เนื่องด้วยปัจจุบันประเทศไทยมีการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและขยายตัวมาอย่างต่อเนื่อง จึงเกิดความต้องการด้านแรงงานเพิ่มขึ้น ประกอบกับปัจจุบันแรงงานไทยมีอยู่อย่างจำกัด ทำให้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการ แรงงานต่างด้าวจึงเป็นอีกทางเลือกที่สามารถมาทดแทนได้
โดยส่วนใหญ่แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยจะเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกัน คือ พม่า ลาว และกัมพูชา ทั้งนี้ส่วนใหญ่เข้ามาประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม ประมง คนรับใช้ กรรมกร หรืออาชีพที่มีความเสี่ยง
ซึ่งอาชีพเหล่านี้จะหาแรงงานไทยทำค่อนข้างยาก หรืออาจจะหาได้แต่ต้องจ่ายค่าแรงสูงและเงื่อนไขการทํางานที่มีมากขึ้น ผู้ประกอบการจึงต้องหาแรงงานต่างด้าวเพื่อทดแทนในตําแหน่งที่แรงงานไทยไม่ทํา จึงทำให้ทุกวันนี้เกิดปัญหาการลักลอบขนย้ายแรงงาน หรือมีการหลบหนีเข้ามาทำงานกันเป็นจำนวนมาก
โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคมที่ผ่านมา กรมการจัดหางานได้เดินหน้ากวนขันตรวจสอบแรงงานต่างด้าวแย่งอาชีพคนไทย และสามารถจับกุมแรงงานต่างด้าวดำเนินคดีได้กว่า 300 คน อีกทั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม ยังสามารถจับกุมเจ้าหน้าที่ขับรถขนส่งไปรษณีย์ ลักลอบขนแรงงานต่างด้าวชาวพม่าเชื้อสายฮินดู 13 ราย เพื่อนำไปส่งที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
โดย กรมการจัดหางาน ได้เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2562 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 – 7 พฤษภาคม 2562 กรมการจัดหางานได้ตรวจสอบการทำงานของแรงงานต่างด้าวไปแล้ว 1,229 คน เป็นงานเร่ขายสินค้า 701 คน งานขายของหน้าร้าน 501 คน และงานอื่นๆ ได้แก่ พนักงานรักษาความปลอดภัย วินมอเตอร์ไซต์ นวดแผนไทย และเสริมสวย จำนวน 27 คน
ซึ่งพบการกระทำผิดและได้ดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวไปแล้ว 378 คน เป็นสัญชาติเมียนมามากที่สุด รองลงมาเป็นเวียดนาม ลาว กัมพูชา อินเดีย จีน 2 คน และอื่นๆ ทั้งนี้ ได้ดำเนินการผลักดันส่งกลับแรงงานต่างด้าวแล้ว จำนวน 211 คน คิดเป็นเงินค่าปรับรวม 1,055,000 บาท
คนต่างด้าวในประเทศไทย
คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานในประเทศไทย ตามพระราชกำหนดการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ.2559 แบ่งเป็นกลุ่มต่างๆ ดังนี้
1. คนต่างด้าวตลอดชีพ ได้แก่ คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 322 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515
2. คนต่างด้าวมาตรา 59 ประเภททั่วไป คนต่างด้าวที่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร หรือได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามกฎหมาย ว่าด้วยคนเข้าเมืองโดยมิใช่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในฐานะนักท่องเที่ยว หรือผู้เดินทางผ่าน และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
3. คนต่างด้าวมาตรา 59 พิสูจน์สัญชาติ(เดิม) คนต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชาที่หลบหนีเข้าเมืองได้รับการผ่อนผันให้ทำงานและอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ตามมติคณะรัฐมนตรีซึ่งได้ผ่านการพิสูจน์สัญชาติและปรับสถานการณ์เข้าเมืองถูกกฎหมายเรียบร้อยแล้ว
4. คนต่างด้าวมาตรา 59 นำเข้าตาม MOU คนต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียตนาม ที่เข้ามาทำงานตามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลประเทศต้นทาง
5. คนต่างด้าวมาตรา 62 ประเภทส่งเสริมการลงทุน คนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน (พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520) หรือกฎหมายอื่น ได้แก่ พระราชบัญญัตินิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยพ.ศ.25 2 2 และพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.2514 เช่น นักลงทุน ช่างฝี มือ ผู้ชำนาญการ
6. คนต่างด้าวมาตรา 63 ประเภทชนกลุ่มน้อย คนต่างด้าวที่ไม่ได้รับสัญชาติไทยตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ และกระทรวงมหาดไทยได้ออกเอกสารเพื่อรอพิสูจน์สถานะยื่นขอใบอนุญาตทำงาน
7. คนต่างด้าวมาตรา 64 คนต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา ที่เข้ามาทำงานบริเวณชายแดนในลักษณะไป – กลับ หรือตามฤดูกาลในพื้นที่ความตกลงว่าด้วยการสัญจรข้ามแดนระหว่างราชอาณาจักรไทย กับประเทศที่ติดกับราชอาณาจักรไทย
8. คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (เมียนมา ลาว กัมพูชา) หมายถึง แรงงานที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ในตำแหน่งกรรมกร หรือคนรับใช้ในบ้าน ตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจ้างแรงงานระหว่างประเทศไทยกับประเทศเมียนมา ลาว กัมพูชา เพื่อทดแทนแรงงานไทยที่ขาดแคลน รวมถึงแรงงานที่ลักลอบเข้าเมืองได้รับการปรับสถานะเป็นเข้าเมืองถูกกฎหมายได้รับอนุญาตทำงาน
สถิติการทำงานของคนต่างด้าว
เดือนกุมภาพันธ์ 2562 รวมทั้งหมด 3,293,819 คน
- แรงงานประเภทฝีมือ 163,644 คน
- ตลอดชีพ 241 คน
- ชนกลุ่มน้อย 65,480 คน
- แรงงานประเภททั่วไป 3,064,454 คน
เดือนมกราคม 2562 รวมทั้งหมด 3,288,079 คน
- แรงงานประเภทฝีมือ 162,906 คน
- ตลอดชีพ 241 คน
- ชนกลุ่มน้อย 66,978 คน
- แรงงานประเภททั่วไป 3,057,954 คน
เดือนธันวาคม 2561 รวมทั้งหมด 3,315,714 คน
- แรงงานประเภทฝีมือ 161,059 คน
- ตลอดชีพ 241 คน
- ชนกลุ่มน้อย 68,613 คน
- แรงงานประเภททั่วไป 3,085,801 คน
เดือนพฤศจิกายน 2561 รวมทั้งหมด 3,389,746 คน
- แรงงานประเภทฝีมือ 160,175 คน
- ตลอดชีพ 241 คน
- ชนกลุ่มน้อย 68,231 คน
- แรงงานประเภททั่วไป 3,161,099 คน
เดือนตุลาคม 2561 รวมทั้งหมด 3,308,891 คน
- แรงงานประเภทฝีมือ 158,716 คน
- ตลอดชีพ 241 คน
- ชนกลุ่มน้อย 66,483 คน
- แรงงานประเภททั่วไป 3,083,451 คน
ข้อดีข้อเสียการใช้แรงงานต่างด้าว
จากการสอบถามอดีตนายจ้างร้านคาร์แคร์ ให้ข้อมูลว่า ตนเองเคยทำธุรกิจคาร์แคร์และตัดสินใจจ้างแรงงานต่างด้าวแบบถูกกฎหมายเข้ามาทำงาน โดยยอมรับว่าแรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่จะผ่านงานหนักมาพอสมควร ข้อดีจึงมีความขยันค่อนข้างสูงและเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา อีกทั้งยังสามารถแนะนำหรือตำหนิได้หากมีความไม่เข้าใจในงาน รวมถึงยังมีความยืดหยุ่นในการทำงานทั้งเรื่องของเวลาหรือหน้าที่ต่างๆ ซึ่งเขาจะทำงานนอกเหนือจากหน้าที่ของตนเองได้
แรงงานต่างด้าวบางรายจะมีข้อเสียอยู่บ้าง โดยจะเปลี่ยนงานบ่อยและจะออกจากงานแบบกระทันหันไม่บอกกล่าว หรือบางรายที่เจ้าของกิจการเคยพบเจอจะมีปัญหาเรื่องของการขโมยทรัพย์สิน แต่ทั้งนี้ในข้อเสียของแรงงานต่างด้าวนั้นจะอยู่ที่ตัวบุคคลมากกว่า ซึ่งนายจ้างบางคนก็เจอแรงงานต่างด้าวที่ดีและอยู่ทำงานกันได้ยาวนาน
ขณะที่เจ้าของกิจการอีกรายได้ให้ข้อมูลว่า ตนเองประกอบกิจการขายหมูปิ้งซึ่งจ้างแรงงานที่เป็นคนไทยมาโดยตลอด ส่วนใหญ่จะเลือกแรงงานไทยที่เป็นคนกรุงเทพฯ และไม่มีครอบครัวเพื่อหลีกเลี่ยงการลา เนื่องจากตนเองไม่มีลูกจ้างสำรองหากลาแล้วจึงต้องปิดร้านด้วย โดยปัญหาที่พบชัดมากคือเรื่องค่าแรงที่ค่อยข้างสูงซึ่งต่างจากแรงงานต่างด้าวมาก
โดยตนจ้างถึงวันละ 450 บาท ในขณะที่บริเวณร้านค้าใกล้เคียงจ้างแรงงานต่างด้าวเพียงวันละ 300 บาท ทั้งนี้ตนเลือกที่จะจ่ายสูงเนื่องจากต้องการให้เป็นแรงจูงใจในการทำงาน และหลีกเลี่ยงปัญหาการลักทรัพย์ของลูกจ้าง ต้องยอมรับว่าแรงงานไทยที่ตนเองจ้างบางรายจะรู้มากจึงทำให้เรื่องมากกว่าต่างด้าว อีกทั้งจะไม่ค่อยฟังคำพูดนายจ้าง
มองว่าแรงงานต่างด้าวมีความอดทนใช้แรงได้คุ้มกับค่าจ้าง แต่ปัญหาขณะนี้ส่วนตัวมองว่านายจ้างต้องแบกรับภาระเรื่องของค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียน การทำพาสปอร์ต อีกทั้งต้องแบกรับความเสี่ยงว่าเมื่อจ่ายไปแล้วเขาจะหนีเราหรือไม่ หลายๆ ครั้งที่เห็นข่าวต่างด้าวหลบหนีเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งนายจ้างเองรู้สึกกังวลเรื่องดังกล่าวด้วย
อ้างอิงข้อมูล