พรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย สูตรจัดตั้งรัฐบาล สูตรจัดตั้งรัฐบาล 2 ขั้ว เลือกตั้ง62

สูตรจัดตั้งรัฐบาล 2 ขั้ว!! พรรคเพื่อไทย VS พรรคพลังประชารัฐ

ใครจะได้เป็นรัฐบาล? แม้การเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ผ่านไปแล้ว และคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ได้ประกาศจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรออกมาแล้วด้วยเช่นเดียวกัน ทำให้บรรดาพรรคการเมืองต่างออกมาประกาศจุดยืน แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่า ใครจะได้เป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลตัวจริง โดยขณะนี้มี 2 ขั้วพรรคการเมือง…

Home / NEWS / สูตรจัดตั้งรัฐบาล 2 ขั้ว!! พรรคเพื่อไทย VS พรรคพลังประชารัฐ

ประเด็นน่าสนใจ

  • จำนวนที่นั่งส.ส. ล่าสุดฝั่งพปชร. อยู่ที่ 137 เสียง ซึ่งหากรวมกับอีก 116 เสียงที่เหลือจะได้ รบ. ปริ่มน้ำ ที่ 253 เสียงในสภา
  • ส.ส. ฝั่งเพื่อไทย-อนาคตใหม่ รวมกันอยู่ที่ 245 เสียง หากรวมกับส่วนที่ยังไม่ประกาศจุดยืนจะได้ 361 เสียง ซึ่งมีเสถียรภาพดี แต่ต้องลุ้นผลการโหวตเลือกนายกฯ
  • ประกาศเปิดสมัยประชุมสภา วันที่ 22 พ.ค. ซึ่งคาดว่า อาจจะมีการนัดประชุมสภาเพื่อเสนอชื่อประธานสภาต่อไป

ใครจะได้เป็นรัฐบาล?

แม้การเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ผ่านไปแล้ว และคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ได้ประกาศจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรออกมาแล้วด้วยเช่นเดียวกัน ทำให้บรรดาพรรคการเมืองต่างออกมาประกาศจุดยืน แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่า ใครจะได้เป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลตัวจริง

โดยขณะนี้มี 2 ขั้วพรรคการเมือง ที่ประกาศเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาล ขั้วแรกคือ พรรคเพื่อไทย ที่มีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และพรรคพลังประชารัฐ ที่ได้ยื่นแคนดิเดตนายกฯ คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพียงคนเดียว

ขั้วพรรคเพื่อไทย

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2562 พรรคเพื่อไทยประกาศเจตนารมณ์จัดตั้งรัฐบาลร่วมกันกับอีก 6 พรรคการเมือง พร้อมกับลงสัตยาบันร่วมกันในการหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของ คสช. จึงแสดงเจตนารมณ์ไว้ร่วมกัน โดยคุณหญิงสุดารัตน์ ยืนยันว่า จะทำตามสัญญาประชาคม และเจตนารมณ์ของประชาชนที่ได้เลือกพวกตนมา

ฝั่งพรรคเพื่อไทยมีที่นั่ง ส.ส.รวม 245 ที่นั่ง

# พรรค ส.ส.แบบแบ่งเขต ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ รวม
1 เพื่อไทย 136 0 136
2 อนาคตใหม่ 30 50 80
3 เสรีรวมไทย 0 10 10
4 ประชาชาติ 6 1 7
5 เพื่อชาติ 0 5 5
6 พลังปวงชนไทย 0 1 1
7 เศรษฐกิจใหม่ 0 6 6

ขั้วพรรคพลังประชารัฐ

วันที่ 13 พฤษภาคม 2562 พรรคการเมืองขนาดเล็ก จำนวน 11 พรรค แถลงจุดยืนเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ พร้อมหนุน พลเอก ประยุทธ์ จันโอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย โดยให้เหตุผลว่าต้องการให้ประเทศเดินหน้า และได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

