ข่าวจังหวัดนครศรีธรรมราช ข่าวตำรวจ ด่านตรวจ ผู้กำกับโชค พ.ต.อ.โชคดี รักษ์วัฒนพงษ์

ผกก.โชคโพสต์แจง เหตุย้าย ส.ต.ต.เอกพล เช่นคลิปฉาว

พ.ต.อ.โชคดี รักษ์วัฒนพงษ์ ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊ก เหตุย้าย ส.ต.ต.เอกพล จุ้ยส่องแก้ว เซ่นคลิปขอดูใบขบัขี่ข้าราชการใหญ่อ้างเพื่อปกป้องลูกน้องเกรงถูกฟ้องร้องภายหลัง จากกรณีที่ ส.ต.ต.เอกพล จุ้ยส่องแก้ว ขอตรวจใบขับขี่ชายซึ่งอ้างว่าเป็นนาย อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 8 ที่ขับรถยนต์เก๋งผ่านจุดตรวจในพื้นที่ อ.ทุ่งใหญ่…

Home / NEWS / ผกก.โชคโพสต์แจง เหตุย้าย ส.ต.ต.เอกพล เช่นคลิปฉาว

ประเด็นน่าสนใจ

  • พ.ร.บ.รถยนต์ มาตรา 42 บัญญัติไว้ว่าผู้ขับรถต้องมีใบอนุญาตขับรถในขณะขับ เพื่อแสดงต่อเจ้าพนักงานได้ทันที แต่เจ้าหน้าที่จะเรียกตรวจสอบได้เฉพาะมีเหตุสงสัยเท่านั้น

พ.ต.อ.โชคดี รักษ์วัฒนพงษ์ ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊ก เหตุย้าย ส.ต.ต.เอกพล จุ้ยส่องแก้ว เซ่นคลิปขอดูใบขบัขี่ข้าราชการใหญ่อ้างเพื่อปกป้องลูกน้องเกรงถูกฟ้องร้องภายหลัง

จากกรณีที่ ส.ต.ต.เอกพล จุ้ยส่องแก้ว ขอตรวจใบขับขี่ชายซึ่งอ้างว่าเป็นนาย อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 8 ที่ขับรถยนต์เก๋งผ่านจุดตรวจในพื้นที่ อ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช เมื่อค่ำวันที่ 2 พ.ค.2562

โดยนอกจากชายคนดังกล่าวจะอ้างว่าเป็นอธิบดีศาลทุจริตฯ ภาค 8 แล้ว ยังอ้างเป็นเพื่อน ผกก.โชคดี รักษ์วัฒนพงษ์ ผกก.สภ.ทุ่งใหญ่ อีกด้วย จนมีการเผยแพร่คลิปกลายในโซเชียล จนกลายเป็นที่วิพากวิจารณ์อย่างกว้างขวางอยู่ในขณะนี้ กระทั่งเวลาต่อมา พ.ต.อ.โชคดี ได้มีคำสั่งย้าย ส.ต.ต.เอกพล เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ขอดูใบขับขี่ อธิบดีศาลทุจริตฯ ภาค 8 นั้น

เมื่อช่วงคืนวานนี้ (10 พ.ค. 62) พ.ต.อ.โชคดี ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “โชคดี รักษ์วัฒนพงษ์ “ ชี้แจงถึงเรื่องที่เกิดขึ้น โดยระบุว่า

กฎหมายที่ควรรู้ ถ้าท่านอ่านฎีกานี้เข้าใจแล้ว ทุกคนจะรู้ว่าทำไม ผมจึงแก้ปัญหาให้ลูกน้องแบบนั้น เพราะไม่ต้องการให้เขามาฟ้องร้องตำรวจของตัวเองในภายหลัง โดยเฉพาะผู้ที่ถูกตรวจค้นเป็นนักกฎหมาย

แม้ พ.ร.บ.รถยนต์ มาตรา 42 บัญญัติไว้ว่าผู้ขับรถต้องมีใบอนุญาตขับรถในขณะขับ เพื่อแสดงต่อเจ้าพนักงานได้ทันที แต่นั่นมิได้หมายความว่าให้อำนาจเจ้าพนักงานมีอำนาจเรียกตรวจสอบได้ทุกกรณี เจ้าหน้าที่จะเรียกตรวจสอบได้เฉพาะมีเหตุสงสัยเท่านั้น

ตามสิทธิที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ การใช้อำนาจเกินเลยของเจ้าพนักงานย่อมถูกปฏิเสธได้ เทียบตามนับฎีกาที่ 8722/2555 เมื่อไม่มีเหตุอันควรสงสัยตามกฎหมายที่จะทำการตรวจค้นได้ การตรวจค้นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

จำเลยที่ถูกกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงมีสิทธิโต้แย้งและตอบโต้เพื่อปกป้องสิทธิของตนเองตลอดจนเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งใด ๆ อันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบดังกล่าวได้ ”

ทั้งนี้หลังจากข้อความดังกล่าวได้เผยแพร่ออกไปทำให้มีนักกฎหมายเข้ามาแสดงความเห็นโต้แย้งกับข้อความของ พ.ต.อ. โชคดี จำนวนมาก ก่อนที่ท่านจะลบข้อความดังกล่าวออกไปในเวลาต่อมา

ซึ่งนักกฎหมายบางราย ได้แสดงความคิดเห็นว่า “ การที่กฎหมายให้อำนาจเจ้าพนักงานตรวจค้นได้ทันที แต่มิได้หมายความว่าให้อำนาจเจ้าพนักงานมีอำนาจเรียกตรวจสอบได้ทุกกรณี เจ้าหน้าที่จะเรียกตรวจสอบได้เฉพาะมีเหตุสงสัยเท่านั้น

ตามสิทธิที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เท่านั้น คือต้องมีเหตุอันควรสงสัย และเหตุอันควรเชื่อว่า ซึ่งเหตุอันควรสงสัย – เหตุอันควรเชื่อเป็นหลักการครอบจักรวาล และเป็นอำนาจและดุลยพินิจไม่มีขีดจำกัด ขัดหลักสิทธิเสรีภาพของประชาชน

สถานการณ์การตรวจค้นยานพาหนะของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในทางกฎหมายถือว่าเป็นการค้นในที่สาธารณะ เพราะมีลักษณะเป็นการจำกัดเสรีภาพของบุคคลในการเคลื่อนไหวร่างกายมากกว่าเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์โดยปกติสุข

ดังนั้นการค้นในลักษณะนี้จึงไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องขอหมายค้นจากศาล อย่างไรก็ดี แม้ว่าการเรียกหรือสั่งให้รถหยุดเพื่อตรวจค้น จะทำได้โดยมิต้องมีหมายจากศาล ซึ่งพนักงานตำรวจก็อาจกระทำการด้วยการตั้งด่านตรวจค้นได้

แต่เจ้าพนักงานตำรวจผู้ค้นต้องควรให้ความสำคัญกับองค์ประกอบของกฎหมายที่บัญญัติว่า การค้นนั้นต้องมี ‘ความจำเป็น’กล่าวคือมี ‘เหตุอันควรสงสัย’ หรือ ‘มีเหตุอันควรสงสัยตามสมควร’ และการตรวจค้นยานพาหนะต้องไม่เป็นการกระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้การรับรองเอาไว้

ต่อมาได้มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้การป้องกันปราบปรามยาเสพติดให้โทษมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 ในมาตรา 49 ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจตรวจค้นบุคคล ยานพาหนะได้

และในพระราชบัญญัติป้องกันปราบปรามยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2519 (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2545 ในมาตรา 14 ก็ให้อำนาจกรรมการ เลขาธิการ รองเลขาธิการและเจ้าพนักงาน มีอำนาจตรวจค้นบุคคล ยานพาหนะใด ๆ ที่มีเหตุอันควรสงสัยตามสมควรว่ามียาเสพติดซุกซ่อนอยู่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ได้เช่นกัน

ในขณะที่มีคนหนึ่ง กล่าวว่า ในทางปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจที่ผ่าน ๆ มา เมื่อมีการใช้หลักกฎหมายอย่างเคร่งครัดประชาชนที่ได้รับผลกระทบก็มองว่าเป็นการกระทำที่สร้างความเดือดรอน ส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพ นำมาสู่ปัญหาการกระทบกระทั่งระหว่างประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติมาตลอด

ในปัจจุบันในการปฏิบัติจึงต้องใช้หลักนิติศาสตร์ รัฐสาสตร์ รวมทั้งหลักพุทธศาสตร์มาใช้ควบคู่กันไปบนพื้นฐานของการเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน ตำรวจต้องมีประสบการณ์ มีวิจารณญาณ ไหวพริบควบไปด้วย

ซึ่งในกรณีอย่างนี้หากยกข้อระเบียบกฎหมายมาเป็นบรรทัดฐานอย่างเดียวก็จะมองว่าตำรวจปฏิบัติหน้าที่ถูกต้อง เข้มแข็ง แต่ อธิบดี อวดเบ่ง ไม่ยอมให้ตรวจค้น

แต่ในทางตรงข้ามที่มีการปฏิบัติจริง ๆ อย่าว่า แต่อธิบดีเลย แค่ปลัดอำเภอ นายอำเภอ ปลัดจังหวัด รองผู้ว่า ฯ ผู้ว่า ผู้กำกับ ผู้การ ฯ หรือผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เมื่อผ่านด่าน ส่วนใหญ่ตำรวจก็จะยกเว้นการตรวจค้นหรือขอดูใบขับขี่

