นักวิทย์ชี้ ‘การมีคนรัก’ ส่งผลต่อการทำงานของสมอง

นักวิจัยพบ คนมีความรักการเชื่อมโยงของเครือข่ายต่าง ๆ ในสมองดีขึ้น โดยเฉพาะสมองซีกซ้าย

Home / NEWS / นักวิทย์ชี้ ‘การมีคนรัก’ ส่งผลต่อการทำงานของสมอง

ประเด็นน่าสนใจ

  • การมีความรักเป็นสถานะที่ซับซ้อนคล้ายกับการเสพติด อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบริเวณสมองส่วนที่ควบคุมการให้รางวัลและการสร้างแรงจูงใจ
  • การถ่ายภาพด้วยคลื่นสนามแม่เหล็กพบการทำงานภายในสมองของกลุ่มที่มีความรัก มีประสิทธิภาพที่ดีกว่า

ทีมนักวิจัยนานาชาติได้พยายามตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในโครงข่ายสมองของมนุษย์ เมื่อมนุษย์มีความสัมพันธ์แบบคู่รัก พวกเขาพบว่าการมีความรักเป็นสถานะที่ซับซ้อนคล้ายกับการเสพติด ซึ่งสองสิ่งนี้สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบริเวณสมองส่วนที่ควบคุมการให้รางวัลและการสร้างแรงจูงใจ แต่ยังไม่มีการอธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเครือข่ายการเชื่อมต่อของสมอง

นักวิจัยจากจีนและสหรัฐอเมริกาใช้การถ่ายภาพด้วยคลื่นสนามแม่เหล็กที่ใช้งานได้ (fMRI) เปรียบเทียบเครือข่ายการทำงานโดยรวมของสมองในอาสาสมัคร 2 กลุ่ม โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มผู้หญิง 16 คนที่กำลัง “มีความรัก” และกลุ่มผู้หญิง “โสด” 14 คนที่ไม่เคยมีความรักหรือมีความสัมพันธ์แบบคนรัก

สมองของมนุษย์มีการแบ่งแยกเครือข่ายต่างๆ อย่างชัดเจน โดยมีการเชื่อมต่อที่แข็งแกร่งภายในเครือข่ายเดียวกัน แต่มีการเชื่อมต่อที่ค่อนข้างอ่อนแอระหว่างเครือข่ายกับเครือข่าย สมองซึ่งเป็น “โลกใบเล็ก” นี้จึงถูกเชื่อว่าเป็นสิ่งสำคัญต่อการรักษาระบบที่มีประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน เนื่องจากสมองใช้พลังงานประมาณร้อยละ 20 ของพลังงานในร่างกาย

ผลลัพธ์จากการถ่ายภาพด้วยคลื่นสนามแม่เหล็กชี้ให้เห็นว่า เมื่อเทียบกับกลุ่มคนโสด การทำงานภายในสมองของกลุ่มที่มีความรัก มีการเชื่อมโยงระหว่างเครือข่ายมากกว่า

การเชื่อมต่อในสมองสะท้อนให้เห็นประสิทธิภาพของการถ่ายโอนข้อมูลผ่านเครือข่ายประสาท โดยกลุ่มที่ “มีความรัก” นั้นมีการเชื่อมต่อที่ลดลงในแองกูลาร์ไจรัส (angular gyrus) ที่สมองซีกซ้าย อันเป็นศูนย์กลางของเครือข่ายประสาทที่เกี่ยวข้องกับการประมวลผลด้วยตนเอง ซึ่งอาจชี้ให้เห็นว่า กลุ่มคนที่มีความรักให้ความสำคัญกับตัวเองน้อยลง และให้ความสำคัญกับคนรักมากขึ้น

นอกจากนี้ กลุ่มคนที่มีความรักยังมีการเชื่อมต่อที่เพิ่มขึ้นในฟิวซิฟอร์มไจรัส (fusiform gyrus) ที่สมองซีกซ้าย ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการจดจำใบหน้าและการแสดงออกทางสีหน้า การเชื่อมต่อที่เพิ่มขึ้นนี้ จึงอาจบ่งบอกว่าผู้ที่มีความรักมีแนวโน้มใช้สมองในการประมวลผลทางอารมณ์และสังคมมากขึ้น เช่นการอ่านและการทำความเข้าใจสีหน้าของคู่รัก


เกี่ยวกับ fMRI :

เมื่อสมองถูกกระตุ้นจากการทำกิจกรรมใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นการฟังเพลง อ่านหนังสือ หรือคิด เลือดภายในสมองจะเกิดการไหลเวียน (อ๊อกซิเจนมากเข้ามา, อ๊อกซิเจนน้อยไหลออกไป) และเห็นระดับความแตกต่างของปริมาณอ๊อกซิเจนในเลือดที่ต่างกัน ซึ่งปริมาณที่ต่างกันนี้สามารถตรวจจับได้ สะท้อนถึงการทำงานของสมองในจุดนั้น ๆ ได้


การศึกษาข้างต้นได้รับการตีพิมพ์ในวารสารเบรนอิมเมจิงแอนด์บีเฮฟวีเออร์ (Brain Imaging and Behavior) ซึ่งทีมวิจัยระบุว่าการค้นพบนี้ถือเป็นหลักฐานชิ้นแรกที่พิสูจน์ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในการทำงานของสมองที่เกี่ยวข้องกับความรัก และเสนอแนวคิดที่ว่าการทำงานในสมองของผู้มีความสัมพันธ์แบบคนรักกับผู้ที่กำลังเสพติดบางสิ่ง มีความคล้ายคลึงกันแต่ก็ไม่เหมือนกัน โดยให้ข้อมูลเชิงลึกใหม่ๆ เกี่ยวกับการทำงานของระบบประสาทขณะมีคู่รัก


ที่มา – ซินหัว