สดร. ชวนติดตาม “ดาวเคียงเดือน” ปลาย พ.ค.นี้ ดาวพฤหัสบดีเคียงดวงจันทร์สองทุ่มถึงรุ่งเช้า และ 22-23 พ.ค. ดาวเสาร์เคียงดวงจันทร์สี่ทุ่มถึงรุ่งเช้า สังเกตได้ด้วยตาเปล่าทั่วประเทศ
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. เปิดเผยว่า ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2562 จะเกิดปรากฏการณ์ “ดาวเคียงเดือน” ดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ปรากฏบนท้องฟ้าเคียงดวงจันทร์ ซึ่งสังเกตได้ด้วยตาเปล่าทั่วประเทศ ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2562 “ดาวพฤหัสบดีปรากฏเคียงดวงจันทร์” สังเกตได้ตั้งแต่เวลา 20.30 น. เป็นต้นไป
บริเวณขอบฟ้าทางตะวันออกเฉียงใต้ ห่างประมาณ 2 องศา และจะปรากฏใกล้กันที่สุดเวลาประมาณ 23.50 น. ห่างเพียง 1.3 องศา จากนั้นจะค่อยๆ ขยับห่างออกจากกันสังเกตได้ตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า และวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 “ดาวเสาร์ปรากฏเคียงดวงจันทร์” เริ่มสังเกตได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 22.20 น. เป็นต้นไป
ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ห่างประมาณ 2.8 องศา และจะปรากฏใกล้กันมากที่สุดประมาณ 1 องศา ในช่วงรุ่งเช้าของวันที่ 23 พฤษภาคม 2562 ผู้สนใจสามารถรอชมความสวยงามของปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือนดังกล่าว โดยสามารถดูได้ด้วยตาเปล่าทั่วประเทศ
ทั้งนี้ ปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือน ถือเป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำ เนื่องจากดวงจันทร์และดาวเคราะห์เปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ ตามคาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์ ดังนั้นการที่ดวงจันทร์และดาวเคราะห์ปรากฏบนท้องฟ้าในทิศเดียวกัน หรือเคลื่อนที่มาอยู่ในตำแหน่งใกล้เคียงกันจึงถือเป็นเรื่องปกติ
นายศุภฤกษ์ กล่าวปิดท้ายว่า หลังจากนี้โลกจะโคจรเข้าใกล้ดาวเคราะห์ทั้งสองมากขึ้นเรื่อยๆ ดาวพฤหัสบดีจะอยู่ในตำแหน่งใกล้ โลกที่สุดในรอบปี วันที่ 10 มิถุนายน 2562 และดาวเสาร์จะอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในรอบปี วันที่ 9 กรกฎาคม 2562 ส่งผลให้ดาวเคราะห์ทั้งสองมีขนาดปรากฏใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และจะสามารถสังเกตการณ์ได้ยาวนานขึ้นตลอดทั้งคืน