น้ำท่วม สถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้

อัปเดต #สถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้

ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมขังใน 7 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา และยะลา

Home / NEWS / อัปเดต #สถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้

ประเด็นน่าสนใจ

  • (ปภ.) รายงานสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก และวาตภัยในพื้นที่ภาคใต้ 11 จังหวัด 90 อำเภอ
  • ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมขังใน 7 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา และยะลา
  • ประสานจังหวัด หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย

วันนี้ (4 ธ.ค. 63) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก และวาตภัยในพื้นที่ภาคใต้ 11 จังหวัด 90 อำเภอ 469 ตำบล 2,960 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 314,639 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 8 ราย ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมขังใน 7 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา และยะลา

ทั้งนี้ ปภ.ได้ร่วมกับหน่วยทหาร จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยและคลี่คลายสถานการณ์ โดยเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมและสำรวจความเสียหายครอบคลุมทุกด้าน เพื่อให้การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานอิทธิพลมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศมาเลเซีย ส่งผลให้บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก และวาตภัย ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน – ปัจจุบัน (4 ธันวาคม 2563 เวลา 06.00 น.)

โดยมีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก และวาตภัย รวม 11 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวม 90 อำเภอ 469 ตำบล 2,960 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 314,639 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 8 ราย ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมใน 7 จังหวัด 67 อำเภอ 374 ตำบล 2,618 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 302,110 ครัวเรือน ดังนี้

สุราษฎร์ธานี

น้ำท่วมขังในพื้นที่ 11 อำเภอ ได้แก่ อำเภอดอนสัก อำเภอกาญจนดิษฐ์ อำเภอวิภาวดี อำเภอท่าฉาง อำเภอบ้านนาเดิม อำเภอเคียนซา อำเภอชัยบุรี อำเภอพุนพิน อำเภอเวียงสระ อำเภอคีรีรัฐนิคม และอำเภอไชยา รวม 66 ตำบล 384 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 11,524 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง กระบี่ น้ำท่วมขังในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเขาพนม และอำเภอลำทับ รวม 3 ตำบล 9 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 67 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง

นครศรีธรรมราช

น้ำท่วมขังในพื้นที่ 23 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช อำเภอลานสกา อำเภอเชียรใหญ่ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอชะอวด อำเภอปากพนัง อำเภอจุฬาภรณ์ อำเภอหัวไทร อำเภอสิชล อำเภอนบพิตำ อำเภอท่าศาลา อำเภอขนอม อำเภอนาบอน อำเภอทุ่งสง อำเภอร่อนพิบูลย์ อำเภอทุ่งใหญ่ อำเภอบางขัน อำเภอพิปูน อำเภอฉวาง อำเภอพรหมคีรี อำเภอถ้ำพรรณา อำเภอช้างกลาง และอำเภอพระพรหม รวม 150 ตำบล 1,054 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 184,750 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัวและยังมีฝนตกในพื้นที่

ตรัง

น้ำท่วมในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองตรัง อำเภอนาโยง อำเภอห้วยยอด อำเภอรัษฎา รวม 15 ตำบล 61 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,261 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง พัทลุง น้ำท่วมในพื้นที่ 11 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพัทลุง อำเภอป่าบอน อำเภอศรีนครินทร์ อำเภอกงหรา อำเภอตะโหมด อำเภอควนขนุน อำเภอเขาชัยสน อำเภอปากพะยูน อำเภอป่าพะยอม อำเภอบางแก้ว และอำเภอศรีบรรพต รวม 65 ตำบล 670 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 46,284 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง

สงขลา

น้ำท่วมขังในพื้นที่ 13 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสงขลา อำเภอจะนะ อำเภอสะเดา อำเภอหาดใหญ่ อำเภอควนเนียง อำเภอสิงหนคร อำเภอนาหม่อม อำเภอรัตภูมิ อำเภอบางกล่ำ อำเภอสทิงพระ อำเภอระโนด อำเภอกระแสสินธุ์ และอำเภอคลองหอยโข่ง รวม 70 ตำบล 435 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 56,873 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง

ยะลา

น้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองยะลา อำเภอบันนังสตา และอำเภอยะหา รวม 5 ตำบล 5 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 351 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง

อย่างไรก็ตามกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานจังหวัด หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกับศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ทั้งที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัย พื้นที่ใกล้เคียง พื้นที่อื่น ๆ สนับสนุนการเผชิญเหตุ

โดยระดมกำลังพลและทรัพยากรด้านสาธารณภัย อาทิ เรือท้องแบนพร้อมเครื่องยนต์ เรือไฟเบอร์ รถสูบส่งน้ำระยะไกล รถผลิตน้ำดื่ม รถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย รถสุขาเคลื่อนที่ รถประกอบอาหาร รถไฟฟ้าส่องสว่าง ให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยขนย้ายสิ่งของไปไว้ในที่สูงและเร่งระบายน้ำท่วมขัง

รวมถึงแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภค อีกทั้งจัดเจ้าหน้าที่สำรวจและประเมินความเสียหายเพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง ประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป