นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษา แสดงความเห็น กรณีที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ให้พรรคอนาคตใหม่ยืมเงิน 110 ล้าน
จากกรณีที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้รับเชิญให้ไปขึ้นเวทีบรรยายที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย หรือ เอฟซีซีที (FCCT) ในหัวข้อ อะไรคืออนาคตของพรรคอนาคตใหม่ (What is the future of Future Forward?) เมื่อวันพุธที่ 15 พ.ค.2562 ในการบรรยายตอนหนึ่ง นายธนาธรได้กล่าวถึง การบริหารการเงินของพรรคอนาคตใหม่ว่า เพื่อให้พรรคสามารถเดินหน้าในช่วงการเลือกตั้งได้ ปัจจุบันตนจึงให้เงินทางพรรคยืมไปแล้วราว 110 ล้านบาท
ก่อนนายธนาธร จะพูดถึงกรณีที่ทางพรรคกู้เงิน 110 ล้านบาท เพื่อมาดำเนินกิจกรรมของพรรคอนาคตใหม่ ก่อนหน้านี้ทางด้าน น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ เคยให้สัมภาษณ์ว่า พรรคอนาคตใหม่ มีการยืมเงินนายธนาธร เพื่อทำกิจกรรมการเมืองช่วงก่อนเลือกตั้ง จำนวน 250 ล้านบาท ซึ่งข้อมูลดังกล่าวไม่ตรงกัน
ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 พ.ค.2562 ทาง น.ส.พรรณิการ์ ได้ออกมาชี้แจงว่า กรณีที่ตัวเลขที่ออกมาไม่ตรงกันนั้น เนื่องจาก 250 ล้านบาท เป็นจำนวนเงินที่เป็นวงเงินสูงสุดที่นายธนาธร กำหนดให้พรรคกู้
แต่ท้ายที่สุดการดำเนินกิจกรรมจนถึงวันเลือกตั้ง พรรคกู้ไป 90 ล้านบาท และจนถึงวันนี้ พรรคมีการกู้เพิ่มเพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายของพรรค ตัวเลขอยู่ที่ 110 ล้านบาท ทำให้เป็นสาเหตุที่ตัวเลขไม่ตรงกัน แต่เป็นความคืบหน้าของการกู้เงิน ซึ่งนายธนาธร คิดดอกเบี้ยแบบเงินกู้ระยะยาว เพราะพรรคการเมืองไม่ใช่องค์กรแสวงหาผลกำไร
พร้อมกล่าวว่า การตั้งข้อสังเกตว่าเรื่องนี้ขัดกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองหรือไม่นั้น พ.ร.ป.ดังกล่าวระบุเฉพาะที่มารายได้ของพรรคการเมือง ไม่ได้ระบุรายจ่าย และนี่คือการกู้เงิน ซึ่งในการเป็นหนี้ของพรรค เป็นรายจ่าย ไม่ใช่รายได้
เมื่อวันที่ 20 พ.ค.2562 นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึงเรื่องดังกล่าวว่า
เรื่องที่พรรคอนาคตใหม่ กู้ยืมเงินจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค ซึ่งไม่อาจทราบได้ว่า 110 ล้านบาทอย่างที่หัวหน้าพรรคกล่าว หรือ 250 ล้านบาท อย่างที่โฆษกพรรคกล่าว
โฆษกพรรคอนาคตใหม่กล่าวว่า เงินดังกล่าวไม่ใช่รายได้แต่เป็นรายจ่าย จึงไม่ต้องรายงานต่อ กกต. ไม่ทราบว่าโฆษกพรรคอนาคตใหม่ใช้หลักการคิดมาจากไหน ที่ว่าเงินที่ได้มาจากกู้ยืมผู้อื่นนั้นเป็นรายจ่าย
ตามกฎหมายถือว่าเงินที่ได้มาจากการกู้ยืมบุคคลอื่นเป็นรายรับที่ได้มาจากกู้ยืมเงิน ส่วนในหลักการทางบัญชีไม่ทราบว่า เงินที่กู้ยืมมาถือว่าเป็นรายได้หรือจ่าย ต้องนำมาลงในบัญชีด้านรายรับหรือรายจ่าย
พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา ๖๒ พรรคการเมืองอาจมีรายได้ ดังต่อไปนี้
(๑) เงินทุนประเดิมตามมาตรา ๙ วรรคสอง
(๒) เงินค่าธรรมเนียมและค่าบํารุงพรรคการเมืองตามที่กําหนดในข้อบังคับ
(๓) เงินที่ได้จากการจําหน่ายสินค้าหรือบริการของพรรคการเมือง
(๔) เงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดที่ได้จากการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมือง
(๕) เงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดที่ได้จากการรับบริจาค
(๖) เงินอุดหนุนจากกองทุน
(๗) ดอกผลและรายได้ที่เกิดจากเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดของพรรคการเมือง
เงินกู้ยืมจึงไม่ใช่รายได้ที่กฎหมายอนุญาตให้พรรคการเมืองสามารถกระทำได้
มาตรา ๘๗ เงินและทรัพย์สินของพรรคการเมืองต้องนําไปใช้จ่ายเพื่อดําเนินกิจกรรม ทางการเมืองของพรรคการเมือง ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งของพรรคการเมืองและสมาชิก และค่าใช้จ่ายในการบริหารพรรคการเมือง
เงินของพรรคการเมืองจะนำไปใช้ได้เฉพาะตามที่ระบุไว้ในมาตรานี้เท่านั้น จะนำไปชำระเงินกู้ไม่ได้ ถ้านำไปใช้ก็จะมีความผิดและมีโทษตามมาตรา ๑๓๒
มาตรา ๑๓๒ หัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมือง และเหรัญญิก พรรคการเมืองผู้ใดนําหรือยินยอมให้บุคคลอื่นนําเงินหรือทรัพย์สินของพรรคการเมืองไปใช้จ่าย เพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือบุคคลอื่น หรือนําไปใช้เพื่อการอื่นใด อันเป็นการฝ่าฝืน
มาตรา ๘๗ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ ๕ ปีถึง ๑๐ ปี หรือปรับตั้งแต่ ๑๐๐,๐๐๐ บาทถึง ๒๐๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวทำให้ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ตั้งข้อสงสัย จนท้ายที่สุดวันที่ 21 พ.ค.2562 นายศรีสุวรรณ เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เพื่อให้ กกต.ตรวจประเด็นเกี่ยวกับการยืมเงินดังกล่าวว่า เป็นการกระทำที่ขัดหรือฝ่าฝืน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 หรือไม่