พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แก้ไขรัฐธรรมนูญ

‘พิธา’ ยืนยันเดินรับหลักการร่างรธน. ทั้ง 7 ฉบับ

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ย้ำว่า พรรคร่วมฝ่ายค้าน จะรับหลักการทั้งหมด 7 ร่าง และในส่วนของพรรคก้าวไกล จะพยายามผลักดันให้ร่างของไอลอว์เป็นร่างหลัก

Home / NEWS / ‘พิธา’ ยืนยันเดินรับหลักการร่างรธน. ทั้ง 7 ฉบับ

ประเด็นน่าสนใจ

  • พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ย้ำว่า พรรคร่วมฝ่ายค้าน จะรับหลักการทั้งหมด 7 ร่าง และในส่วนของพรรคก้าวไกล จะพยายามผลักดันให้ร่างของไอลอว์เป็นร่างหลัก
  • เพราะเนื้อหาครอบคลุมทุกประเด็น ไม่จำกัดสิทธิเสรีภาพทางการเมือง
  • สุทิน ย้ำว่า สาระของร่างไอลอว์ไม่ได้ติดใจ แต่ห่วงหลักการ 11 ข้อที่เปิดกว้างและไม่มีข้อยกเว้น

วันนี้ (17 พ.ย. 2563) มีการประชุมร่วมรัฐสภา พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมแ โดย 1 ใน 7 ร่าง ที่มีการพูดถึงมากที่สุดคือการร่างของภาคประชาชนที่เสนอโดยไอลอว์ ซึ่งก่อนการประชุมมีความเห็นของแกนนำของฝ่ายค้าน

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ย้ำว่า พรรคร่วมฝ่ายค้าน จะรับหลักการทั้งหมด 7 ร่าง และในส่วนของพรรคก้าวไกล จะพยายามผลักดันให้ร่างของไอลอว์เป็นร่างหลัก เพราะเนื้อหาครอบคลุมทุกประเด็น ไม่จำกัดสิทธิเสรีภาพทางการเมือง

และขอให้สมาชิกรัฐสภาอภิปรายด้วยเหตุด้วยผล อย่าเบี่ยงเบนประเด็นว่าจะมีนักการเมืองฝ่ายค้านได้ประโยชน์จากการแก้รัฐธรรมนูญดังกล่าว โดยยืนยันว่า ร่างของไอลอว์ ไม่มีนัยยะแอบแฝงที่ใครจะได้ประโยชน์ และวันนี้จะพยายามชี้แจงอภิปรายให้เห็นถึงข้อดีของร่างไอลอว์ให้ได้มากที่สุด

ส่วนที่มีหลายคนกังวลว่า ร่างของไอลอว์มีปัญหาเรื่องการแปรญัตติในวาระ 2-3 นั้น นายพิธา กล่าวว่า ตามหลักการแล้วมีมาตรา 150 สามารถยกเว้นข้อบังคับในการแปรญัตติได้ สำหรับกังวลว่าจะมีการยกเลิกองค์กรอิสระนั้น ขอให้มองที่หลักการและเนื้อหา จะทำให้สามัญสำนึกกลับสู่การเมือง

ส่วนท่าทีของวิปรัฐบาลที่ระบุว่า จะรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญร่างที่ 1-2 แต่ขอฟังคำชี้แจงในร่างไอลอว์ก่อนนั้น นายพิธา ระบุว่า หากเห็นด้วยกับหลักการการตั้ง ส.ส.ร.ในร่างที่ 1-2 ของฝ่ายค้านและรัฐบาล ร่างที่ 7 ของไอลอว์ หลักการก็ไม่ต่างกัน หากอยากให้สถานการณ์สามารถคลี่คลาย

