กฎหมาย กรมการขนส่งทางบก ตรวจวัดควันดำ

ขนส่งออกประกาศ กำหนดมาตรฐานควันดำใหม่ ไม่จำกัดประเภทเชื้อเพลิง

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้ออกประกาศ เรื่อง กำหนดเกณฑ์มาตรฐานและวิธีการตรวจวัดค่าควันดำจากท่อไอเสียของรถ ตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก พ.ศ. 2562 เพื่อแก้ไขปัญหาการตรวจวัดควันดำ เพื่อให้ครอบคลุมรถที่ใช้เครื่องยนต์ด้วยพลังงานต่างๆ อย่างครบถ้วน เนื้อหาได้ระบุ ถึงความจำเป็นว่า…

Home / NEWS / ขนส่งออกประกาศ กำหนดมาตรฐานควันดำใหม่ ไม่จำกัดประเภทเชื้อเพลิง

ประเด็นน่าสนใจ

  • มีการเปลี่ยนนิยามจากรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซล เป็นไม่ระบุชนิดของเชื้อเพลิง ทำให้เครื่องยนต์ที่ใช้พลังงาน NGV, LPG, เบนซิน หากค่าควันดำสูงเกินมาตรฐาน ก็จะมีความผิด
  • ระดับค่าควันดำในการตรวจวัดควันดำยังอยู่ในเกณฑ์เดิม

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้ออกประกาศ เรื่อง กำหนดเกณฑ์มาตรฐานและวิธีการตรวจวัดค่าควันดำจากท่อไอเสียของรถ ตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก พ.ศ. 2562 เพื่อแก้ไขปัญหาการตรวจวัดควันดำ เพื่อให้ครอบคลุมรถที่ใช้เครื่องยนต์ด้วยพลังงานต่างๆ อย่างครบถ้วน

เนื้อหาได้ระบุ ถึงความจำเป็นว่า ในปัจจุบันมีรถยนต์ที่หันไปใช้พลังงานอื่นๆ เช่น NGV, LPG กันมากขึ้น ทำให้กฎกระทรวงเดิม ที่ประกาศไว้ในการตรวจวัดควันดำมาตราฐาน คือ เครื่องยนต์ดีเซล เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ทำให้เกิดปัญหาในทางกฎหมายขึ้น จึงได้ออกประกาศฉบับใหม่ออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเปลี่ยนจากเดิมคือ

II.
ว่าด้วยเครื่องประเภทรถยนต์

โดยในประกาศฉบับเก่าและใหม่ นั้นมีความต่างกันอยู่ตรงที่การนิยามคำว่า “รถยนต์” เป็นคำว่า “รถ” เพียงอย่างเดียว โดยไม่มีคำว่า เครื่องยนต์ดีเซลแล้ว ดังนั้นรถที่ใช้พลังงานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น NGV, LPG ก็จะเข้านิยามนี้ด้วยเช่นกัน

ของเดิม ปี 2541 :
รถยนต์ หมายความว่า รถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล แต่ไม่รวมถึงรถจักรยานยนต์ รถแทรกเตอร์ รถบดถนน และรถใช้งานเกษตรกรรม

ประกาศใหม่ ปี 2562:
“รถ” หมายความว่า รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน 1 มาตรฐาน 2 มาตรฐาน 3 มาตรฐาน 4 มาตรฐาน 6 มาตรฐาน 7 รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ 1 ลักษณะ 2 ลักษณะ 3 ลักษณะ 4 ลักษณะ 5 ลักษณะ 9 และรถขนาดเล็ก ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2524) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522

II.
ค่าควันดำจากท่อไอเสีย

ในประกาศฉบับเก่าและใหม่ ได้กำหนดกฎเกณฑ์ค่าควันดำจากท่อไอเสียไว้ ในข้อ 3-4 ของกฎกระทรวงถึงการตรวจวัดค่าควันดำ โดยระบุเครื่องยนต์ดีเซล ทั้งในขณะเครื่องยนต์ไม่มีภาระ (ติดเครื่องจอดสนิท) และ ขณะเครื่องยนต์มีภาระ ( เร่งเครื่อง) ไว้ แต่ในประกาศฉบับล่าสุด ถอดคำว่า “เครื่องยนต์ดีเซล” ออกไป และใช้คำว่า “รถที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัด” แทน ดังนั้นไม่ว่าเครื่องยนต์จะใช้พลังงาน NGV, LPG หรือน้ำมันเบนซิลก็จะเข้าเกณฑ์ตามประกาศนี้ด้วย

ของเดิม พ.ศ. 2541 :
ข้อ 3 ค่าควันดำจากท่อไอเสียรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลในขณะเครื่องยนต์ไม่มีภาระต้องไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนดไว้ดังต่อไปนี้
(1) ค่าควันดำสูงสุดไม่เกินร้อยละ 45 ที่ระยะความยาว ของทางเดินแสงมาตรฐานและระยะความยาวคลื่นแสงมาตรฐาน เมื่อตรวจวัดด้วยเครื่องวัดควันดำแบบทึบแสง
(2) ค่าควันดำสูงสุดไม่เกินร้อยละ 50 เมื่อตรวจวัดด้วยเครื่องมือวัดควันดำระบบกระดาษกรอง

ของใหม่ พ.ศ. 2562 :
ข้อ 3 ค่าควันดำจากท่อไอเสียของรถขณะเครื่องยนต์ไม่มีภาระต้องเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน ดังต่อไปนี้
(1) รถที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัดต้องไม่เกินเกณฑ์ร้อยละ 45 ที่ระยะความยาว ของทางเดินแสงมาตรฐานและระยะความยาวคลื่นแสงมาตรฐาน เมื่อตรวจวัดด้วยเครื่องตรวจวัดควันดำระบบความทึบแสง
(2) รถที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัดต้องไม่เกินเกณฑ์ร้อยละ 50 เมื่อตรวจวัดด้วยเครื่องตรวจวัดควันดำระบบกระดาษกรอง

ของเดิม พ.ศ. 2541 :
ข้อ 4 ค่าควันดำจากท่อไอเสียรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลในขณะเครื่องยนต์มีภาระและอยู่บนเครื่องทดสอบ ต้องไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ดังต่อไปนี้
(1) ค่าควันดำสูงสุดไม่เกินร้อยละ 35 ที่ระยะความยาว ของทางเดินแสงมาตรฐานและระยะความยาวคลื่นแสงมาตรฐาน เมื่อตรวจวัดด้วยเครื่องวัดควันดำแบบทึบแสง
(2) ค่าควันดำสูงสุดไม่เกินร้อยละ 40 เมื่อตรวจวัดด้วยเครื่องมือวัดควันดำระบบกระดาษกรอง

ของใหม่ พ.ศ. 2562 :
ข้อ 4 ค่าควันดำจากท่อไอเสียของรถขณะเครื่องยนต์มีภาระและอยู่บนเครื่องทดสอบต้องเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน ดังต่อไปนี้
(1) รถที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัดต้องไม่เกินเกณฑ์ร้อยละ 35 ที่ระยะความยาว ของทางเดินแสงมาตรฐานและระยะความยาวคลื่นแสงมาตรฐาน เมื่อตรวจวัดด้วยเครื่องตรวจวัดควันดำระบบความทึบแสง
(2) รถที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัดต้องไม่เกินเกณฑ์ร้อยละ 40 เมื่อตรวจวัดด้วยเครื่องตรวจวัดควันดำระบบกระดาษกรอง

ดังนั้น จากประกาศฉบับใหม่นี้ จะเห็นว่า ไม่ได้มีการจำกัดเครื่องยนต์ว่าจะต้องเป็นเครื่องยนต์ดีเซลเพียงอย่างเดียวเท่านั้น คาดว่า น่าจะเป็นปัญหาหลังจากการตรวจวัดควันดำเมื่อครั้งที่มีปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ที่ทำให้รถยนต์หลายคันไม่ถูกนิยามอยู่ในข้อกฎหมายนี้นั่นเอง

โดยประกาศฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ใน 120 วัน นับตั้งแต่วันที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา หรือในวันที่ 14 กันยายน 2562