ประเด็นน่าสนใจ
- หมึกเรืองแสงได้เพราะติดเชื้อโรค
- หากจะรับประทานควรทำให้สุก หรือหลีกเลี่ยง เพราะทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยเกี่ยวกับทางเดินอาหารได้
จากกรณีที่เกิดเป็นที่วิพากวิจารณ์อย่างกว้างขวาง หลังมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ภาพและข้อความตั้งข้อสงสัยว่าปลาหมึกที่เขาซื้อมาจากตลาดนั้นอาจเป็นของปลอม เพราะมันสามารถเรืองแสงได้นั้น
วันนี้ (18 พ.ค. 2562) อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาเปิดเผยข้อเท็จจริงถึงเรื่องดังกล่าว ผ่านเพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ว่า ปลาหมึกที่เห็นไม่ใช่ปลาหมึกปลอมตามที่สงสัยแต่อย่างใด ซึ่งสาเหตุของการที่มันสามารถเรืองแสงได้นั้น เป็นเพราะในตัวปลาหมึกมีเชื้อแบคทีเรียอยู่ ซึ่งเชื้อจุลินทรีย์ที่ว่านี่เองที่มันเรืองแสง
“หมึกเรืองแสง ไม่ใช่หมึกปลอม แต่เป็นหมึกติดเชื้อโรคครับ”
เคสอาหารปลอม มาอีกเคสแล้วครับ คราวนี้เป็นเรื่องปลาหมึกปลอม ซึ่งแปลกกว่าเดิมที่มักจะอ้างว่าเจอหมึกเนื้อแข็งๆ แล้วกลัวว่าจะทำจากยางหรือพลาสติก แต่คราวนี้เป็นหมึกเรืองแสง ! …. ซึ่งมันไม่ใช่หมึกปลอมนะครับ แต่ว่าเป็นหมึกที่มีเชื้อแบคทีเรียอยู่ ซึ่งเชื้อจุลินทรีย์มันเรืองแสงได้ครับ
กรณีนี้จะคล้ายกับเรื่อง “ลูกชิ้นปลาเรืองแสง” ที่เคยเป็นข่าวมาก่อน ซึ่งทาง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) ได้เคยอธิบายว่า อาจเกิดจากการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์แบคทีเรียประเภท Photobacterium phosphoreum ซึ่งสามารถผลิตสารเรืองแสงได้
เชิ้อแบคทีเรียพวกนี้ ได้แก่ Pseudomonas sp., Pseudomonas fluorescens, Vibrio fischeri, Vibrio phosphoreum, Vibrio harveyi, Photobacterium luciferum พบได้ตามแหล่งน้ำทะเลในธรรมชาติ จึงอาจติดมากับอาหารทะเลได้
ถ้าอาหารทะเลนั้น ถูกทำให้สุกด้วยความร้อนแล้ว ก็จะสามารถทำลายแบคทีเรียเหล่านี้ได้ แต่ถ้ายังดิบอยู่หรือไม่ได้ฆ่าเชื้อให้หมด ประกอบกับการเก็บรักษาที่อุณหภูมิไม่เหมาะสม (ควรต่ำกว่า 4 องศาเซลเซียส) ก็จะทำให้จุลินทรีย์เพิ่มจำนวนขึ้นได้ จนทำให้อาหารทะเลนั้นเรืองแสงได้
เชื้อจุลินทรีย์พวกนี้ อาจจะเป็นเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคด้วย จึงต้องระมัดระวังในการนำมารับประทาน เพราะอาจมีอันตรายต่อสุขภาพ เช่น โรคระบบทางเดินอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสียรุนแรง ลำไส้อักเสบ ก็ได้ครับ