ฝั่งพรรคพลังประชารัฐ มีที่นั่ง ส.ส.รวม 137 ที่นั่ง

# พรรค ส.ส.แบบแบ่งเขต ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ รวม
1 พลังประชารัฐ 97 18 115
2 พลังประชาชาติไทย 1 4 5
3 ประชาภิวัฒน์ 0 1 1
4 ไทยศรีวิไลย์ 0 1 1
5 พลังไทยรักไทย 0 1 1
6 ครูไทยเพื่อประชาชน 0 1 1
7 ประชานิยม 0 1 1
8 ประชาธรรมไทย 0 1 1
9 ประชาชนปฎิรูป 0 1 1
10 พลเมืองไทย 0 1 1
11 ประชาธิปไตยใหม่ 0 1 1
12 พลังธรรมใหม่ 0 1 1
13 ไทรักธรรม 0 1 1
14 ประชาชนปฏิรูป 0 1 1
  • วันที่ 15 พ.ค.2562 นายดำรงค์ พิเดช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย เปิดเผยว่า พรรคตัดสินใจเข้าร่วมทำงานกับฝั่งพรรคพลังประชารัฐ เพราะต้องการทำงานด้านป่า โดยพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย มี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 2 ที่นั่ง
  • วันที่ 16 พ.ค.2562 นายชื่นชอบ คงอุดม โฆษกพรรคพลังท้องถิ่นไท ยืนยันพรรคจะร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ และโหวตเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

ขั้วที่ยังไม่แสดงจุดยืน

มีกระแสข่าวออกมาว่า อาจจะมีขั้วที่ 3 ในการจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้ เนื่องจากขณะนี้ยังคงมี 2 พรรคการเมืองใหญ่ที่ยังไม่ประกาศจุดยืนอย่างแน่ชัดว่าจะเข้าร่วมฝ่ายใด

วันที่ 13 พฤษภาคม 2562 นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เปิดเผยว่า พรรคยังไม่พูดคุยกับใครเรื่องจัดตั้งรัฐบาล ส่วนการที่พรรคพลังประชารัฐ บอกว่าเราไปอยู่กับเขาแล้ว ขอบอกว่า เป็นเพียงข่าวลือเท่านั้น ตนบอกให้ลูกพรรคลงพื้นที่ขอบคุณประชาชน และรับฟังเสียงของประชาชน ซึ่งเป็นคนที่เลือกเรามา เราจะได้ทราบว่า ประชาชนอยากให้เราเดินหน้าอย่างไร

โดยพรรคจะมีการประชุมเรื่องนี้อีกครั้งในวันที่ 20 พฤษภาคม และพรรคจะมีท่าทีที่ชัดเจนขึ้น ในเรื่องจะให้กลุ่มขั้วที่สามตั้งรัฐบาล เราต้องให้ขั้วที่ 1 ที่ 2 จัดตั้งกันไปก่อน จากประสบการณ์ คงไม่มาถึงพรรคอันดับ 4 อันดับ 5 เมื่อถามว่ามีการทาบทามจากพรรคอนาคตใหม่หรือไม่ นายอนุทิน ตอบว่า ยังไม่มีการทาบทามจากใครทั้งสิ้น

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ทางนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า การจะเข้าร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลขึ้นอยู่กับมติของคณะผู้บริหารพรรค

พรรคการเมืองขั้วที่ยังไม่แสดงจุดยืนจะเลือกข้างฝ่ายใด

(ตัวแปรสำคัญ) มีที่นั่ง ส.ส.รวม 116 ที่นั่ง

# พรรค ส.ส.แบบแบ่งเขต ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ รวม
1 ประชาธิปัตย์ 33 19 52
2 ภูมิใจไทย 39 12 51
3  ชาติไทยพัฒนา 6 4 10
4 ชาติพัฒนา 1 2 3

ทำอย่างไรถึงจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี

การจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ได้ จะต้องมีเสียงสนับสนุนอย่างน้อย 376 เสียง โดยมาจาก

  1. ส.ส.ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ 250 คน เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา
  2. ส.ส. และ ส.ว.ทั้งหมด ลงมติด้วยคะแนนเสียง 2 ใน 3 หรือ 500 คนจาก 750 คน
    ( ส.ส. จำนวน 500 คน และ ส.ว. อีก 250 คน)

จะเห็นได้ว่า ส.ว.เป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญในเส้นทางสู่เก้าอี้นายกฯ เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 ได้เขียนบทเฉพาะกาลไว้ในมาตรา 272 ให้ ส.ว. ทั้ง 250 คน มีสิทธิ์ในการร่วมโหวตเลือกนายกฯ ได้ด้วย

นั่นหมายความว่า ผู้มีสิทธิ์โหวตเลือกนายกฯ คือ ส.ส. จากการเลือกตั้ง 500 คน และ ส.ว. จากการแต่งตั้งอีก 250 คน รวมแล้ว 750 คน ผู้ที่จะเป็นนายกฯ ได้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ จะต้องได้เสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่งของสภาร่วมของ ส.ส. และ ส.ว. หรือต้องได้เสียงสนับสนุนอย่างน้อย 376 เสียงจาก จำนวนเต็ม 750 เสียงของสองสภาฯ