คงดูไม่เหมาะสมถ้าตำรวจตั้งด่านแล้วตรวจค้น หรือขอดูใบขับรถผู้ว่า ฯ ที่เขาแสดงตัวตนให้ทราบแล้ว แต่ตำรวจก็ไม่ยอมจะต้องตรวจค้น หรือขอดูใบขับขี่ให้ได้ มันเหมือนการไม่ให้เกียรติกัน ที่เจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยจะกระทำกับพ่อเมืองถึงขนาดนั้น

และเชื่อว่าทั่วประเทศก็ปฏิบัติในลักษณะการให้เกียรติซึ่งกันและกันอย่างนี้ทั้งนั้น เพราะเชื่อว่าบรรดาข้าราชการระดับสูงคงไม่มีสิ่งผิดกฎหมาย เช่น ยาเสพติดซุกซอนไว้ในรถแน่ ๆ ตำรวจจึงจะอยู่ร่วมกันในสังคมของแต่ละพื้นที่ได้ และการปฏิบัติในการตั้งด่านก็ใช่ว่าจะต้องเรียกตรวจค้น ขอดูใบขับขี่รถทุกคัน เป็นเพียงการสุ่มตรวจหรือตรวจรถต้องสงสัยเท่านั้น

และการตั้งด่านก็มีหลายประเภท โดยมีวัตถุประสงค์ของการตั้งด่านนั้น ๆ จึงเน้นตรวจค้นรถต้องสงสัย บุคคลต้องสงสัยหรือบุคคลเป้าหมาย เช่น ในกรณีการตั้งด่านเพื่อตรวจค้นยาเสพติดและอาวุธปืน ก็จะตรวจสอบ ตรวจค้นรถและบุคคลตามเป้าหมายเป็นหลัก

ไม่มีด่านไหนตรวจค้นรถทุกคันที่ผ่านแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ และหากเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ผ่านด่านก็มีการบอกกล่าวแสดงตนว่าเป็น ผู้ว่า ฯ ผู้กำกับ ผู้การ เป็นต้น

ทางปฏิบัติตำรวจที่ตั้งด่านจะทำการตรวจค้นอีกไหม ในกรณีท่านอธิบดี ฯ ท่านนี้ท่านก็แสดงตน แนะนำตัว ไม่ถึงกับการอวดเบ่งอะไรมากมาย สังคมไทยต้องยอมรับแนวทางการปฏิบัติเช่นนี้

แต่กลายเป็นว่าผู้หลักผู้ใหญ่กลับดัดจริตยึดตามกระแส แต่หากตัวเองโดนตำรวจตั้งด่านไม่ให้เกียรติ เรียกตรวจค้น ขอดูใบขับขี่จริง ๆ ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองทุกท่านจะรับสภาพได้ไหม ” นักกฎหมายกล่าวย้ำ

นอกจากนี้ยังมีการหยิบยกความเหมาะสมกรณีที่สื่อมวลชนบางสังกัดสัมภาษณ์ พ.ต.อ.โชคดี รักษ์วัฒนพงษ์ ผกก.สภ.ทุ่งใหญ่ แบบตั้งธงเอาเป็นเอาตาย รุกไล่ เพื่อให้ ผกก.จนมุมไปไม่ได้ ไปไม่ถูก จนทาง ผกก.ไม่มีช่วงจังหวะที่จะพูดอธิบายข้อเท็จจริง
ซึ่งในความเป็นจริงควรให้โอกาส ผกก.ชี้แจงเต็มที่

ส่วนใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อตามที่ชี้แจงเป็นเรื่องของผู้บริโภคสื่อ ไม่ใช่ซักถามรุกไล่ จับผิดทุกวิถีทางเหมือนตำรวจจับฆาตกรคดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญ สื่อบางคนใช่ว่าจะบริสุทธิ์ผุดผ่องอะไรนักหา หากโดนใครสักคนสอบถามแบบไล่บี้ในลักษณะเดียวกันจะทำหรือตอบอย่างไร

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า สำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรทั้งสองนาย ยังคงปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ และมีประชาชนใน อ.ทุ่งใหญ่ และใกล้เคียงที่ขับรถผ่าน สภ.ทุ่งใหญ่ ต่างเข้าไปชื่นชมและให้กำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา

ขณะที่ตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นาย รวมทั้ง ทั้ง ผบก.ภ.จว.นครศรีธรรมราช และ ผกก.โชคดี ได้ยุติการให้สัมภาษณ์ และเคลื่อนไหวที่เกี่ยวกับเหตุการณ์นี้แล้ว