อย่างน้อยที่สุดรัฐบาลก็ควรรับหลักการร่างของไอลอว์ด้วย และหากระยะสั้น เกิดอุบัติเหตุทางการเมือง นายกรัฐมนตรีลาออก ก็ควรที่จะมีการรับหลักการในญัตติรายประเด็นมาตรา 272 ด้วย เพื่อตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี แม้ฝ่ายรัฐบาลจะไม่เห็นด้วยทั้งหมด 7 ร่าง แต่หากรับหลักการ 4 ร่าง คือ ร่างที่เสนอให้ตั้ง ส.ส.ร.ตามมาตรา 256 ของฝ่ายค้าน รัฐบาลและ ไอลอว์ รวมถึงร่างที่เสนอแก้ไขมาตรา 272 ก็เชื่อว่า จะทำให้สถานการณ์คลี่คลายขึ้นได้มากกว่าคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์

ด้าน นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน เปิดเผยถึงมติพรรคเพื่อไทย ไม่ยืนตามมติพรรคร่วมฝ่ายค้านที่จะรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 7 ฉบับ เนื่องจากมี ส.ส.เพื่อไทยบางส่วน มีความกังวลเกรงว่าประวัติศาสตร์ปี 2556 จะซ้ำรอย กรณีที่พรรคเคยถูกยื่นศาลรัฐธรรมนูญ

กรณีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเข้าข่ายการล้มล้างการปกครอง จึงกังวลว่าจะถูกเล่นงานเพราะเคยถูกยื่นถอดถอนเอาผิดจากกรณีดังกล่าวมาแล้ว จนถึงขณะนี้คดีก็ยังไม่สิ้นสุด พร้อมย้ำว่าไม่ได้ปฏิเสธร่างไอลอว์ แต่ขอดูทางเทคนิคก่อน ซึ่งหลักการทั้ง 11 ข้อ ก็ตีความกันคนละอย่าง จึงต้องไปดูว่าในวาระ2-3ปรับได้หรือแก้หลักการได้หรือไม่

ทั้งนี้พรรคเพื่อไทยขอฟังการอภิปรายร่างไอลอว์ก่อนว่าจะแก้ทั้งฉบับหรือไม่ และหากไม่มีใครคิดเอาเรื่องหรือจะไปยื่นศาล ส.ส.พรรคก็จะสบายใจโหวตให้ แต่ขณะนี้ก็มีคนจ้องอยู่ เช่น กลุ่มไทยภักดี ที่เตรียมไปยื่น ดังนั้นจึงต้องป้องกันตนเองด้วย

ส่วนกังวลจะเสียมวลชนหรือไม่ นายสุทิน ย้ำว่า นานๆ ทีจะมีร่างฉบับประชาชนเข้ามา เราก็เคารพและอยากให้ได้รับการพิจารณา แม้เราห่วงมวลชนกว่าแสนคนที่เข้าชื่อ แต่เราก็ต้องคำนึงถึงหลักการด้วย ส่วนการสวนมติพรรคร่วมฝ่ายค้านจะกระทบการทำงานหรือไม่ นายสุทิน ระบุว่า มติฝ่ายค้านไม่ได้บังคับกัน มีบางโอกาสหลายครั้งที่บางพรรคจะต้องดำเนินการตามจุดยืนพรรค เช่น อดีตพรรคอนาคตใหม่ เชื่อว่าพรรคร่วมยังเข้าใจกันอยู่

ทั้งนี้นายสุทิน ย้ำว่า สาระของร่างไอลอว์ไม่ได้ติดใจ แต่ห่วงหลักการ 11 ข้อที่เปิดกว้างและไม่มีข้อยกเว้น ต่างจากร่างฉบับ1-2 ของรัฐบาลและฝ่ายค้าน ที่มีจุดยืนชัดเจนไม่แตะหมวด1-2 ตามหลักการเดิมของพรรคเพื่อไทยที่เราเคารพอยู่ อย่างไรก็ตามพรรคเพื่อไทยจะมีการประชุมสรุปท่าทีในวันพรุ่งนี้ (18พ.ย.) เวลา 10.00น.อีกครั้ง