค กินน้ำและหญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี


ข้อมูลอ้างอิงจาก : กระทรวงเกษตรและสหกรณ์