ภัยแล้ง มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

‘ภัยแล้ง’ ส่งสัญญาณลากยาวอีก 2 เดือน กระทบข้าวนาปรัง-อ้อยหนักสุด คาดเสียหายเพิ่มเดือนละ 1,000 ล้านบาท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า ได้ปรับคาดการณ์สถานการณ์ภัยแล้งในปี 2562 ว่าหากลากยาวต่อเนื่องออกไปอีก 2 เดือนข้างหน้า คือราวเดือนก.ค. จากที่จะยุติในเดือนพ.ค. โดยผลกระทบก็น่าจะอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากยังไม่ถึงฤดูกาลเพาะปลูกพืชสำคัญอย่างข้าวนาปี รวมถึงระดับความรุนแรงของภัยแล้งน่าจะลดน้อยลงกว่าในช่วงรุนแรงที่สุดในเดือนมี.ค.-เม.ย. ผนวกกับฝนที่อาจมีมาบ้าง แม้ว่าจะยังเป็นภาวะฝนทิ้งช่วงในเดือนก.ค.-มิ.ย. ทำให้ในภาพรวมแล้วสภาพอากาศต่อจากนี้ในอีก…

Home / NEWS / ‘ภัยแล้ง’ ส่งสัญญาณลากยาวอีก 2 เดือน กระทบข้าวนาปรัง-อ้อยหนักสุด คาดเสียหายเพิ่มเดือนละ 1,000 ล้านบาท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า ได้ปรับคาดการณ์สถานการณ์ภัยแล้งในปี 2562 ว่าหากลากยาวต่อเนื่องออกไปอีก 2 เดือนข้างหน้า คือราวเดือนก.ค. จากที่จะยุติในเดือนพ.ค. โดยผลกระทบก็น่าจะอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากยังไม่ถึงฤดูกาลเพาะปลูกพืชสำคัญอย่างข้าวนาปี รวมถึงระดับความรุนแรงของภัยแล้งน่าจะลดน้อยลงกว่าในช่วงรุนแรงที่สุดในเดือนมี.ค.-เม.ย. ผนวกกับฝนที่อาจมีมาบ้าง แม้ว่าจะยังเป็นภาวะฝนทิ้งช่วงในเดือนก.ค.-มิ.ย. ทำให้ในภาพรวมแล้วสภาพอากาศต่อจากนี้ในอีก 2 เดือนข้างหน้าจะนับว่ายังคงแห้งแล้ง ซึ่งแม้ผลจากภัยแล้งจะช่วยดันราคาข้าวและอ้อยให้ขยับขึ้นได้ แต่อย่างไรก็ตาม จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมรายได้เกษตรกรที่เดิมก็แย่อยู่แล้วให้เผชิญความยากลำบากเพิ่มขึ้นไปอีก

นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่อาจเพิ่มขึ้นอีกราวเดือนละ 1,000 ล้านบาท จนอาจประเมินได้ว่า หากภัยแล้งลากยาวไปจนถึงเดือนก.ค.2562 ก็อาจทำให้เกิดมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจรวมที่ราว 17,300 ล้านบาท

ขณะนี้ฤดูแล้งของไทยได้ดำเนินต่อเนื่องมาถึงในเดือนพฤษภาคมแล้ว แต่ก็ยังมีสัญญาณของความแห้งแล้งต่อเนื่องยาวนานไปอีก พิจารณาได้จากแนวโน้มของอุณหภูมิความร้อนเฉลี่ยของประเทศไทยที่ยังคงสูงกว่าค่าปกติ โดยเฉพาะประเทศไทยตอนบนที่มีอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยอยู่ที่ 34-35 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับค่าปกติที่ราว 33.6 องศาเซลเซียส ผนวกกับปริมาณน้ำฝนที่ยังน้อย และยังมีแนวโน้มของฝนที่อาจทิ้งช่วงในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ส่งผลให้ปริมาณน้ำในเขื่อนยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องโดยระดับน้ำในเขื่อนของไทยแยกรายภาค ณ วันที่ 8 พฤษภาคม 2562 จะเห็นได้ว่า ปริมาตรน้ำใช้การได้ในเขื่อนทั้งประเทศลดลงร้อยละ 21.4 (YoY) โดยเฉพาะในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ยังมีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนในระดับที่ต่ำมาก ทำให้ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงเป็นภาคที่มีสถานการณ์น้ำที่น่าเป็นห่วงอยู่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อข้าวนาปรังและอ้อยเป็นหลัก

