วว. จับมือ ซีพี ออลล์ วิจัยสารสกัดจากกะเพรา ศึกษาฤทธิ์ลดไขมัน ปกป้องเซลล์ตับ ฆ่าเซลล์มะเร็ง

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ ซีพี ออลล์ ลงนามความร่วมมือ การวิจัยและพัฒนาการเตรียมสารสกัดจากส่วนคัดทิ้งของกะเพรา (ดอก กิ่ง ก้าน…

Home / NEWS / วว. จับมือ ซีพี ออลล์ วิจัยสารสกัดจากกะเพรา ศึกษาฤทธิ์ลดไขมัน ปกป้องเซลล์ตับ ฆ่าเซลล์มะเร็ง

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ ซีพี ออลล์ ลงนามความร่วมมือ การวิจัยและพัฒนาการเตรียมสารสกัดจากส่วนคัดทิ้งของกะเพรา (ดอก กิ่ง ก้าน และลำต้น) จากโรงงานผลิตอาหารพร้อมรับประทานและการศึกษาฤทธิ์ลดไขมัน ปกป้องเซลล์ตับ ฆ่าเซลล์มะเร็ง

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า วัตถุประสงค์ความร่วมมือของโครงการวิจัยและพัฒนาการเตรียมสารสกัดฯ ในครั้งนี้ มุ่งวิจัยและพัฒนา การเตรียมสารสกัดจากส่วนคัดทิ้งของกะเพรา ได้แก่ ดอก กิ่ง ก้าน และลำต้น จากโรงงานผลิตอาหารพร้อมรับประทานซีพีแรม ซึ่งศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร วว. จะทำการศึกษาฤทธิ์ลดไขมัน ปกป้องเซลล์ตับ ฆ่าเซลล์มะเร็ง ผ่านการดำเนินการร่วมกับบมจ. ซีพี ออลล์

ด้านนายวิเศษ วิศิษฏ์วิญญู กรรมการบริหาร บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ในประเทศไทย กล่าวว่า ทุกวันนี้กะเพราเป็นวัตถุดิบหลักของอาหารกล่องพร้อมรับประทาน ถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีบทบาทสำคัญในแง่ความมั่นคงของอาหาร อีกทั้งซีพีแรม บริษัทในกลุ่มบริษัทซีพี ออลล์ ยังได้ศึกษา วิจัย ค้นคว้าสายพันธุ์กะเพราที่มีความหอม รสชาติเผ็ด จนพบสายพันธุ์กะเพราพื้นบ้านที่ดีที่สุด และได้ส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงกับโรงงานผลิตอาหารพร้อมรับประทานของซีพีแรม ร่วมกันปลูก เพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัวภายใต้โครงการ “เกษตรกรคู่ชีวิต” ทำให้มีใบกะเพราที่ดี มีคุณภาพ ไปปรุงอาหารให้ผู้บริโภคได้รับประทานและส่งผลดีต่อสุขภาพ แต่ในกระบวนการผลิตอาหารพร้อมรับประทาน กะเพรายังมีส่วนคัดทิ้ง ได้แก่ ดอก กิ่ง ก้าน และลำต้น อีกเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์

“การต่อยอดนำส่วนคัดทิ้งของกะเพรามาทำให้เกิดประโยชน์ จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และสังคม ส่งเสริมให้ เกษตรกรมีรายได้ที่สูงขึ้นและมั่นคง อีกทั้งยังสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเกษตรกร และสังคม จึงได้ร่วมกับ วว. วิจัยและพัฒนาการเตรียมสารสกัดจากส่วนคัดทิ้งของกะเพรา ซึ่งสามารถนำมาสกัดน้ำมันหอมระเหยเพื่อใช้ปรุงอาหาร นอกจากนั้นยังสามารถนำมาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อวงการแพทย์ และวงการเภสัชกรรมได้อีกด้วย” นายวิเศษกล่าว