ฝั่งพรรคเพื่อไทย มี ส.ส. ที่รวมกับพรรคการเมืองอื่นที่สนับสนุนตนแล้ว 245 ที่นั่ง แต่ก็ยังขาดเสียงสนับสนุนอีก 131 เสียง และหากพรรคการเมืองขั้วที่ยังไม่แสดงจุดยืน ให้การสนับสนุนฝั่งนี้ ก็จะได้ ส.ส.สนับสนุน 361 ที่นั่ง

แต่ท้ายที่สุดแล้ว ก็ยังไม่สามารถปลดล็อก ส.ว.ได้ เพราะพรรคเพื่อไทย ยังต้องการเสียงจาก ส.ว.อีก 15 เสียง เพื่อให้ได้มาซึ่งเสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่งของสภาร่วมของ ส.ส. และ ส.ว. หรือต้องได้เสียงสนับสนุนอย่างน้อย 376 เสียง

พรรคเพื่อไทย + พรรคการเมืองขั้วที่ยังไม่แสดงจุดยืน

รัฐบาลเสียงข้างน้อย !!

ส่วนพรรคพลังประชารัฐ มี ส.ส. ที่รวมกับพรรคการเมืองอื่นที่สนับสนุนตนแล้วมี 137 ที่นั่ง ขาดเสียงสนับสนุนอีก 239 เสียง หากพรรคการเมืองขั้วที่ยังไม่แสดงจุดยืน จำนวน 116 ที่นั่ง ให้การสนับสนุนฝั่งนี้ ก็จะได้ ส.ส.รวม 253 ที่นั่ง พรรคพลังประชารัฐต้องการเสียงสนับจาก ส.ว.อีก 123 เสียง ก็จะได้เสียงสนับสนุนไม่น้อย 376 เสียง เกินกึ่งหนึ่งของสภาร่วมของ ส.ส. และ ส.ว.

หากกรณีที่พรรคพลังประชารัฐ ได้รับการสนับสนุนจากขั้วพรรคการเมืองขั้วที่ยังไม่แสดงจุดยืนในขณะนี้ จะได้ ส.ส.รวม 253 ที่นั่ง และถ้า ส.ว. 250 เสียง ยกมือโหวตให้ ก็สามารถเป็นนายกฯ ได้เลย

แต่เมื่อพลเอกประยุทธ์ ขึ้นเป็นนายกฯ ท้ายที่สุดอาจเกิดปัญหาตามมาได้ เนื่องจากการพิจาณาพระราชบัญญัติ หรือการบริหารราชการแผ่นดินอีกหลายอย่าง ที่สภาสูง (ส.ว.)ไม่ได้อยู่ในขั้นตอนที่จะร่วมลงคะแนนเห็นชอบได้ เช่น การแถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎร การพิจารณาพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งต้องได้รับเสียงเห็นชอบจาก ส.ส. มากถึง 250 คนขึ้นไป จะทำได้ยากขึ้น

เรียกได้ว่า 253 เสียงที่ให้การสนับสนุนนั้น จะขาดใครไปไม่ได้เลย หรือเพียงแค่อีกฝ่ายหนึ่งยื่นขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพียงเท่านี้ สถานการณ์ของการเป็น รัฐบาลเสียงข้างน้อย ก็อาจจะกลายเป็นหอกข้างแคร่ ที่ถูกหยิบขึ้นมาสั่นคลอนตำแหน่ง นายกฯ ได้ไม่ยาก

พรรคพลังประชารัฐ + พรรคการเมืองขั้วที่ยังไม่แสดงจุดยืน

กำหนดเปิดประชุมสภา

เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2562 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชกฤษฎีกา เรียกประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2562 ความว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่ได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 แล้ว และตามความในมาตรา 121 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาภายในสิบห้าวันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นการเลือกตั้งทั่วไป โดยให้ถือเป็นวันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 121 มาตรา 122 และมาตรา 175 ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป พระราชกฤษฎีกา ระบุ

และการประชุมรัฐสภาในครั้งนี้ เป็นการประชุมร่วมกันของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เพื่อเลือกประธานรัฐสภา และรองประธานรัฐสภา ก่อนนำทูลเกล้าฯ แต่งตั้ง เพื่อจะได้เรียกประชุมรัฐสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรี