การเมือง พรรคเพื่อไทย ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ สูตรคำนวณ ส.ส.

‘เพื่อไทย’ คัดค้านวิธีคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ของ กกต.

พรรคเพื่อไทยได้ออก แถลงการณ์คัดค้านวิธีการคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ของ กกต. ชี้เข้าข่ายเป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่ และใช้อำนาจอันเป็นการขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย วันนี้ (8 พ.ค.62) พรรคเพื่อไทยได้ออก แถลงการณ์คัดค้านวิธีการคำนวณ เรื่อง คัดค้านวิธีการคำนวณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ…

Home / NEWS / ‘เพื่อไทย’ คัดค้านวิธีคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ของ กกต.

พรรคเพื่อไทยได้ออก แถลงการณ์คัดค้านวิธีการคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ของ กกต. ชี้เข้าข่ายเป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่ และใช้อำนาจอันเป็นการขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

วันนี้ (8 พ.ค.62) พรรคเพื่อไทยได้ออก แถลงการณ์คัดค้านวิธีการคำนวณ เรื่อง คัดค้านวิธีการคำนวณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยมีมีเนื้อหา ดังนี้

ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีประกาศรับรองผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ โดยกำหนดให้พรรคการเมืองมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อได้ ทั้งๆ ที่พรรคการเมืองนั้นๆ มีคะแนนไม่ถึงจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ และยังปรากฏด้วยว่าพรรคการเมืองที่ได้รับจัดสรรที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อเหล่านั้น ได้รับคะแนนเสียงไม่ถึงจำนวนเสียงต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หนึ่งคน ตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้กำหนดไว้อีกด้วยเช่นกัน

พรรคเพื่อไทยได้แถลงให้ทราบไปแล้วว่า แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยว่า มาตรา 128 ของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 ก็ตาม

แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็มิได้วินิจฉัยลงไปในรายละเอียดถึงวิธีการคำนวณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ ว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งสามารถที่จะคำนวณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ ให้กับพรรคการเมืองที่มีคะแนนต่ำกว่าคะแนนต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หนึ่งคน ได้หรือไม่ ดังนั้นจึงต้องยึดหลักเกณฑ์วิธีการคำนวณที่ไม่ขัดต่อหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 กล่าวคือ

1.พรรคการเมืองที่จะได้รับจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ ต้องมีคะแนนไม่ต่ำกว่าคะแนนต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หนึ่งคน (ประมาณ 70,000 คะแนน)

2.พรรคการเมืองที่มีคะแนนต่ำกว่าจำนวนคะแนนต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หนึ่งคน ย่อมไม่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พึงมี และไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อที่พึงได้รับ ย่อมไม่มีสิทธิได้รับจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ เพราะตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 (4) ประกอบมาตรา 128 (4) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้จัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อให้กับพรรคการเมืองเฉพาะพรรคที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อที่พึงได้รับเท่านั้น

3.หลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 (4) และมาตรา128 (5) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ส่วนท้ายได้กำหนดไว้ชัดเจนว่าในการจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ ต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เกินจำนวนที่จะพึงมีได้ เมื่อพรรคที่มีคะแนนต่ำกว่าคะแนนต่อจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หนึ่งคน ไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พึงมี หากมีการจัดสรร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อให้กับพรรคดังกล่าว จะมีผลให้พรรคนั้นมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เกินจำนวนที่พึงมี (เดิมไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเลย) ซึ่งจะเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญรวมถึงขัดต่อมาตรา 128 (5) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย

พรรคเพื่อไทยเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวมา ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับทราบข้อท้วงติง ข้อทักท้วงของพรรคการเมืองที่แสดงความไม่เห็นด้วยกับการให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อตาม “สูตรแจกพรรคเล็ก” และได้แจ้งให้ทราบด้วยว่า การตัดสินใจดังกล่าวนอกจากจะไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแล้ว ยังอาจจะส่งผลต่อบริบททางการเมืองภายภาคหน้าอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย

โดยเหตุนี้พรรคเพื่อไทยจึงเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวมาของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เข้าข่ายเป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่ และใช้อำนาจอันเป็นการขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และจะใช้ช่องทางดำเนินการตามกฎหมายต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งในทุกช่องทางที่จะทำได้ต่อไป จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

พรรคเพื่อไทย

8 พฤษภาคม 2562