ดังนั้น จากสัญญาณความแห้งแล้งที่อาจยาวนานต่อเนื่องออกไปอีก ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้มีการปรับคาดการณ์ผลกระทบจากภัยแล้งที่มีต่อพืชเกษตรที่กำลังเก็บเกี่ยวในช่วงฤดูแล้ง จากเดิมที่เคยประเมินผลกระทบของภัยแล้งในปี 2562 (ณ เดือนมีนาคม) ว่าน่าจะสิ้นสุดในเดือนพฤษภาคม โดยคิดเป็นมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจราว 15,300 ล้านบาท แต่ครั้งนี้จะเป็นการปรับคาดการณ์กรอบเวลาที่เกิดภัยแล้งเพิ่มเติมว่า ภัยแล้งอาจกินเวลาลากยาวออกไปอีกราว 2 เดือนคือ มิถุนายน-กรกฎาคม ซึ่งอาจกระทบต่อมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น และจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมรายได้เกษตรกรให้แย่ลงไปอีกจากคาดการณ์เดิม

พืชเกษตรที่กำลังเก็บเกี่ยวในช่วงฤดูแล้งที่จะได้รับผลกระทบหนักสุดคือ ข้าวนาปรังและอ้อย ซึ่งหากภัยแล้งลากยาวกินเวลาต่อไปอีก 2 เดือนข้างหน้า ก็จะกระทบต่อผลผลิตข้าวนาปรังที่ยังทยอยออกสู่ตลาดและผลผลิตอ้อยที่จะอยู่ในช่วงการปลูกอ้อยต้นฝน (ในเขตอาศัยน้ำฝน) ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ราคาข้าวและอ้อยอาจขยับขึ้นได้ในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2562 แต่ในแง่ของภาพรวมราคาเฉลี่ยทั้งปี 2562 อาจยังให้ภาพที่หดตัวอยู่ ด้วยปัจจัยด้านการแข่งขันในตลาดโลกที่ยังรุนแรง รวมถึงปริมาณผลผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยคาดว่า ภาพรวมราคาข้าวเฉลี่ยในปี 2562 อาจอยู่ที่ 10,700-10,800 บาทต่อตัน หรือหดตัวร้อยละ 0.3-1.2 (YoY) สำหรับราคาอ้อยเฉลี่ยในปี 2562 อาจอยู่ที่ 700-710 บาทต่อตัน หรือหดตัวร้อยละ 0.4-1.8 (YoY)

รายได้เกษตรกรในปี 2562 อาจให้ภาพที่แย่ลงไปอีก โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลจากภัยแล้งในปี 2562 หากกินเวลาเพิ่มขึ้นอีก 2 เดือน จะยิ่งส่งผลกดดันซ้ำเติมรายได้เกษตรกร จากผลของแรงฉุดด้านผลผลิต ซึ่งจะส่งผลต่อภาพรวมรายได้เกษตรกรในปี 2562 ให้หดตัวเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 2.1-2.4 (YoY) เมื่อเทียบกับคาดการณ์เดิมที่หดตัวร้อยละ 1.2-1.6 (YoY)

ถ้าหากภัยแล้งลากยาวต่อเนื่องออกไปอีก 2 เดือนข้างหน้า อาจส่งผลต่อมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจอาจเพิ่มขึ้นราวเดือนละ 1,000 ล้านบาท โดยเป็นการประเมินความเสียหายของข้าวนาปรังและอ้อยเป็นหลัก อย่างไรก็ดี หากภัยแล้งมีแนวโน้มที่จะกินเวลายาวนานไปจนถึงเดือนสิงหาคม ซึ่งจะเป็นช่วงฤดูการเพาะปลูกข้าวนาปี ก็อาจทำให้มีมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากกว่าที่ประเมินไว้