PM 2.5 ฝุ่นละออง ฝุ่นละออง PM 2.5

กระทรวงสาธารณสุข ออก 5 มาตรการ รองรับผลกระทบจากฝุ่นละออง PM 2.5

กระทรวงสาธารณสุข ออก 5 มาตรการ สำคัญรองรับผลกระทบจากฝุ่นละออง PM 2.5 พร้อมเรียกประชุมหน่วยงานในสังกัด 5 จังหวัดปริมณฑล ที่ได้รับผลกระทบบูรณาการทำงาน ใช้มาตรการดูแลสุขภาพประชาชนในทิศทางเดียวกัน เน้นเฝ้าระวังดูแลสุขภาพประชาชนใกล้ชิด เชิงรุกแนะนำวิธีการป้องกันตนเอง ผ่านสื่อทุกช่องทาง…

Home / NEWS / กระทรวงสาธารณสุข ออก 5 มาตรการ รองรับผลกระทบจากฝุ่นละออง PM 2.5

กระทรวงสาธารณสุข ออก 5 มาตรการ สำคัญรองรับผลกระทบจากฝุ่นละออง PM 2.5 พร้อมเรียกประชุมหน่วยงานในสังกัด 5 จังหวัดปริมณฑล ที่ได้รับผลกระทบบูรณาการทำงาน ใช้มาตรการดูแลสุขภาพประชาชนในทิศทางเดียวกัน เน้นเฝ้าระวังดูแลสุขภาพประชาชนใกล้ชิด เชิงรุกแนะนำวิธีการป้องกันตนเอง ผ่านสื่อทุกช่องทาง

วันนี้ (25 มกราคม 2562) ที่กระทวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยแพทย์หญิงอัมพร เบญจพล รองอธิบดีกรมอนามัยและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์ชัยพร พรมสิงห์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ร่วมประชุมมาตรการสำคัญในการดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในพื้นที่ปริมณฑล

ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดเขตปริมณฑล 5 จังหวัด ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี ศูนย์อนามัยที่ 4 สระบุรี ศูนย์อนามัยที่ 5 ราชบุรี ศูนย์อนามัยที่ 6 ชลบุรี สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 4 สระบุรี สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 ราชบุรี สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 ชลบุรี ใช้มาตรการกระทรวงสาธารณสุขในการบูรณาการแผนดำเนินงานในแต่ละพื้นที่ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

นายแพทย์สุขุมกล่าวว่า ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่กทม.และปริมณฑลยังมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ในวันนี้ได้ออกมาตรการเน้นหนัก ให้จังหวัดในเขตปริมณฑลพร้อมดำเนินการ 5 มาตรการ ได้แก่

1.ติดตามสถานการณ์ ประเมินความเสี่ยง กลุ่มเสี่ยง พื้นที่เสี่ยงทุกวัน

2.เฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น หอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด หากเจ็บป่วยเฉียบพลันรีบไปพบแพทย์

3.สื่อสารแจ้งเตือนประชาชน พร้อมให้คำแนะนำการปฏิบัติตน

4.ลงพื้นที่ให้ความรู้ สร้างความตระหนักเรื่องฝุ่นและการป้องกันตนเองในกลุ่มเสี่ยงในสถานที่ต่างๆ ได้แก่ โรงเรียน สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ รวมทั้งเผยแพร่สนับสนุนสื่อประชาสัมพันธ์ ชุดความรู้ในการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจาก PM 2.5 ให้กับประชาชนในทุกช่องทาง

5.เตรียมความพร้อมสถานพยาบาล จัดคลินิกเฉพาะโรค และจัดสายด่วนให้คำปรึกษา

นายแพทย์สุขุม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ได้รับผลกระทบติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เฝ้าระวังดูแลสุขภาพประชาชนอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ทำงานเชิงรุกออกให้คำแนะนำวิธีการป้องกันตนเอง ผ่านสื่อทุกช่องทาง

ทั้งสื่อหลักและสื่อโซเชียล กรณีปริมาณฝุ่นสูงขึ้นจนถึงค่าวิกฤต จำเป็นต้องนำ พ.ร.บ.สาธารณสุขมาใช้จะอยู่ในอำนาจการตัดสินใจของผู้ว่าราชการจังหวัดหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งการประกาศหยุดเรียน การงดกิจกรรมออกกำลังกายกลางแจ้งให้อยู่ในดุลยพินิจของพื้นที่

และที่ผ่านมา หน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินงานเชิงรุก อาทิ ในกทม.ได้ลงพื้นที่หลายแหล่ง สร้างความเข้าใจในการปฏิบัติตน และแจกหน้ากากอนามัย พร้อมทั้งแนะนำการใส่หน้ากากที่ถูกต้อง เช่น โรงเรียน สถานีตำรวจ ด่านการทางพิเศษ เป็นต้น ที่ศูนย์อนามัยที่ 5 ราชบุรี สอนให้ประชาชนทำหน้ากากอนามัย สอนการสวมหน้ากากอนามัยที่ถูกต้องแก่ครู – นักเรียน สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 4 สระบุรี ออกคัดกรองพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพประชาชน แจกหน้ากากอนามัย

ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรคโทร. 1422 หรือติดตามข้อมูลการดูแลตนเองจากเว็บไซต์กรมอนามัย www.anamai.moph.go.th โดยคลิ๊กไปที่หัวข้อ “ภัยสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5”