หลังจากดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีมาอย่างยาวนานเกือบ 5 ปี เต็ม เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ได้จัดเลี้ยงอาหารกลางวันสื่อมวลชนเพื่อเป็นการอำลาตำแหน่ง ซึ่งการพูดคุยในวันนั้นเองล้วนแล้วแต่มีนัยยะสำคัญทางการเมือง ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ที่จุดสิ้นสุดในครั้งนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต
17 พฤษภาคม ที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ถอดสูทด้วยลุคสบายๆ เดินลงจากตึกไทยคู่ฟ้า มาพบปะ พูดคุย รับประทานอาหารกลางวัน กับสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล เพื่อเป็นการอำลาตำแหน่ง หลังเตรียมสิ้นสุดวาระลงตามรัฐธรรมนูญทันที หากมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่เกิดขึ้น
ระยะเวลาเกือบ 5 ปี เต็มที่ พลเอกประยุทธ์ อยู่ในตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี แน่นอนว่า ได้มีการพบปะให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเป็นประจำ แต่ในการพบกันครั้งนี้ พลเอกประยุทธ์ มีท่าทีที่ผ่อนคลายและเป็นกันเองกว่าทุกครั้งที่ผ่าน
นอกจากนี้ พลเอกประยุทธ์ ยังตอบทุกคำถามของสื่อมวลชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอนาคตทางการเมือง หรือจะเป็นเรื่องภายในครอบครัว ที่ไม่เคยเปิดเผยให้ใครทราบว่า ทุกคนในบ้านอยากให้วางมือทางการเมือง ในวงสัมภาษณ์ ครั้งนี้ อีกหนึ่งท่าที ที่ทุกฝ่ายจับตาคือ การจัดตั้งรัฐบาล ที่พลเอกประยุทธ์ ตอบคำถามอย่างไม่กังวล และแสดงความมั่นใจว่า จะมีโอกาสเข้าสู่ตำแหน่งนี้อีกครั้ง หากการต่อรองเก้าอี้ต่างๆ กับพรรคร่วมรัฐบาลลงตัว
และแน่นอนว่าหาก พลเอกประยุทธ์ กลับสู่ตำแหน่งสูงสุดทางการเมือง อาจมีชื่อของสองพี่ใหญ่ บูรพาพยัคฆ์ อย่าง พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ และพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา นั่งในตำแหน่ง รัฐมนตรีกลาโหม และรัฐมนตรีมหาดไทย อีกครั้ง เพราะเป็นพี่น้องที่ไว้ใจกันมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่รับราชการทหา
สำหรับการกลับคืนสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พลเอกประยุทธ์ นั้น คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 27 พฤษภาคม นี้ หลังมีการเลือกประธาน ส.ว. และ ประธาน ส.ส. เพื่อเปิดประชุมร่วมสองสภา เริ่มขั้นตอนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ถึงแม้ พลเอกเอกประยุทธ์ จะออกตัวว่า ไม่สามารถ ควบคุมเสียงของ สว. 250 คนได้ แต่ชื่อของพลเอกประยุทธ์ ก็ยังคงเป็นเต็งหนึ่งแบบไร้คู่แข่ง ดังนั้น การอำลาในครั้งนี้ อาจไม่ใช่จุดสิ้นสุด แต่จะเป็นจุดเริ่มต้น การเข้ารับตำแหน่งทางการเมืองจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอีกครั้ง