โควิด-19

What We Know : โควิด-19 รอบล่าสุด (เคสกลุ่มท่าขี้เหล็ก-1G1 Hotel)

รวมข้อมูลทั้งหมดที่เรารู้ เกี่ยวกับการพบผู้ป่วยกลุ่มข้ามมาจากท่าขี้เหล็ก - 1G1 Hotel

Home / NEWS / What We Know : โควิด-19 รอบล่าสุด (เคสกลุ่มท่าขี้เหล็ก-1G1 Hotel)

ประเด็นน่าสนใจ

  • สถานการณ์การระบาดที่เกิดขึ้น ยังไม่ถือว่า เป็นการระบาดในระลอกที่สองแต่อย่างใด
  • กลุ่มก้อนผู้ป่วยในกลุ่มที่มาจาก 1G1 และท่าขี้เหล็ก รวม 46 ราย ซึ่ง 27 ราย เป็นการเดินทางเข้ามาตามระบบอย่างถูกต้อง มีการกักตัว
  • มีทั้งหมด 17 รายในขณะนี้ที่เป็นกลุ่มที่ลักลอบเข้ามาเมื่อช่วงปลายเดือน พ.ย.
  • ส่วนที่เข้ามาและก่อให้เกิดการติดเชื้อในประเทศ มีเพียง 2 ราย โดย 1 ในนั้นเป็นกลุ่มเพื่อนที่ร่วมเดินทาง/สังสรร รวมกัน
  • ในขณะนี้ เชียงใหม่ – พะเยา ยังไม่พบเคสเพิ่มเติม หรือมีการติดเชื้อในพื้นที่
  • เชียงใหม่ – เชียงราย – พะเยา ปลอดภัยในระดับที่สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ เพียงรู้จักป้องกันตนเอง

จากสถานการณ์พบผู้ป่วยโควิด-19 ในรอบล่าสุดในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเป็นกลุ่มผู้ที่ลักลอบเข้าประเทศไทยโดยผ่านช่องทางธรรมชาติ ตามที่ได้มีการนำเสนอข่าวไปแล้วนั้น

วันนี้ เราจะมาประมวลกันว่า ในรอบล่าสุดนี้ เรารู้อะไรมาบ้าง และสิ่งใดที่คุณควรรู้กับสถานการณ์โควิด-19 ในขณะนี้ บ้าง

◾️ต้นตอกลุ่มก้อนใหม่

การพบกลุ่มผู้ติดเชื้อในรอบล่าสุดนี้ เป็นกลุ่มผู้ที่ออกไปทำงานในฝั่งจังหวัดท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมาร์ ซึ่งพบว่า ต้นตอขอกลุ่มก้อนนี้ มาจาก 1G1 Hotel ในพื้นที่ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมาร์ โดยในพื้นที่จังหวัดท่าขี้เหล็กในฝั่งประเทศเมียนมาร์ ก็ยังคงมีการระบาดและพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

สาเหตุที่ทำให้กลุ่ม 1G1 พบติดเชื้อจำนวนมาก

สำหรับโรงแรม 1G1 Hotel นั้นอาจจะเรียกได้ว่า เป็น Entertainment complex ได้เลยทีเดียว เนื่องจากมีทั้งผับขนาดใหญ่ ห้องคาราโอเกะทั้งแบบห้องปรกติและห้อง VIP รวมถึงมีบ่อนคาสิโนอีกด้วย

ซึ่งจะเห็นว่า สถานที่ให้บริการส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปิดทึบ อากาศถ่ายเทได้น้อย และยังคงเป็นพื้นที่หลาย ๆ คนใช้เวลาร่วมกันเป็นเวลานาน อีกสภาวะของการใกล้ชิดกันระหว่างบุคคล ไม่ได้มีการเว้นระยะห่าง จึงทำให้เกิดการแพร่ระบาดได้ง่าย

