คลิปว่อนเน็ต นาคหนุ่มฉลองสุดเหวี่ยง ขึ้นเวทีนัวเนียโคโยตี้ ฉลองงานบวช
วันนี้ (9 พ.ค. 2562) โลออนไลน์ได้มีการส่งต่อคลิปไม่เหมาะสม จากเพจ หนังสือพิมพ์ใต้สันติสุข ที่ได้เผยให้เห็นพ่อนาคคนหนึ่งฉลองอย่างสุดเหวี่ยงในงานบวชนาคของตัวเอง โดยคลิปได้เผยให้เห็นว่า นาคคนดังกล่าว ได้ขึ้นไปบนเวทีก่อนจะออกลีลาโยกย้ายส่ายสะโพกคลอเคลียกับกลุ่มสาวๆ โคโยตี้ ที่เขาจ้างมาสร้างความสนุกในงานอย่างเมามันส์
ทั้งนี้เมื่อคลิปดังกล่าวได้เผยแพร่ออกไปทำให้มีคนเข้าไปแสดงความเห็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว ถึงแม้ว่ายังไม่ได้บวชเป็นพระ แต่ก็ถือว่าได้โกนหัว พร้อมที่ละกิเลสแล้วก็ควรสำรวมกว่านี้ ถึงแม้ว่าทางในพระพุทธศาสนาจะไม่มีความผิด แต่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง
เพราะการบวชนั้นเขาบวชกันด้วยเหตุที่ต้องการศึกษาทางธรรม จะบวชแล้วก็ควรฝึกจิตใจให้โนมเอียงไปทางธรรมมากกว่าจะเอาสนุกทางโลก อีกทั้งนาครับศีล 8 แล้ว ควรงดเว้นงานรื่นเริงทั้งหลายด้วย
คำว่า “นาค” หมายถึง เปลือย, ไม่มีขน เช่น งู เป็นคำที่ชาวชมพูทวีป (อินเดียโบราณ) ที่เอาศาสนาพุทธ, พราหมณ์มาเผยแพร่พร้อมติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนกับคนพื้นเมืองแถบนี้ราว 2,000 ปีมาแล้ว เรียกคนพื้นเมืองไม่นุ่งห่มเหมือนพวกตน มีเพียงผ้าชิ้นน้อยหรือนุ่งใบไม้ปิดบังอวัยวะเพศ ร่างกายเปล่าเปลือย เหมือนเงี้ยวงูเลื้อยคลานไม่มีขน เลยเรียกด้วยคำดูถูกเหยียดหยามว่า นาค
เมื่อพระสงฆ์จากชมพูทวีปทำพิธีบรรพชาให้คนพื้นเมือง เลยได้ชื่อว่า บวชนาค แล้วเรียกสืบต่อกันมาจนบัดนี้ พร้อมกันนั้นคนอุษาคเนย์ก็รับคำว่านาค มาใช้เรียกยกย่องงูเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ตามลัทธิบูชางูที่มีมาก่อนราว 3,000 ปีมาแล้ว
ทั้งนี้ พิธีบวชนาค ยุคแรกเริ่มมีร่องรอยเหลืออยู่ในพม่า คือนาคยังไม่ปลงผมโกนหัว เอานาคขึ้นม้าไปแห่เสียก่อน ต่อเมื่อจะเข้าโบสถ์ขออุปสมบทจึงค่อยโกนหัว ซึ่งต่างจากคนไทยทุกวันนี้ ที่ให้นาคโกนหัวก่อนแล้วค่อยแห่นาค
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์เล่าไว้ในหนังสือ เที่ยวเมืองพม่า ว่า เหตุที่นาคยังไม่ต้องโกนหัว เพราะนาคคือคนเรานี่แหละ ไม่ได้มีฐานะพิเศษเป็นอย่างอื่น
เข้าใจว่าคนไทย-ลาว แต่ก่อนก็เป็นอย่างพม่า เพราะเคยเห็นพวกเขมรเป็นนาค ต้องใส่หัวเป็นรูปพญานาคด้วยซ้ำไป แสดงว่ายังไม่ต้องโกนหัว อย่างนี้คือสิ่งที่เป็นจริงตามประเพณีเดิมแท้มาแต่แรกทีเดียว
ประเพณีบวชแต่เดิมต้องมีทำขวัญนาค, บวชนาค, แล้วฉลองพระ ปัจจุบันย่นย่อให้สะดวกขึ้น โดยยังต้องมีทำขวัญนาคเป็นพิธีสำคัญ เพื่อยกย่องเพศหญิง คือแม่ เพราะพื้นฐานรากเหง้าทางสังคมดั้งเดิมที่ยกย่องหญิงสำคัญกว่าชาย ในพระวินัยของพระพุทธเจ้าไม่มีเรื่องบวชนาค ฉะนั้นพิธีบวชนาคจึงไม่มีในชมพูทวีป (คือ อินเดียโบราณ) และลังกา
ข้อมูลบางส่วนจาก ศาสนวิทยา dr.Sinchai Chaojaroenrat