ประเด็นน่าสนใจ
- มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ประกาศถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาล
- ระบุว่า ไม่สามารถร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ต่อไปได้
- เนื่องจากไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหา มีการใช้อำนาจมาเพียงพอแล้ว สร้างความแตกแยกในบ้านเมือง ความดีที่มีอยู่แทบไม่เหลือแล้ว
- นำปัญหาขึ้นไปสู่การหมิ่นเบื้องสูง ซึ่งตนเองรับไม่ได้
- ยืนยัน ตนเองมีความจงรักภักดีต่อสถาบัน และซื่อสัตย์ต่อประชาชน
วันนี้ (25 พ.ย.) นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ ได้ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ้กส่วนตัว ประกาศถอนตัวออกจากพรรคร่วมรัฐบาล ของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
โดย นายมงคลกิตติ์ ได้ระบุว่า ในช่วงที่ผ่านมา พรรคไทยศรีวิไลย์ ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งทั้งหมด 223 เขต ได้คะแนนกว่า 6 หมื่นคะแนน ภายใต้ รธน.ปี 60 ซึ่งในขณะนั้นคิดว่า น่าจะเป็น รธน. ที่พอไปได้ เพราะทุกคนอยากให้มีการเลือกตั้ง
หลังจากผ่านการเลือกตั้งจบ เหตุผลของการเข้าร่วมรัฐบาลในครั้งแรกนั้น ก็หวังว่า จะเป็นการยุติปัญหา การใช้ ม. 44 ของ คสช. ได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง สามารถท้วงติงได้
หลังจากนั้น พรรคไทยศรีวิไลย์ ได้ถอนตัวออกมาเป็นพรรคฝ่ายค้านอิสระ ด้วยความอึดอัดส่วนตัว นำไปสู่การคัดค้านในประเด็นการจัดซื้อเครื่องบินของการบินไทย ถือว่า ช่วยประหยัดงบไปได้กว่า 1 แสนล้าน
ส่วนการตัดสินใจกลับเข้าไปร่วมกับรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง เหตุผลคือ รบ.ในขณะนั้น ไม่มีเสถียรภาพ และตนเองเห็นว่า รัฐบาลก็ไม่ได้กระทำผิดอะไรมากมายนัก ยังไม่มีความแตกแยกในบ้านเมือง จึงตัดสินใจเข้าร่วมพรรคฝ่ายรัฐบาลอีกครั้ง ก่อนที่ต้นปี 2563 ที่ผ่านมา เริ่มคุกรุ่น มีความแตกแยกต่าง ๆ มากขึ้น ก่อนกระแสจะเบาไปในช่วงที่โควิด-19 ระบาด
หลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 เบาลง ปัญหาการเมืองมีการประท้วง มีเรียกร้อง 3 ข้อด้วยกัน โดยเฉพาะประเด็นการปฏิรูปสถาบันฯ นั้นเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน
จากการชุมนุมที่เกิดขึ้น นำไปสู่การประกาศ สถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง การสลายการชุมนุม การปะทะกันของมวลชนทั้งสองฝ่าย นำไปสู่ความแตกแยกมากขึ้น โดยรัฐบาลมีความพยายามปกป้องตัวเอง โดยอ้างประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน จนข้อเรียกร้องที่เกิดขึ้นไปไกลกว่า รัฐบาลแล้ว
วันนี้ ชัดเจนแล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นต้นตอของปัญหาที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการนโยบายที่เอื้อต่อนายทุน ที่มีการเปิดช่องทางให้มีการปล่อยเช่าพื้นที่ สปก. เพื่อจัดตั้งโรงงานต่าง ๆ ได้ ทั้ง ๆ ที่ สปก. ควรเป็นของประชาชนผู้ยากไร้ ในขณะเดียวกัน เงินที่กู้มาก็ใช้ในการแจก
นอกจากนี้ รัฐบาลไม่มีความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะห่วง-กังวลในอำนาจของตนเอง สุดท้ายสิ่งที่เกิดขึ้น นำไปสู่ปัญหา ความแตกแยกในสังคม ซึ่งตนเองมองไม่เห็นทางออกของปัญหาจะจบลงได้
จึงขอถอนตัว เพื่อไม่ให้คะแนนเสียงของตนเอง ใช้เป็นช่องทางของอำนาจของรัฐบาลพล.อ. ประยุทธ์ ปราบปรามประชาชน ไม่ว่าจะเป็นช่องทางใดก็ตาม รวมถึงการใช้ ม. 112 ด้วย ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ ลอยตัวอยู่เหนือปัญหา ไม่ลงไปเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุม
ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลเพียงบางส่วนที่ตนเองจำเป็นต้องตัดสินใจถอนตัวออกจากรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ เนื่องจากไม่สามารถบอกให้นายกฯ ลาออกได้