นอกจากนี้ กลุ่มของคนไทยที่ไปทำงานกันในฝั่งท่าขี้เหล็กจำนวนไม่น้อย นิยมพักอยู่ร่วมกันในลักษณะของรูมเมท ตั้งแต่ 2 -4 คน ต่อห้อง ทำให้กลุ่มนี้อยู่ร่วมกันเป็นระยะเวลาเกือบตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อมีผู้ที่ติดเชื้อหนึ่งราย ก็จะสามารถแพร่ให้กับเพื่อนร่วมห้อง หรือเพื่อนร่วมกลุ่มได้ในอัตราที่สูงกว่า (อยู่ร่วมกันเป็นเวลานาน ในพท.ปิด)

ซึ่งหลังจากที่ในพื้นที่ท่าขี้เหล็กมีการระบาดสูงขึ้น ทำให้มีคำสั่งปิดสถานบันเทิงต่าง ๆ ส่งผลให้มีคนไทยที่ไปทำงานในทางฝั่งประเทศเมียนมาร์ หลายคนเลือกที่จะเดินทางกลับประเทศไทย

หนีข้ามไปเมียนมาร์ – หนีข้ามกลับมาไทย

จากสถานการณ์ปิดด่าน และมาตรการจำกัดการเข้าออกระหว่างประเทศไทย-เมียนมาร์ ทำให้มีคนไทยจำนวนไม่น้อย ที่เลือกใช้ช่องทางธรรมชาติในการหลบหนีข้ามไปทำงานในฝั่งประเทศเมียนมาร์ ในโรงแรม 1G1

ซึ่งช่องทางในการลักลอบข้ามไป-มาระหว่างสองประเทศนั้นทำได้ง่าย เนื่องจากลำน้ำสายในหลาย ๆ ช่วงมีระดับน้ำไม่สูงมาก และระยะห่างของลำน้ำไม่กว้างมาก ประกอบกับช่วงนี้หมดฤดูฝนแล้ว กระแสน้ำไม่แรง สามารถเดินไปมาได้ ก่อนที่จะเดินขึ้นมาตามทางเดินเล็ก ๆ มายังถนนเลียบชายแดน บางจุดใช้วิธีจ้างจ้างเรือมาส่งยังฝั่งไทย โดยเลือกจุดที่ขึ้นง่าย ๆ ก่อนแหวกทางขึ้นมายังฝั่งไทย

ส่วนอัตราค่าจ้าง – ค่านำทางข้ามมายังฝั่งไทยนั้น เป็นไปตามแต่ความพึงพอใจของทั้งสองฝ่าย มีตั้งแต่หลัก ร้อย ไปจนถึงหลักหมื่น ตามแต่ความสะดวกที่ได้รับ เช่น หากแค่พามาชี้จุดหรือ พานำเดินข้ามเฉย ๆ ราคาจะไม่แพง แต่หากเป็นการนั่งเรือพาหาจุดข้าม มีรถมารับในฝั่งไทย ฯลฯ ก็จะมีราคาแพงขึ้นไปอีก

สำหรับคนที่ลักลอบประเทศเมียนมาร์ หากต้องการเดินทางกลับไทย ก็จะมีค่าปรับในฝั่งประเทศเมียนมาร์ และค่าปรับในฝั่งของประเทศไทยด้วยเช่นกัน ซึ่งแม้ว่า อัตราค่าปรับจะไม่ได้สูงมาก เมื่อเทียบกับค่าจ้างพาลักลอบข้ามไปมา แต่หลายคนมองว่า ถึงอย่างไรก็เสียเงิน ขอเลือกไม่กักตัวจะดีกว่า จึงทำให้เกิดปัญหาที่ประเทศไทยกำลังพบอยู่ในขณะนี้

ซึ่งจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทางกระทรวงสาธารณสุขและเจ้าหน้าที่ มีการดำเนินคดีขั้นเด็ดขาด สำหรับผู้ป่วยที่ลักลอบหลบหนีเข้าไทย อย่างน้อยใน 2 ข้อหาคือ หลบหนีเข้าเมือง โดยผิดกฎหมาย และผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรค

ในขณะเดียวกัน ภาคเอกชนในจังหวัดเชียงราย ก็เตรียมตัวฟ้องผู้ป่วยที่ลักลอบเข้าประเทศไทย โดยจะเรียกค่าเสียหาย 20 ล้าน จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

◾️สถานการณ์ในขณะนี้

สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่พบจากการเดินทางเข้ามาจากทางฝั่งท่าขี้เหล็กในประเทศไทยในขณะนี้พบแล้ว 46 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีเดินทางเดินทางของกลับเข้าประเทศอย่างถูกต้องจำนวน 27 ราย มีการติดเชื้อในประเทศ 2 ราย เหลืออีก 17 รายเป็นผู้ที่ลักลอบเข้าไทยมาผ่านช่องทางธรรมชาติ

สำหรับกรณีการติดเชื้อภายในประเทศนั้น 1 รายเป็นกลุ่มเพื่อนของผู้ป่วย และอีกหนึ่งราย เป็นเคสที่สิงห์บุรี ซึ่งกรณีทางเจ้าหน้าที่ คาดว่า การติดเชื้อน่าจะเกิดขึ้นที่ระหว่างการพักคอยขึ้นเครื่องที่บริเวณสนามบินแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย

เชียงราย –

ซึ่งในเชียงราย มีการตรวจกว่า 4 พันรายทั้งในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง-เสี่ยงต่ำ และการตรวจเชิงรุกในพื้นที่เสี่ยงต่าง ๆ ที่มีผู้ป่วยบางรายเดินทางไปใช้บริการ ซึ่งในขณะนี้ ยังไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม แต่อย่างใด

เชียงใหม่ –

สถานการณ์ในเชียงใหม่ หลังจากพบกลุ่มผู้ป่วยจำนวน 5 ราย ที่เป็นกลุ่มที่ลักลอบเข้าประเทศมาในพื้นที่ ในขณะนี้ ตรวจผู้สัมผัสใกล้ชิด – ตรวจค้นหาเชิงรุก ในพื้นที่ ยังไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มเติมหรือการแพร่ระบาดไปสู่ผู้อื่น หรือเคสการติดเชื้อในประเทศแต่อย่างใด และเคสล่าสุดของเชียงใหม่นั้น ถูกกักตัวตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. ที่ผ่านมา

พะเยา –

ในจังหวัดพะเยา ไม่ต่างจากจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีการพบผู้ป่วยเพียง 1 ราย เป็นการลักลอบเข้าประเทศ และเป็นการนำเชื้อเข้ามาโดยไม่ได้กักตัว หลังจากนั้นมีการตรวจผู้สัมผัสใกล้ชิด – พื้นที่เสี่ยง – ตรวจเชิงรุกในพื้นที่ ในขณะนี้ ยังไม่พบการติดเชื้อ-ระบาดในพื้นที่ และเคสที่ในจังหวัดพะเยามีการนำตัวเข้ารับการรักษาตั้งแต่ 30 พ.ย. ที่ผ่านมา จนถึงในขณะนี้ 10 วันแล้ว ยังไม่พบเคสใหม่เพิ่มเติม

◾️การระบาดระลอกที่ 2 หรือไม่?

จากการสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้หลายฝ่ายมีความกังวลว่า จะเป็นการระบาดระลอกที่ 2 และนำไปสู่การล็อกดาวน์ หรือเคอร์ฟิวส์ ซึ่งจากการประเมินของทางกระทรวงสาธารณสุขก่อนหน้านี้ ได้มีการประเมินเตรียมการรับมือการระบาดไว้ โดยแบ่งไว้ 3 ระดับคือ

1. Spike Only

กรมควบคุมโรคคาดการณ์ไว้ว่า จะมีการพบเคสผู้ป่วยโควิด-19 จำนวนไม่มากนัก ไม่มีการระบาดต่อเป็นลูกโซ่ แล้วก็ควบคุมสถานการณ์ได้ โดยไม่พบผู้สัมผัสเสี่ยงสูง/เสี่ยงต่ำติดเชื้อเพิ่มเติม

ซึ่งทางกรมควบคุมโรคได้ประเมินและเตรียมพร้อมไว้แล้ว เนื่องจากเป็นกรณีที่จะพบได้อย่างแน่นอน และประเทศไทยไม่มีทางที่คงตัวเลขผู้ป่วยในประเทศให้เป็น 0 ไว้ได้อย่างต่อเนื่องตลอดไป นอกจากนี้ ยังมีโอกาสที่เคสจะเล็ดลอดเข้ามาจากในประเทศได้ตามแนวชายแดน

กรณีที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ เช่น เคสผู้ป่วยหญิงชาวฝรั่งเศส ที่เกาะสมุย, เคสจนท.ทูตชาวอังการี เป็นต้น

2. Spike and Small Wave

เป็นการพบผู้ป่วย 1-2 รายและนำไปสู่การระบาดให้กับผู้สัมผัสเสี่ยงสูง – เสี่ยงต่ำที่อยู่ใกล้ชิดหรือสัมผัสกับผู้ป่วยในลักษณะเป็นกลุ่มเล็ก ๆ และพบในช่วงระยะสั้น เช่น

  • กรณีเคสผู้ป่วยชาวอินเดีย ที่จังหวัดกระบี่ ซึ่งมีผู้สัมผัสใกล้ชิดติดเชื้อ 1 ราย เมื่อช่วงปลายเดือน ต.ค. – พ.ย. ที่ผ่านมา
  • กรณีชาวเมียนมาร์ ที่อ.แม่สอด หลังข้ามฝั่งเข้ามาในประเทศไทย และมีผู้บุคคลในครอบครัวติดเชื้อ 5 ราย เมื่อช่วงกลางเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา

สถานการณ์ในระดับนี้ ยังคงเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ เช่นกัน ซึ่งสถานการณ์ในปัจจุบัน ยังคงอยู่ในระดับนี้ ที่มีผู้ติดเชื้อในประเทศ จำนวน 2 ราย และยังไม่พบการระบาดเพิ่มเติม ส่วนผู้ป่วยที่พบจำนวนมากนัก เป็นการติดเชื้อจากต้นทางคือ ฝั่งท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมาร์ และนำเชื้อเข้าประเทศ

3. Spike and Big wave

เป็นการพบผู้ติดเชื้อและมีการระบาดไปยังผู้ป่วยจำนวนมาก มีการระบาดต่อเนื่องเป็นระยะเวลาติดต่อกันหลายวัน-หลายสัปดาห์ ตัวอย่างเช่น กรณีของการติดเชื้อในสนามมวยที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา มีการระบาดต่อเนื่องไปยังผู้อื่นจำนวนมาก และกินเวลานานกว่า 1 เดือน จึงจะไม่พบเคสผู้ป่วยรายใหม่ในกลุ่มก้อนสนามมวย

ซึ่งสถานการณ์ในขณะนี้ ยังคงต้องเฝ้าระวัง-ป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดสถานการณ์แบบที่ผ่านมาได้และลุกลามเป็นระลอกที่ 2

ตัวอย่างการระบาดในระลอกที่ 2 ตามภาพด้านล่างจะเห็นว่า จำนวนผู้ป่วยรายใหม่ต่อวันพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีความรุนแรงมากกว่าในระลอกแรกอย่างมาก ซึ่งพบในหลายประเทศ

กราฟการระบาดของประเทศอิตาลี (ที่มา – Google Covid-19 Report)

หรือเช่นในประเทศเกาหลีใต้ ที่การระบาดเข้าสู่ระลอกที่ 3 ซึ่งในระลอกที่ 2 นั้นมีจำนวนผู้ป่วยไม่สูงเท่าการระบาดในระลอกแรก ก่อนเข้าสู่ระลอกที่ 3

กราฟการระบาดของประเทศเกาหลีใต้ (ที่มา – Google Covid-19 Report)

ดังนั้นสรุปว่า ในสถานการณ์ในขณะนี้ ยังไม่เข้าสู่ในระลอกที่ 2 หรือเป็นการระบาดลอกใหม่ แต่ยังคงเป็นสถานการณ์ที่ต้องเฝ้าระวัง และช่วยกันป้องกันการระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้

◾️ไปเชียงราย/เชียงใหม่ ต้องกักตัว 14 วัน?

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หลายฝ่ายเริ่มมีความวิตกกังวลว่า จะต้องมีการกักตัว หรือไม่ เมื่อต้องเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการพบผู้ป่วย ซึ่งจากข้อมูลที่มีอยู่ในขณะนี้ ยังไม่มีความจำเป็นต้องกักตัว 14 วัน เนื่องจากหากเราพิจารณาข้อมูลที่เกิดขึ้นคือ

  • เคสผู้ป่วยทั้ง 46 ราย ในกลุ่มที่ข้ามมาจากทางท่าขี้เหล็ก เป็นเคสที่เกิดขึ้นในขณะนี้
  • 27 เคส เข้ามาอย่างถูกต้องตามระบบ และเป็นการพบเคสในสถานที่กักตัว
  • 17 เคส ที่แอบลักลอบเข้ามาและไม่ได้กักตัว
  • 2 เคส ที่เป็นการติดเชื้อในประเทศ ซึ่งหนึ่งรายเป็นเพื่อนของกลุ่มผู้ป่วย 3 รายที่เดินทาง-เที่ยว-พักค้างร่วมกัน มีหนึ่งเคสที่สิงห์บุรี ที่เป็นเคสของการระบาดที่น่ากังวล

นอกจากนี้ การตรวจผู้สัมผัสเสี่ยงสูง-เสี่ยงต่ำ ยังไม่พบการติดเชื้อ-ระบาดเพิ่มเติม รวมถึงการตรวจเชิงรุกในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ที่ผู้ป่วยโควิด-19 ในกลุ่มนี้ ผลตรวจออกมาแล้วกว่า 3 พันราย ยังคงไม่พบเชื้อ

กลุ่มเสี่ยงสูง-เสี่ยงต่ำ ที่สัมผัสกับผู้ป่วยทั้งหมด ก็ยังไม่พบเชื้อ โดยเฉพาะในกลุ่มแรก ๆ ที่มีรายงาน เข้าสู่การตรวจรอบที่ 3 แล้ว


FYI – ทำความเข้าใจอีกครั้ง ระยะฟักตัว/ระยะกักตัว

ระยะฟักตัวของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในประเทศไทย นั้นส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ที่ราว ๆ 3-5 วัน ก็จะสามารถตรวจพบได้ ซึ่งประมาณ 90% ของผู้ป่วยจะพบเชื้อในช่วง 7 วัน (มีบางเคสที่พบระยะหลังจากกว่า 10 วัน แต่มีจำนวนน้อย)

ดังนั้น ประเทศไทยจึงยังคงใช้การกักตัว 14 วันคือ 2 เท่าของระยะฟักตัว หรือ 14 วันนั่นเอง ดังนั้นกรณีที่มีการระบาด ก็จะตรวจพบเชื้อได้ภายใน 3-7 วัน


ดังนั้นจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดในขณะนี้ ทางส่วนของสาธารณสุข – กรมควบคุมโรค จึงประเมินสถานการณ์ว่า ยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ โดยไม่ต้องมีการกักตัว 14 วัน ในกรณีที่มีการเดินทางไปยังพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่-เชียงราย-พะเยา แต่อย่างใด

◾️กลุ่มเสี่ยง ใครคือกลุ่มเสี่ยง

สำหรับในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น มีกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เสี่ยงต่ำ ซึ่งกรมควบคุมโรคได้ให้คำจำกัดไว้ คือ

ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงคือ

  • ผู้ที่อยู่ร่วมกับผู้ป่วย / ใช้ชีวิตร่วมกับผู้ป่วย มีความใกล้ชิด
  • อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยในระยะ < 1 ม. นานกว่า 5 นาที
  • โดยสารรถ หรือ เครื่องบินร่วมกัน ในบริเวณ 2 เบาะหน้าและหลัง ของจุดที่ผู้ป่วยนั่ง

ซึ่งผู้ป่วยสัมผัสเสี่ยงสูงในกลุ่มนี้ จะดำเนินมาตรการการกักตัว 14 วันอย่างเคร่งครัด

ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้เข้าเกณฑ์ ข้างต้น เช่น นั่งเครื่องบินร่วมกัน แต่อยู่ห่างกัน พบปะพูดคุยกันในระยห่าง เพียงสั้น ๆ หรือมีฉากกั้น ในกลุ่มนี้ ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่ำทั้งหมด การดำเนินการ เพียงแค่การเฝ้าระวัง สังเกตุอาการตนเอง ในช่วงระยะเวลา 14 วัน ใช้ชีวิตได้ตามปรกติ แต่เน้นการระวังป้องกันที่เคร่งครัดมากขึ้น คือ สวมหน้ากาก เลี่ยงที่ชุมชน

◾️ปีใหม่เที่ยวได้หรือไม่

จากภาพรวมทั้งหมดของสถานการณ์ในขณะนี้ ในจังหวัดเชียงใหม่ – พะเยา ไม่มีเคสเกิดขึ้นเพิ่มเติม ซึ่งหากช่วงกลางเดือน ธ.ค. นี้ไม่มีเคสผู้ป่วยเพิ่มที่เกิดจากการสัมผัสใกล้ชิด ก็สามารถเที่ยวได้ตามแบบชีวิตวิถีใหม่ คือมีการป้องกันตนเอง เลี่ยงที่ที่มีผู้คนแออัด สวมใส่หน้ากาก และไม่ต้องมีการกักตัวแต่อย่างใด

ซึ่งในขณะนี้ ทางรัฐบาลยังไม่ได้มีคำสั่งในการกักตัวแต่อย่างใด อีกทั้งหลายหน่วยงานได้มีการแจ้งประกาศขอให้ประชาชน หรือ บริษัทอย่าตื่นตระหนก เนื่องจากการระบาดยังเกิดในวงจำกัดมาก เมื่อเทียบกับที่ผ่านมา จึงไม่ควรออกประกาศกักตัว ผู้ที่เดินทางมาจากเชียงใหม่-เชียงราย-พะเยา ซึ่งแม้ว่าเป็นสิทธิของเอกชนที่ทำได้ แต่ก็เป็นแนวทางที่เกินกว่าเหตุ

ส่วนกรณีที่จังหวัดเชียงราย มีการพบเคสผู้ป่วยเพิ่มเติม 1 ราย ในวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมา เป็นการลักลอบเข้าประเทศไทยมาพร้อมกับเพื่อนในกลุ่มเดียวกับเคสราชบุรี-กรุงเทพ ซึ่งหลังจากที่รู้ข่าวว่าเพื่อนที่ร่วมเดินทางมา ป่วยเป็นโควิด-19 ก็ได้มีการเก็บตัวเองอยู่ในบ้าน ไม่ได้ออกไปไหน ซึ่งในขณะนี้ผลการตรวจหาเชื้อผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ในเคสนี้ ทั้งหมดให้ผลเป็นลบ

และเมื่อวานนี้ ( 9 ธ.ค.) เชียงรายไม่พบเคสผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มเติมแต่อย่างใด

ดังนั้นในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ยังคงปลอดภัย และสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ โดยแนะนำให้ผู้ที่เดินทางไปเที่ยว เพิ่มมาตรการป้องกันในการสวมหน้ากาก ล้างมือบ่อย ๆ เลี่ยงจุด/แหล่งท่องเที่ยวที่เป็นที่ชุมชน หรือแออัด ตามมาตรการแบบ New Normal ที่ผ่านมา ยังคงสามารถทำได้

X