กฎหมายทำแท้ง ตั้งครรภ์ ท้องไม่เกิน 3 เดือนทำแท้งได้ ทำแท้ง

ครม.เห็นชอบร่างแก้กฎหมายอาญา ท้องไม่เกิน 3 เดือน ทำแท้งได้

ครม.เห็นชอบ ร่างแก้กฎหมายอาญา ท้องไม่เกิน 3 เดือน ทำแท้งได้ เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพหญิงตั้งครรภ์และทารกในครรภ์

Home / NEWS / ครม.เห็นชอบร่างแก้กฎหมายอาญา ท้องไม่เกิน 3 เดือน ทำแท้งได้

ประเด็นน่าสนใจ

  • ครม.เห็นชอบ ร่างแก้กฎหมายอาญา ท้องไม่เกิน 3 เดือน ทำแท้งได้ เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพหญิงตั้งครรภ์และทารกในครรภ์
  • แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 301 ให้หญิงที่มีอายุครรภ์ “ไม่เกิน 12 สัปดาห์” จากเดิมที่ห้ามหญิงตั้งครรภ์ทำแท้งโดยเด็ดขาด
  • อายุครรภ์ในช่วงดังกล่าว เป็นระยะเวลาที่ปลอดภัยที่สุดในการทำแท้ง ไม่มีความเสี่ยงที่จะทำให้ผู้ทำแท้งเกิดอาการแทรกซ้อนและเป็นอันตรายแก่ชีวิต

วันนี้ (17 พ.ย.63) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ครม. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ตั้งครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ทำแท้งได้ เหตุผลในการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 และ มาตรา 305 คือ

1.หญิงที่มีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แล้วทำแท้ง มีความผิดและต้องรับโทษ เพื่อคุ้มครองสิทธิของหญิงตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ให้เกิดความสมดุลกัน

2.มีความจำเป็นและสมควรต้องทำแท้งหรือยุติการตั้งครรภ์ให้กับหญิง และกำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องทำตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภาเพื่อความปลอดภัยของหญิงตั้งครรภ์ โดย

แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 301 ให้หญิงที่มีอายุครรภ์ “ไม่เกิน 12 สัปดาห์” สามารถทำแท้งได้ จากเดิมที่ห้ามหญิงตั้งครรภ์ทำแท้งโดยเด็ดขาด เนื่องจากเป็นระยะเวลาที่ปลอดภัยที่สุดในการทำแท้ง ไม่มีความเสี่ยงที่จะทำให้ผู้ทำแท้งเกิดอาการแทรกซ้อนและเป็นอันตรายแก่ชีวิต

มีการแก้ไขลดอัตราโทษ เนื่องจากผู้ทำแท้งต้องได้รับความเจ็บปวดทางร่างกายอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องกำหนดโทษสูงอีก

ม.301 หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูกขณะมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หากจำเป็นและสมควรต้องทำแท้งหรือยุติการตั้งครรภ์ให้กับหญิง ผู้กระทำไม่มีความผิด ก็ต่อเมื่อ

(1) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากหากหญิงตั้งครรภ์ต่อไปจะเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายต่อสุขภาพทางกาย หรือจิตใจของหญิงนั้น

(2) จำเป็นต้องทำเนื่องจากหากทารกคลอดออกมาจะมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะได้รับผลกระทบจากความผิดปกติทางกายหรือจิตใจถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง

(3) หญิงมีครรภ์เนื่องจากมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ

(4) หญิงซึ่งมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์

ประโยชน์ของกฎหมายฉบับนี้

  • ส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิของผู้หญิงและชีวิตของทารกในครรภ์อย่างมีดุลยภาพ
  • สร้างความมั่นใจต่อบุคคลากรการทางการแพทย์ในการให้บริการยุติการตั้งครรค์โดยสมัครใจ
  • ลดแรงจูงใจของผู้หญิงในการไปหาหมอเถื่อนเพื่อทำแท้ง ซึ่งผิดกฎหมายและไม่ปลอดภัยต่อชีวิต

ส่วนที่กฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งทารกในครรภ์ที่มีความเสี่ยงที่จะคลอดออกมาแล้วพิการแต่กำเนิด จะช่วยลดภาวะตึงเครียดให้กับครอบครัวที่ไม่มีความพร้อมที่จะเลี้ยงดูบุตรที่มีสภาพพิการได้