การเมือง เลือกตั้ง

เปิดสถานการณ์การเมืองไทย ที่คนแต่ละช่วงอายุเคยสัมผัส

สำหรับช่วงเวลานี้ ประเด็นที่ร้อนแรงและเป็นกระแสที่สุดคงไม่พ้นเรื่องการ “เลือกตั้ง” จากที่หลายฝ่ายตั้งคำถามกันมายาวนานถึงกำหนดการจัดเลือกตั้ง ล่าสุดวันที่ 23 ม.ค. 2562 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้มีการเผยแพร่ พระราชกฤษฎีกา ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2562 ต่อมาคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้กำหนดให้วันอาทิตย์ที่…

Home / NEWS / เปิดสถานการณ์การเมืองไทย ที่คนแต่ละช่วงอายุเคยสัมผัส

สำหรับช่วงเวลานี้ ประเด็นที่ร้อนแรงและเป็นกระแสที่สุดคงไม่พ้นเรื่องการ “เลือกตั้ง” จากที่หลายฝ่ายตั้งคำถามกันมายาวนานถึงกำหนดการจัดเลือกตั้ง ล่าสุดวันที่ 23 ม.ค. 2562 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้มีการเผยแพร่ พระราชกฤษฎีกา ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2562

ต่อมาคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้กำหนดให้วันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม 2562 เป็นวันเลือกตั้ง และกำหนดวันรับสมัคร ส.ส. คือ 4-8 กุมภาพันธ์ 2562 จากนั้นประกาศรายชื่อผู้สมัคร 15 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งมีเวลาหาเสียง 52 วัน

ซึ่งก่อนหน้านี้ความไม่ชัดเจนของการกำหนดวันเลือกตั้ง ทำให้หลายฝ่ายต่างออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นวงกว้าง มีทั้งฝ่ายที่คัดค้านเลื่อนการเลือกตั้ง และฝ่ายที่สนับสนุนให้เลื่อนการเลือกตั้ง โดยเกิดจากการที่รัฐบาลได้ออกมาเปิดเผยต่อสาธารณชนว่าจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ. 2562

แต่แล้วพอเวลาผ่านไป กลับมีทีท่าไม่ชัดเจน ฝั่งรัฐบาลพูดไม่เต็มปากว่าจะเลื่อนการเลือกตั้งออกไปหรือไม่ หลังมีประกาศวันที่ 4-6 พ.ค. 2562 จะมีการกำหนดวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

เมื่อย้อนกลับไปในช่วงสัปดาห์ก่อนประกาศวันเลือกตั้ง ได้เกิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองมาเป็นระยะ  โดยกลุ่มคนอยากเลือกได้นัดชุมนุมใหญ่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชูป้ายตะโกนขีดเส้นตายให้รัฐบาลกำหนดวันเลือกตั้ง พร้อมกับประกาศที่จะนัดชุมนุมใหญ่อีกครั้งหากรัฐบาลและกกต.ยังนิ่งเฉย

ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 18 ม.ค. ยังมีกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง อย่างกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า สภานักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง และกลุ่มสามัคคีก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งได้ออกแถลงการณ์คัดค้านให้กลุ่มคนอยากเลือกตั้งหยุด หยุดสร้างเงื่อนไขเพื่อให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมือง

แต่แล้วล่าสุดเมื่อชัดเจนแล้วว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้น 24 มี.ค. 2562 ทางกลุ่มคนอยากเลือกตั้งจึงได้ประกาศยุติการนัดหมายการชุมนุมในวันที่ 26 ม.ค.นี้เป็นที่เรียบร้อย ด้านแกนนำได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า

“รู้สึกโล่งใจ แต่ยอมรับว่ามีความกังวลต่ออำนาจของหัวหน้า คสช. ที่ยังสามารถใช้คำสั่งมาตรา 44 ได้จนถึงมีการแต่งตั้งรัฐบาลใหม่ ที่อาจถูกนำมาเป็นปัจจัยในการล้มการเลือกตั้ง ถือเป็นภัยคุกคามของประชาธิปไตย ในส่วนของเครือข่าย เดินหน้ารณรงค์ให้เกิดสนามเลือกตั้งที่ดี

เป็นลักษณะการจัดเสวนา ยื่นหนังสือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสร้างรูปแบบการตรวจสอบการเลือกตั้ง ซึ่งเครือข่ายจะเป็นตัวกลางรับข้อมูลจากประชาชนที่เห็นสิ่งไม่ชอบมาพากล ก่อนยื่นเรื่องไปยังหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ”

เมื่อพูดถึงการเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่ผ่านมาประเทศไทยต้องพบกับสถานการณ์ที่รุนแรงมาหลายเหตุการณ์ วันนี้ MThai News จะย้อนเหตุการณ์เรื่องราวความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา ว่าคนแต่ละช่วงอายุได้เคยสัมผัสเหตุการณ์อะไรกันบ้าง ซึ่งหลายต่อหลายครั้งต้องพบกับความสูญเสียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ช่วงอายุ 18-25 เหตุการณ์รัฐประหารปี 2557 เสื้อแดง กปปส.

เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เวลา 16:30 น. โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อันมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ รัฐประหาร โค่นรัฐบาลรักษาการนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล นับเป็นรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์ไทย

รัฐประหารดังกล่าวเกิดขึ้นหลังวิกฤตการณ์การเมือง ซึ่งเริ่มเมื่อเดือนตุลาคม 2556 เพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ให้นายทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคดี และเป็นเหตุให้พลเมืองในเมืองแบ่งเป็นสองข้างจนเกิดการก่อม็อบ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าช่วยระงับสถานการณ์ความขัดแย้งเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้

ช่วงอายุ 26-35 รัฐประหารปี 2549

เกิดในคืนวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งมีพลเอก สนธิ บุญยรัตกลินเป็นหัวหน้าคณะ โค่นรักษาการนายกรัฐมนตรี ดร. ทักษิณ ชินวัตร นับเป็นรัฐประหารในรอบ 15 ปี รัฐประหารครั้งนี้เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปในเดือนต่อมา หลังจากการเลือกตั้งทั่วไปที่มีกำหนดจัดในเดือนเมษายนถูกสั่งให้เป็นโมฆะ

นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ดำเนินมานับแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2548 คณะรัฐประหารยกเลิกการเลือกตั้งซึ่งกำหนดจัดในเดือนตุลาคม ยกเลิกรัฐธรรมนูญ สั่งยุบรัฐสภา สั่งห้ามการประท้วงและกิจกรรมทางการเมือง ยับยั้งและตรวจพิจารณาสื่อ ประกาศใช้กฎอัยการศึก และจับกุมสมาชิกคณะรัฐมนตรีหลายคน

ช่วงอายุ 36-50 ปฏิวัติ 2535 พฤษภาทมิฬ

เป็นเหตุการณ์ที่ประชาชนเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาลครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมือง ที่มีพลเอกสุจินดา คราประยูร เป็น นายกรัฐมนตรี และต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ระหว่างวันที่ 17-24 พฤษภาคม พ.ศ. 2535

ซึ่งเป็นการรัฐประหาร รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 นำไปสู่เหตุการณ์ปราบปรามและปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารกับประชาชนผู้ชุมนุม มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก (พลเอกสุจินดาแถลงว่ามีผู้เสียชีวิต 40 คน บาดเจ็บ 600 คน) และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

ช่วงอายุ 51-66 เหตุการณ์ 14 ตุลา หรือ วันมหาวิปโยค

เป็นเหตุการณ์การเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชนครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เป็นเหตุการณ์ที่มีนักศึกษาและประชาชนมากกว่า 5 แสนคนชุมนุมเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญจากรัฐบาลเผด็จการจอมพลถนอม กิตติขจร นำไปสู่คำสั่งของรัฐบาลให้ใช้กำลังทหารเข้าปราบปราม ระหว่างวันที่ 14 ถึง 15 ตุลาคม พ.ศ. 2516 จนมีผู้เสียชีวิตกว่า 77 ราย บาดเจ็บ 857 ราย และสูญหายอีกจำนวนมาก

สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ นับเป็นการเลือกตั้งอีกครั้งในรอบ 5 ปี หลังมีการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แน่นอนว่าคนไทยทุกคนต่างรอคอยให้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาแก้ไขปัญหาในรอบด้าน รวมถึงแก้ความขัดแย้งทางการเมืองเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงอีกระลอก