ปักกิ่ง, 3 ธ.ค. (ซินหัว) — จีนให้คำมั่นจะขจัดความยากจนขั้นสูงสุด (absolute poverty) ให้หมดจากประเทศภายในสิ้นปี 2020 ซึ่งเร็วกว่ากำหนดการของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 ของสหประชาชาติถึง 10 ปี ขณะที่เส้นตายเข้าใกล้ขึ้นทุกขณะ จีนได้บรรลุเป้าหมายใดแล้วบ้าง? คำจำกัดความของ “ความยากจน” คืออะไรกันแน่? จีนทำตามเป้าหมายนี้ได้อย่างไร? และความท้าทายในอนาคตมีอะไรบ้าง บทความนี้อาจช่วยให้เข้าใจภารกิจขจัดความยากจนของจีนได้มากขึ้น
ความก้าวหน้าครั้งใหญ่
เมื่อไม่นานมานี้จีนช่วยให้อำเภอยากจนทั่วประเทศหลุดพ้นจากรายชื่อพื้นที่ยากไร้ได้สำเร็จ หลังเมื่อสัปดาห์ก่อนมณฑลกุ้ยโจวทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีนประกาศว่าอำเภอยากไร้ 9 แห่งสุดท้ายหลุดพ้นจากความยากจนขั้นสูงสุดแล้ว
ตลอดระยะเวลา 40 ปีที่จีนดำเนินการปฏิรูปและเปิดประเทศ จีนได้ช่วยให้ประชาชนหลุดพ้นจากความยากไร้กว่า 700 ล้านคน คิดเป็นกว่าร้อยละ 70 ของการบรรเทาความยากจนทั่วโลก
ความสำเร็จในภารกิจขจัดความยากจนของจีนได้รับคำชื่นชมจาก อันโตนิอู กูแตร์เรช เลขาธิการสหประชาชาติว่าเป็นความสำเร็จที่ “ยิ่งใหญ่มาก”
มาตรฐานของ “ความยากจน”
ตั้งแต่จีนเริ่มปฏิรูปและเปิดประเทศเมื่อปี 1978 จีนได้ปรับเกณฑ์ของ “ความยากจนขั้นสูงสุด” อยู่หลายครั้งเพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ
ปัจจุบันเส้นแบ่งความยากจนในเขตชนบทของจีนคือผู้ที่มีรายได้ 2,300 หยวน (ราว 10,500 บาท) ต่อปี โดยอิงระดับราคาของปี 2010 และค่าเฉพาะนี้อาจมีการปรับแก้ตามระดับราคาที่เปลี่ยนไปของประเทศ ในปี 2019 เส้นแบ่งความยากจนของจีนอยู่ที่ 3,218 หยวน (ราว 14,800 บาท)
สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนระบุว่าเมื่อพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ เช่น ความเสมอภาคของอำนาจซื้อ (PPP) และช่องว่างทางราคาระหว่างเขตเมือง-ชนบทของจีนแล้ว เส้นแบ่งความยากจนของจีนนั้นสูงกว่ามาตรฐานความยากจนขั้นรุนแรงของธนาคารโลก ซึ่งอยู่ที่ 1.9 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 57 บาท) ต่อคนต่อวัน
แท้จริงแล้ว มาตรฐานการขจัดความยากจนของจีนนั้น ไม่สามารถถูกจำกัดความได้ด้วยสถิติทางรายได้เท่านั้น เพราะนอกจากเป้าหมายด้านการเพิ่มรายได้ต่อปีของประชาชนแล้ว โครงการขจัดความยากจนขั้นพื้นฐานของจีนยังช่วยให้ประชาชนยากจนมีอาหารและเครื่องนุ่งห่มอย่างเพียงพอ รวมถึงสามารถเข้าถึงการศึกษาภาคบังคับ บริการทางการแพทย์ขั้นพื้นฐาน และมีที่พักอาศัยที่ปลอดภัยอีกด้วย
แก้จนแบบมี “ยุทธศาสตร์”
เพื่อบรรลุเป้าหมายการขจัดความยากจนขั้นสูงสุด จีนให้คำมั่นว่าจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคการเกษตรและพื้นที่ชนบทเป็นดับแรกๆ และเดินหน้าด้านการฟื้นฟูความคึกคักในเขตชนบทอย่างเต็มที่ ในระยะใหม่ของการพัฒนาประเทศ
จีนยกระดับคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรกรรม ริเริ่มแผนพัฒนาชนบท มุ่งพัฒนาชนบทท่ามกลางการสร้างระบบสังคมนิยมที่ทันสมัย จีนพยายามเพิ่มการปฏิรูปเขตชนบท เพราคาดว่าจะช่วยปรับปรุงกลไกการพัฒนาเมือง-ชนบทแบบบูรณาการให้ดียิ่งขึ้น
จีนยังเดินหน้าลดความยากจนในเขตชนบทด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีที่ช่วยกระตุ้นการผลิตในภาคเกษตร ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจีนให้ความสำคัญกับปัญหาคอขวดทางเทคนิคในอุตสาหกรรมการเกษตรและส่งเสริมเทคโนโลยีใหม่กว่า 50,000 รายการ เพื่อเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมในพื้นที่ยากไร้
นอกจากนี้จีนยังพยายามรักษาตำแหน่งงานของคนจน โดยกว่าร้อยละ 90 ของประชาชนที่ขึ้นทะเบียนเป็นคนยากไร้ล้วนได้รับความช่วยเหลือด้านการจ้างงานหรือได้สิทธิประโยชน์จากนโยบายบรรเทาความยากจน ผ่านการพัฒนาทางอุตสาหกรรมในพื้นที่ชนบท
หนทางยังอีกไกล
เมื่อวันพุธ (2 ธ.ค.) โอวชิงผิง รองผู้อำนวยการสำนักงานกลุ่มผู้นำด้านการบรรเทาความยากจนและการพัฒนาของคณะรัฐมนตรีระแถลงว่า แม้ว่าจีนกำลังจะขจัดความยากจนขั้นสูงสุดได้ภายในสิ้นปีนี้ แต่การขจัดความยากจนเชิงสัมพัทธ์ (relative poverty) นั้นจะเป็นภารกิจระยะยาว ดังนั้นจีนจึงต้องดำเนินมาตรการเพื่อย้ำความสำเร็จในการแก้จนต่อไป
โอวย้ำถึงความสำคัญของกลไกการติดตามผลและการให้ความช่วยเหลือ เพื่อไม่ให้ประชาชนกลับสู่วังวนของความยากจนอีกครั้ง
หลังคว้าชัยเหนือความยากจนได้อย่างหมดจด จีนจะเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านที่จะยังใช้นโยบายและให้ความช่วยเหลือคนจนต่อไป พร้อมทั้งรักษาเสถียรภาพโดยรวมของมาตรการต่างๆ จีนจะติดตามงานด้านการย้ายถิ่นเพื่อขจัดความยากจน ตลอดจนปรับปรุงระบบประกันสังคมและบรรเทาทุกข์ในชนบทต่อไป
จีนกำลังวางมาตรการเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มพลวัตให้พื้นที่ชนบท ควบคู่กับเดินหน้าเสริมแกร่งความสำเร็จด้านการขจัดความยากจนต่อไป
ที่มา – ซินหัว