โรคซิฟิลิส

เร่งควบคุม ‘โรคซิฟิลิส’ หลังระบาดหนักในกลุ่มวัยรุ่น พบแล้ว 3,080 ราย

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยถึงสถานการณ์ของโรคซิฟิลิส ขณะนี้ว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-13 พ.ค. 2562 พบผู้ป่วย 3,080 ราย ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ…

Home / NEWS / เร่งควบคุม ‘โรคซิฟิลิส’ หลังระบาดหนักในกลุ่มวัยรุ่น พบแล้ว 3,080 ราย

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยถึงสถานการณ์ของโรคซิฟิลิส ขณะนี้ว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-13 พ.ค. 2562 พบผู้ป่วย 3,080 ราย ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 15-24 ปี ซึ่งเป็นสัญญาณถึงการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยของกลุ่มวัยรุ่น วัยเรียน และวัยเจริญพันธุ์ เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ จึงได้สั่งการให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ของโรคในพื้นที่อย่างใกล้ชิด รวมถึงประสานสถานศึกษาให้ความรู้เรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการป้องกันโรค

ทั้งนี้ ขอแนะนำให้ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง และสวมถุงยางอนามัยให้ถูกวิธี เพื่อลดความเสี่ยงในการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย เจาะเลือดเพื่อตรวจคัดกรองซิฟิลิสและเอชไอวีอย่างสม่ำเสมอ สำหรับหญิงตั้งครรภ์ต้องเข้ารับการฝากครรภ์ในระยะที่กำหนดและรับการตรวจคัดกรองโรคซิฟิลิสพร้อมสามี เพื่อป้องกันและลดโอกาสการแพร่เชื้อของโรค

ภาพประกอบ ลำยอง จากละคร ทองเนื้อเก้า

โดยสามารถขอข้อมูลการป้องกันตนเอง และคู่ให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอดส์ การใส่ถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธี ได้ที่สายด่วนปรึกษาเอดส์ โทร.1663 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรคโทร.1422

อย่างไรก็ตาม ซิฟิลิสเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือได้รับเลือดจากผู้ติดเชื้อ ซึ่งผู้ป่วยจะทราบว่าติดเชื้อต่อเมื่อได้รับการตรวจเลือด แม่ที่ติดเชื้อซิฟิลิสแล้วไม่ได้รับการรักษาอาจส่งผลถึงทารกในครรภ์ได้ ซึ่งปี 2562 พบเด็กแรกคลอดป่วยซิฟิลิสถึง 249 ราย

—————————————————————————————————————————————————

อาการของโรคซิฟิลิส

ซิฟิลิสระยะแรก

แผลริมแข็ง ตุ่มแดง ขอบนูนแข็ง ไม่เจ็บ มักเกิดบริเวณอวัยวะเพศชาย อัณฑะ ทวารหนัก ช่องคลอด หรือ ริมฝีปาก หลังจากรับเชื้อประมาณ 10-90 วัน จะเป็นแผลประมาณ 1-5 สัปดาห์ แล้วจะหายไปเองโดยไม่ได้รักษา

ระยะที่สอง

จะเกิดผื่นในช่วงที่แผลริมแข็งหายไป 2-3 สัปดาห์ ลักษณะผื่นมีสีแดง หรือสีน้ำตาล ไม่คัน มักพบบริเวณฝ่าเท้า ฝ่ามือ มีไข้ ผมร่วงเป็นหย่อมๆ ต่อมน้ำเหลืองโต เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ ไม่มีแรง อาการเหล่านี้จะเป็นอยู่ประมาณ 1-3 เดือน แล้วจะค่อยๆหายเอง

ระยะแฝงและระยะท้าย

เชื้อจะไม่แสดงอาการจนผ่านไปแล้ว 10-20 ปี จะเข้าสู่ระยะหลังเชื้อซิฟิลิสจะค่อยๆทําลายอวัยวะภายในของร่างกาย เช่น สมอง เส้นประสาท ตา หัวใจ เส้นเลือด กระดูก ทำให้ตาบอดและอาจถึงขั้นเสียชีวิต

การรักษาโรคซิฟิลิส

สามารถรักษาโรคซิฟิลิสได้โดยการฉีดยาฆ่าเชื้อเข้ากล้ามเนื้อเพียงครั้งเดียวสำหรับผู้ที่เป็นโรคนี้
ภายในเวลา 1 ปี สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยการรับประทานยาปฏิชีวนะเป็นเวลา 1-3 สัปดาห์ แต่ถ้าหากเป็นมานานแล้วจะต้องรับการฉีดยาเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยจะต้องตรวจเลือดเพื่อติดตามการรักษาหลังจาก 6 เดือน และหมั่นตรวจเลือดซ้ำทุกปี ทั้งนี้ควรแจ้งคู่นอนเพื่อให้มารับการรักษาร่วมกัน

โรคซิฟิลิสไม่สามารถติดต่อผ่านโดยการนั่งโถส้วม การสัมผัสมือ สระว่ายน้ำ อ่างอาบน้ำ เสื้อผ้า หรือการใช้ช้อนส้อมร่วมกัน