หนานจิง, 30 พ.ย. (ซินหัว) — คณะนักวิทยาศาสตร์จีนพบฟอสซิลไทรโลไบต์ (Trilobite) ที่มีสัณฐานวิทยาส่วนหัวผิดปกติ และมีอายุย้อนหลังไปราว 500 ล้านปีก่อน ในมณฑลซานตงทางตะวันออกของจีน
สถาบันธรณีวิทยาและบรรพชีวินวิทยาหนานจิง สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ระบุว่า ไทรโลไบต์ความยาว 4 เซนติเมตรดังกล่าวมีชื่อว่า ‘แฟนทาสปิส ออริทุส’ (Phantaspis auritus) มีเอกลักษณ์คือส่วนหน้าของศีรษะที่ยื่นออกมาเป็น 2 แฉกคล้ายหูกระต่าย
อนึ่ง ไทรโลไบต์ คือกลุ่มฟอสซิลของสัตว์ขาปล้องในทะเลที่สูญพันธุ์ไปแล้ว โดยโครงกระดูกภายนอกของมันจะมีหินปูนเกาะหนา สัตว์ชนิดนี้เคยอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากในมหาสมุทรเมื่อประมาณ 520-250 ล้านปีก่อน
การค้นพบไทรโลไบต์ที่โดดเด่นชิ้นนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทราบข้อมูลเชิงลึกใหม่ๆ เกี่ยวกับช่วงสัณฐานวิทยาและรากฐานโครงสร้างลักษณะเฉพาะส่วนหัวในไทรโลไบต์ยุคแคมเบรียน
“นับเป็นครั้งแรกที่เราได้เห็นไทรโลไบต์หน้าตาแปลกๆ เช่นนี้ รูปร่างส่วนหัวที่แปลกประหลาดของมันอาจทำให้ศัตรูตามธรรมชาติงงงวย หรือทำให้พวกมันหาอาหารได้ง่ายขึ้น” จ้าวฟางเฉิน นักวิจัยจากสถาบันกล่าว
อนึ่ง การศึกษาข้างต้นได้รับการตีพิมพ์ในวารสารแอกตา พาเลนโทโลจิกา โพโลนิกา (Acta Palaeontologica Polonica) เมื่อเร็วๆ นี้
ที่มา – ซินหัว