กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เห็นด้วยกับการนำร่างซีอุย ออกจากพิพิธภัณฑ์ศิริราช ชี้หากผู้กระทำผิดได้รับโทษแล้ว ถือว่าความผิดสิ้นสุด การจัดแสดงโชว์ถือเป็นการละเมิดสิทธิ
นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. กล่าวถึงกระแสล่ารายชื่อ นำร่างสตาฟของนายซีอุย แซ่อึ้ง ออกจากการจัดแสดงโชว์ในพิพิธภัณฑ์ศิริราช คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ล้างฉายามนุษย์กินคน โดยแสดงความเห็นด้วย หากจะมีการทบทวนเรื่องดังกล่าว เพราะมองว่า เมื่อผู้เสียชีวิตได้รับโทษ ก็ถือว่าความผิดสิ้นสุดลงแล้ว ไม่มีสิทธิ์ไปลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จึงไม่ทราบเหตุผลถึงการจัดแสดงร่างสตาฟ
ดังนั้น หากจะดำเนินการเรื่องนี้ ก็อาจมีการตั้งคณะกรรมการศึกษาว่า เหตุใดหลังถูกประหาร จึงไม่นำร่างนายซีอุย ไปประกอบพิธีตามศาสนา หรือถูกปฏิบัติเหมือนศพนักโทษประหารรายอื่น โดยกรณีของซีอุย อาจมีญาติที่ต้องการนำร่างไปประกอบพิธีทางศาสนา แต่ไม่กล้าปรากฏตัว เพราะกลัวการโจมตีจากสังคม
นางอังคณา มองอีกว่า ช่วงที่เกิดคดีซีอุย ซึ่งเป็นเวลากว่า 60 ปีมาแล้ว ในสมัยนั้น ประเทศไทยไม่ได้เป็นภาคีอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ และรัฐธรรมนูญไทย ยังไม่ได้ระบุเรื่องการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตามหลักสิทธิมนุษยชน แต่ปัจจุบันไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญา ด้านสิทธิมนุษยชนกับต่างประเทศ หลายฉบับ จึงถือเป็นเรื่องดีที่จะมีการทบทวนกรณีแสดงร่างของนายซีอุย
ขณะเดียวกัน มองว่า การล่ารายชื่อผ่านเว็บไซต์ change.org เป็นการจุดประกายความคิด, ท้าทายสิ่งที่สังคมเชื่อ หรือตั้งคำถามถึงการแสดงร่างสตาฟ ซึ่งเปรียบเหมือนคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กับซีอุย
จากการตรวจสอบของทีมข่าว พบรายงานว่า มีหนึ่งในผู้เสียหาย ที่เคยถูกลักพาตัวไปในเหตุการณ์นี้ แล้วรอดชีวิตมาได้ พร้อมยืนยันว่า ซีอุยไม่ใช่ผู้ที่จับตัวไป และสามารถบอกเล่าถึงลักษณะของผู้กระทำผิดตัวจริงได้ ซึ่งปัจจุบัน ผู้เสียหายรายนี้ ยังมีชีวิตอยู่ และมีอายุ 74 ปี แต่เมื่อทีมข่าวพยายามติดต่อขอเข้าสัมภาษณ์ผู้รอดชีวิตรายนี้ เพื่อเล่าย้อนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็ได้รับการปฏิเสธจากครอบครัว โดยให้เหตุผลว่า มีอายุที่มากแล้ว