ฉางเอ๋อ-5 องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน

‘ฉางเอ๋อ-5’ ทะยานจากพื้นผิวดวงจันทร์ หลังเก็บตัวอย่างสำเร็จ

ยานอวกาศของจีน ที่บรรทุกตัวอย่างจากดวงจันทร์ได้ทะยานขึ้นจากพื้นผิวดวงจันทร์แล้ว

Home / NEWS / ‘ฉางเอ๋อ-5’ ทะยานจากพื้นผิวดวงจันทร์ หลังเก็บตัวอย่างสำเร็จ

ปักกิ่ง, 4 ธ.ค. (ซินหัว) — องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) ประกาศว่ายานอวกาศของจีน ซึ่งทำหน้าที่บรรทุกตัวอย่างจากดวงจันทร์ครั้งแรกของประเทศ ได้ทะยานขึ้นจากพื้นผิวดวงจันทร์เมื่อ 23.10 น. ของวันพฤหัสบดี (3 ธ.ค.) ตามเวลาปักกิ่ง ถือเป็นยานอวกาศลำแรกของจีนที่ดำเนินการเก็บตัวอย่างวัตถุจากนอกโลก

ยานสำรวจ “ฉางเอ๋อ-5” (Chang’e-5) ของจีน ซึ่งประกอบด้วยโมดูลต่างๆ ทั้งโคจร ลงจอด พุ่งขึ้น และส่งกลับ ถูกปล่อยจากพื้นผิวโลกขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 24 พ.ย. จากนั้นการทำงานแบบประสานกันของโมดูลพุ่งขึ้น-ลงจอดได้นำพายานลงจอดทางเหนือของจุดเกิดการก่อตัวของภูเขาไฟ “มอนส์ รึมเคอร์” (Mons Rumker) ในแอ่งขนาดใหญ่ “โอซีเอนัส พรอสซาเลรัม” (Oceanus Procellarum) หรือที่เรียกกันว่า “มหาสมุทรพายุ” (Ocean of Storms) ที่ด้านใกล้ของดวงจันทร์สำเร็จเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.

(ภาพจากองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน : ภาพจำลองยานสำรวจฉางเอ๋อ-5 ขณะทะยานขึ้นจากพื้นผิวดวงจันทร์)

สิงจั๋วอี้ นักออกแบบยานสำรวจฉางเอ๋อ-5 จากสถาบันเทคโนโลยีอวกาศแห่งชาติจีน (CAST) สังกัดบริษัทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศแห่งประเทศจีน (CASC) กล่าวว่าหลังเก็บตัวอย่างใส่ภาชนะและปิดผนึกเรียบร้อยแล้ว โมดูลพุ่งขึ้นของฉางเอ๋อ-5 ได้ทะยานขึ้นจากพื้นผิวดวงจันทร์ และหลังเครื่องยนต์ทำงานประมาณ 6 นาที ก็ผลักดันโมดูลพุ่งขึ้นสู่อวกาศเพื่อเข้าสู่วิถีโคจรรอบดวงจันทร์ต่อไป

การทะยานขึ้นจากพื้นผิวดวงจันทร์แตกต่างจากบนโลก เนื่องจากไม่มีระบบหอปล่อยยานทำหน้าที่สนับสนุนโมดูลพุ่งขึ้น และต้องใช้โมดูลลงจอดทำหน้าที่เป็น “แท่นยิง” ชั่วคราว ซึ่งสถานะการลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ของโมดูลดังกล่าวค่อนข้างเสถียร โดยสิงเสริมว่าภารกิจส่งยานสำรวจดวงจันทร์ครั้งนี้ได้เอาชนะความท้าทายหลายประการ รวมถึงพื้นที่เบี่ยงลำควันจากเครื่องยนต์ที่มีจำกัด และสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันระหว่างโลกและดวงจันทร์

(แฟ้มภาพซินหัว : โมดูลพุ่งขึ้นของยานสำรวจฉางเอ๋อ-5 บินเหนือพื้นผิวดวงจันทร์ ถ่ายจากศูนย์ควบคุมการบินและอวกาศปักกิ่ง วันที่ 3 ธ.ค. 2020)

สิงเผยว่ากรณีไม่มีกลุ่มดาวนำทางรอบดวงจันทร์ โมดูลพุ่งขึ้นจะใช้เซ็นเซอร์พิเศษที่มีในการกำหนดตำแหน่งและทิศทางการเคลื่อนที่โดยอัตโนมัติหลังทะยานขึ้น และจะได้รับความช่วยเหลือจากระบบตรวจสอบและควบคุมภาคพื้นโลก

สิงระบุว่าก่อนการทะยานขึ้น การทำงานแบบประสานกันของโมดูลพุ่งขึ้น-ลงจอด ได้ทำการคลี่ธงชาติจีนออกด้วย

(แฟ้มภาพซินหัว : ขณะกำลังขุดเจาะเก็บตัวอย่าง)

หลังจากปฏิบัติการบนดวงจันทร์ราว 19 ชั่วโมง ฉางเอ๋อ-5 ประสบความสำเร็จในการเก็บตัวอย่างเมื่อ 22.00 น. ของวันพุธ (2 ธ.ค.) ตามเวลาปักกิ่ง โดยตัวอย่างดังกล่าวถูกเก็บไว้ในภาชนะที่อยู่ในโมดูลพุ่งขึ้นของยานสำรวจตามแผนที่วางไว้

ทั้งนี้ ยานอวกาศฉางเอ๋อ-5 ใช้วิธีสุ่มเก็บตัวอย่างจากดวงจันทร์ 2 วิธี ได้แก่ “ขุดเจาะ” เพื่อเก็บตัวอย่าง และใช้ “แขนกล” รวบรวมตัวอย่างที่อยู่บนพื้นผิวดวงจันทร์จากจุดต่างๆ

มีการคาดการณ์ว่าโมดูลพุ่งขึ้นจะประสบความสำเร็จในการทะยานสู่ห้วงอวกาศแบบไร้มนุษย์ควบคุม ส่วนโมดูลโคจร-ส่งกลับ จะประสบความสำเร็จในการเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์

เผิงจิง รองหัวหน้าทีมออกแบบยานสำรวจฉางเอ๋อ-5 จากสถาบันฯ กล่าวว่า “นี่จะถือเป็นการทะยานสู่ห้วงอวกาศและการเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์แบบไร้มนุษย์ควบคุมครั้งแรกในประวัติศาสตร์”

(ภาพจากองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน : โมดูลพุ่งขึ้นของยานสำรวจฉางเอ๋อ-5 ขณะทะยานขึ้นจากพื้นผิวดวงจันทร์ ถ่ายจากศูนย์ควบคุมการบินและอวกาศปักกิ่ง วันที่ 3 ธ.ค. 2020)

อนึ่ง ยานโคจรจะนำยานส่งกลับมายังโลกทันทีที่ความสัมพันธ์ทางเรขาคณิตระหว่างโลกและดวงจันทร์เหมาะสมกัน

ฉางเอ๋อ-5 เป็นหนึ่งในภารกิจที่ซับซ้อนและท้าทายที่สุดในประวัติศาสตร์การบินและอวกาศของจีน ทั้งยังเป็นภารกิจการเก็บตัวอย่างจากดวงจันทร์ครั้งแรกของโลกในรอบกว่า 40 ปีที่ผ่านมา

เผยเจ้าอวี่ รองผู้อำนวยการศูนย์โครงการอวกาศและการสำรวจดวงจันทร์ กล่าวว่าหากภารกิจประสบความสำเร็จ มันจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน ทั้งยังจะเป็นรากฐานข้อมูลสำคัญสำหรับการลงจอดบนดวงจันทร์โดยมีมนุษย์ควบคุมและการสำรวจอวกาศของจีนต่อไปในอนาคต

ภาพ ‘ธงแดงห้าดาว’ กางคลี่บนดวงจันทร์