ออสเตรเลีย เลือกตั้ง

ดูความต่างระหว่างการเลือกตั้งออสเตรเลียและไทย

ระบบการเลือกตั้งของออสเตรเลีย ระบบการเลือกตั้งของออสเตรเลียนั้นจะแตกต่างจากบ้านเราอย่างมาก โดยในประเทศไทยนั้น จะเปิดให้เราเลือก ส.ส. ที่เราชอบ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลที่เราชอบในตัวบุคคล หรือ ในตัวของพรรคเอง แต่ในออสเตรเลียนั้นจะเป็นการเลือกที่เรียกว่า Preferential Voting หรือ ระบบการเลือกจัดลำดับความชอบ นอกจากนี้…

Home / NEWS / ดูความต่างระหว่างการเลือกตั้งออสเตรเลียและไทย

ประเด็นน่าสนใจ

  • เลือกตั้งครั้งเดียว ทั้ง ส.ส. และ ส.ว.
  • การไม่มีกากบาท แต่ใช้การเขียนเบอร์เรียงลำดับตามความชอบ
  • กรอกผิด ของบัตรเลือกตั้งใหม่ได้ ทั้งบัตรเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว.
  • ระบบรายงานผลแบบเรียลไทม์ อัปเดตต่อเนื่อง
  • ออสเตรเลียใช้กล่องกระดาษเป็นหีบบัตรเลือกตั้ง

ระบบการเลือกตั้งของออสเตรเลีย

ระบบการเลือกตั้งของออสเตรเลียนั้นจะแตกต่างจากบ้านเราอย่างมาก โดยในประเทศไทยนั้น จะเปิดให้เราเลือก ส.ส. ที่เราชอบ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลที่เราชอบในตัวบุคคล หรือ ในตัวของพรรคเอง แต่ในออสเตรเลียนั้นจะเป็นการเลือกที่เรียกว่า Preferential Voting หรือ ระบบการเลือกจัดลำดับความชอบ

นอกจากนี้ ในการเลือกตั้งนั้น จะเปิดโอกาสให้เราได้เลือก ส.ว. พร้อมกันในคราวเดียวด้วยเช่นกัน

ขั้นตอนการเลือกตั้ง

ขั้นตอนของการเลือกตั้งนั้นก็จะมีขั้นตอนคล้ายๆ กันคือ เดินทางไปยังหน่วยเลือกตั้ง – แสดงตัวกับเจ้าหน้าที่ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะถามยืนยันว่า ท่านได้เลือกตั้งมาหรือยัง ซึ่งหากยังไม่ได้เลือกมาก่อน ก็จะทำการขีดชื่อทิ้ง ออกจากระบบเพื่อกันซ้ำซ้อน ก่อนจะส่งบัตรเลือกตั้ง จำนวน 2 ใบ คือบัตรเลือกตั้ง ส.ส. และบัตรเลือกตั้ง ส.ว. หลังจากได้รับบัตรแล้ว ก็เข้าคูหา กาบัตร ไม่ต่างจากบ้านเราแต่อย่างใด

หีบบัตรเลือกตั้ง ใช้เป็นลังกระดาษ ง่ายๆ

แต่หากไม่สะดวกในการเดินทางไปเลือกตั้งก็ยังมีทางเลือกอื่นๆ ที่คล้ายๆ กับในบ้านเรา แต่ที่ต่างกันเห็นจะเป็นการลงคะแนนผ่านทางโทรศัพท์ นั่นเอง

การกาบัตรเลือกส.ส.

ในการกาบัตรนั้นจะแตกต่างจากบ้านเราอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากระบบการเลือกตั้งของออสเตรเลียนั้นเป็นการเลือกตามลำดับความชอบ ดังนั้นผู้ที่ไปออกเสียงจะต้องกาบัตรเลือกตั้ง โดยเรียงลำดับตามความชอบของตนลงไป ตั้งแต่ 1 – 8 ให้ครบทุกช่อง ต่างจากบ้านเราที่จะใช้กากบาท ในเบอร์หรือพรรคที่ชอบ แต่หากเป็นบัตรเลือกตั้งของออสเตรเลียแล้ว การกากบาท หรือทำเครื่องหมายอื่นใด นอกจากการกรอกเลขตามลำดับ จะถือว่า เป็นบัตรเสียทันที

ตัวอย่างบัตรเลือกตั้ง ส.ส. ของออสเตรเลีย ที่จะให้กรอกลำดับความชอบลงไปแทนการกากบาท

หากท่านชอบใครมาก ก็ใส่หมายเลข 1 ชอบใครน้อยกว่า ก็ให้หมายเลข 2 เรียงลำดับไปตามความชอบนั้น ซึ่งบัตรเลือกตั้งของออสเตรเลีย จะไม่มีช่อง “ไม่ประสงค์ลงคะแนน” แต่อย่างใด

เปิดทางเลือก ส.ว. มากกว่า 1 แบบ

สำหรับบัตรเลือกตั้ง ส.ว. นั้นจะต่างไปจากบัตรเลือกตั้ง ส.ส. โดยจะมีความต่างตรงที่จะให้ผู้ออกเสียงเลือก เรียงลำดับความชอบได้ 2 แบบ คือ เลือกพรรค หรือ เลือกที่ตัวบุคคล โดยทั้งสองแบบจะรวมกันอยู่ในบัตรใบเดียว แต่จะเลือกกากได้แบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น เช่น หากท่านตัดสินใจเลือกแบบ เลือกพรรค ก็จะต้องกรอกหมายเลข 1-6 ให้กับพรรคมากสุดถึงน้อยสุดเรียงกันไป (คล้ายกับการเลือก ส.ส.) แต่ถ้าตัดสินใจเลือกที่คน ก็ให้กรอกหมายเลขเรียงลำดับ บุคคลที่ชอบมากที่สุด ไล่ตามลำดับความชอบไป

บัตรเลือกตั้ง ส.ว. ของออสเตรเลีย ที่เลือกแบบ “เลือกพรรค” โดยให้กรอกเลขเรียงตามลำดับความชอบ
ในกรณีที่ตัดสินใจเลือก ส.ว. แบบบุคคล ก็ให้กรอกหมายเลข 1-12 หน้าคนที่ชอบ

ซึ่งในกรอกหมายเลขนั้น หากกรอกไม่ครบ เช่น การเลือก ส.ส. ให้กรอกเรียงลำดับ 1-8 แต่เราเลือกกรอกไปแค่ 1-7 และเว้นว่างไว้ ช่วงที่ว่างจะถูกระบุเป็น 8 ทันที แต่ในกรณีที่กรอกหมายเลขลำดับซ้ำกันเช่น มีลำดับที่ 2 ซ้ำกัน 2 ช่อง จะถือเป็นบัตรเสีย

ดังนั้น บัตรเสียจึงเกิดได้ 2 กรณีคือ การทำเครื่องหมายอื่นๆ นอกจากหมายเลขที่กำหนด และ การกรอกเบอร์ซ้ำกัน

แน่นอนว่า ด้วยความยุ่งยากในการกาบัตร เรียงลำดับ อาจจะมีการกรอกผิด หรือตัดสินใจผิดได้ ดังนั้น ไม่ต้องกังวลไป คณะกรรมการการเลือกตั้งเปิดให้คุณสามารถ “ขอบัตรเลือกตั้งใหม่ได้” ในกรณีที่กรอกผิด ทั้งบัตรเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว.

การนับคะแนน

วิธีการนับคะแนนของออสเตรเลียนั้นไม่ง่าย เราจะคุ้นเคยกับ การนับหมายเลขที่ถูกเลือกว่า ถูกเลือกไปเท่าไหร่ แต่ในระบบเลือกตั้งแบบเรียงลำดับความชอบนี้ จะให้ความสำคัญกับผู้ที่ได้คะแนนเสียงข้างมาก แบบชนะเด็ดขาดเป็นหลัก ดังนั้น

ในการนับคะแนนจะแบ่งเป็นรอบๆ โดยรอบแรกจะทำการนับคะแนนเพื่อหาผู้ชนะเด็ดขาด ที่ได้คะแนนเสียงเกิน กึ่งหนึ่งก่อน เช่น ในหน่วย มีผู้ลงคะแนนเสียง 20 คน ดังนั้น เกินกึ่งหนึ่งคือ 11 คะแนน นั่นหมายความว่า เมื่อเปิดหีบมาทำการนับคะแนน โดยหากพบว่า ผู้สมัครคนใด ถูกเลือกในลำดับที่ 1 ( กรอกเลข 1 ให้) ได้คะแนน 11 เสียง ก็จะชนะไป แต่ถ้าผู้ที่ได้ลำดับที่ 1 ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ก็จะทำการนับคะแนนในรอบถัดไป

การนับคะแนนในรอบที่ 2 นั้น จะทำการตัด ผู้สมัคร ที่ได้คะแนนน้อยที่สุด ในการนับคะแนนรอบแรกออกไป เช่น นาย ง. มีคนเลือกเป็นลำดับที่ 1 เพียง 2 คะแนน (จาก 10 – ได้น้อยสุด) จะทำการตัดคะแนนนาย ง. ออกไป และดูว่า ในบัตรที่เลือกนาย ง. จำนวน 2 ใบ เลือกใครเป็นลำดับที่ 2 ก็จะนำคะแนนไปบวก ให้กับ ผู้สมัครรายอื่น ที่ถูกเลือกเป็นลำดับที่ 2 แทน

ซึ่งหาก นับคะแนนในรอบ 2 แล้ว ยังไม่มีผู้ชนะเด็ดขาด คือได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่ง ก็จะทำการนับในรอบ 3 ต่อไป โดยตัดคะแนนผู้ที่ได้คะแนนน้อยที่สุดในแบบเดียวกับการนับคะแนนรอบที่ 2 เพื่อหาผู้ชนะเด็ดขาด

การรายงานผลคะแนน

ในการเลือกตั้งในครั้งนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งของออสเตรเลียมีหน้าเว็บที่รายงานผลการนับคะแนนให้ผู้ที่สนใจเข้าดู-ติดตามผลการเลือกตั้งได้แบบสดๆ ว่าการนับคะแนนไปถึงไหนแล้ว มีความคืบหน้า กี่ % และใครนำอยู่

ลองเข้าชมหน้าเว็บรายงานผลการเลือกตั้งของออสเตรเลียได้ที่
https://tallyroom.aec.gov.au/HouseDefault-24310.htm

บรรยากาศสบายๆ BBQs กินกันใกล้ๆ หน่วยเลือกตั้งได้เลย