การเมือง ขั้วที่ 3 จัดตั้งรัฐบาล จัดตั้งรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคอนาคตใหม่

บิ๊กดีลขั้วที่ 3 กับการจัดตั้งรัฐบาล ปรากฏการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้!!

การเมืองไทยตอนนี้บอกได้คำเดียวว่า ‘ร้อนระอุ‘ พอๆ กับสภาพอากาศร้อนจัดในขณะนี้!! เพราะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญในการเดินหน้าประเทศ จนทำให้หลายฝ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ประชาชน‘ คนไทยที่ลงคะแนนเสียงให้พรรคที่ตัวเองชอบ ต้องมาลุ้นกันอีกว่าบทสรุปขั้วไหนจะได้จัดตั้งรัฐบาล หรือเรียกสั้นๆได้ว่า ‘จะเอาลุงตู่หรือไม่เอา!!‘ เป็นที่ทราบกันดี ตอนนี้มี 2 ขั้วหลักในการจัดตั้งรัฐบาล…

Home / NEWS / บิ๊กดีลขั้วที่ 3 กับการจัดตั้งรัฐบาล ปรากฏการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้!!

การเมืองไทยตอนนี้บอกได้คำเดียวว่า ‘ร้อนระอุ‘ พอๆ กับสภาพอากาศร้อนจัดในขณะนี้!! เพราะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญในการเดินหน้าประเทศ จนทำให้หลายฝ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ประชาชน‘ คนไทยที่ลงคะแนนเสียงให้พรรคที่ตัวเองชอบ ต้องมาลุ้นกันอีกว่าบทสรุปขั้วไหนจะได้จัดตั้งรัฐบาล หรือเรียกสั้นๆได้ว่า ‘จะเอาลุงตู่หรือไม่เอา!!

เป็นที่ทราบกันดี ตอนนี้มี 2 ขั้วหลักในการจัดตั้งรัฐบาล คือฝั่ง ‘พรรคเพื่อไทย‘ ในการประกาศจุดยืนที่ชัดเจนร่วมกับอีก 6 พรรคการเมือง โดยได้ลงสัตยาบันร่วมกันไปเมื่อวันที่ 26 มี.ค.62 ในการหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของ คสช.

หากมองจากตัวเลขที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มีการประกาศรับรอง ส.ส.แบบแบ่งเขต และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ‘พรรคเพื่อไทย‘ กวาดที่นั่ง ส.ส. ไปถึง 136 ที่นั่ง ‘พรรคอนาคตใหม่‘ ได้ ส.ส. รวม 80 ที่นั่ง ‘พรรคเสรีรวมไทย‘ ได้ ส.ส. รวม 10 ที่นั่ง

พรรคประชาชาติ‘ ได้ ส.ส. รวม 7 ที่นั่ง ‘พรรคเพื่อชาติ‘ ได้ ส.ส. รวม 5 ที่นั่ง ‘พรรคปวงชนไทย‘ ได้ ส.ส. รวม 1 ที่นั่ง และ ‘พรรคเศรษฐกิจใหม่‘ ได้ ส.ส. รวม 6 ที่นั่ง ซึ่งรวมแล้วสูตรการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย จะได้ที่นั่ง ส.ส. รวม 245 ที่นั่ง

ขณะที่ฝั่ง ‘พรรคพลังประชารัฐ‘ ที่ประกาศชัดเจนว่ายังไงก็ต้องให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี กวาดที่นั่ง ส.ส. ไปถึง 115 ที่นั่ง บวกกับอีก 15 พรรคการเมืองที่ร่วมจุดยืนเดียวกับพลังประชารัฐคือ ‘สนับสนุนให้บิ๊กตู่เป็นนายกรัฐมนตรี’ ซึ่งรวมแล้วสูตรการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคพลังประชารัฐ จะได้ที่นั่ง ส.ส. รวม 137 ที่นั่ง (ยังไม่รวมเสียงโหวตจาก ส.ว. อีก 250 เสียง)

และตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้ คงหนีไม่พ้น 2 พรรคการเมืองอย่าง ‘พรรคประชาธิปัตย์‘ ได้ ส.ส. จำนวน 52 ที่นั่ง และ ‘พรรคภูมิใจไทย‘ ได้ ส.ส. จำนวน 51 ที่นั่ง ยังรวมไปถึงพรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคชาติพัฒนา ที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับขั้วการเมืองไหน

ซึ่งเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดกระแสข่าวอย่างหนักในการจัดตั้งรัฐบาลของขั้วที่ 3 ภายหลัง นายนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้แถลงข่าวจุดยืนของพรรคอนาคตใหม่ และประกาศความพร้อมในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

โดยกล่าวไว้เมื่อวันนี้ (16 พ.ค.62) ซึ่งสอดคล้องเช่นเดียวกันกับ ‘สวนดุสิตโพล’ จากผลสำรวจต่อกรณี ประชาชนคิดอย่างไร? กรณี “พรรคขนาดกลาง” (ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย อนาคตใหม่) จะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่ง 50.47% ประชาชนมองว่าน่าสนใจ น่าจะบริหารบ้านเมืองได้ อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง

ท่าทีของ 2 พรรคต่อการจับขั้วการเมืองที่ 3

ทางด้าน ‘พรรคประชาธิปัตย์’ ภายหลังจากที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 24 มี.ค.62 เนื่องจากผลคะแนนการเลือกตั้ง ทางพรรคสอบตกได้ที่นั่งต่ำกว่าร้อย หลังจากนั้นทางพรรคก็ยังไม่มีการประกาศจุดยืนที่ชัดเจนว่าจะจับมือร่วมกับพรรคการเมืองใดในการจัดตั้งรัฐบาล

อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 15 พ.ค.62 ทางพรรคประชาธิปัตย์ จัดการประชุมใหญ่วิสามัญ เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ โดยผลการนับคะแนนจากผู้มาใช้สิทธิ์ทั้งหมด 291 คน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ได้รับคะแนนสูงสุด ทำให้ได้รับการเลือกเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่

โดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ก่อนการลงคะแนนเลือกหัวหน้าพรรคว่า หากตนได้เป็นหัวหน้าพรรค มองว่าประชาธิปัตย์ถึงเวลาต้องเปลี่ยน เป็นการเปลี่ยนอย่างมีวุฒิภาวะ เปลี่ยนสิ่งที่สมควรจะเปลี่ยน อุดมการณ์ระบอบประชาธิปไตย ระบบรัฐสภา โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขต้องไม่เปลี่ยน อุดมการณ์ที่จะทำงานเพื่อประชาชนด้วยความซื่อสัตย์สุจริตต้องไม่เปลี่ยน หัวหน้าพรรคไม่มีสิทธิ์อยู่นอกเหนืออุดมการณ์แห่งความซื่อสัตย์สุจริตที่เรายึดมั่น

ทางฝั่ง ‘พรรคภูมิใจไทย’ ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ก็เหมือนจะ ‘โยนหินถามทาง‘ โดยระบุขอฟังเสียงจากประชาชนที่ลงคะแนนให้กับทางพรรคก่อนว่าอยากให้ทางพรรคเดินหน้าไปในทิศทางไหน แต่กระนั้นในโลกโซเชียลกลับเข้าไปถล่มคอมเม้นท์อย่างดุเดือดเผ็ดร้อน

โดยส่วนใหญ่ระบุว่า ที่ลงคะแนนให้พรรคภูใจไทย เนื่องด้วยการแสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่าต่อต้านการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลเผด็จการ แต่หากทางพรรคเลือกที่จะจับมือกับพรรคที่ต้องการให้มีการสืบทอดอำนาจของรัฐบาล คสช. ในอนาคตข้างหน้าก็อาจไม่เลือกลงคะแนนเสียงให้กับทางพรรคภูมิใจไทย หรือคำฮิตติดปากในโซเชียลตอนนี้ก็คือ ‘พรรคอาจสูญพันธุ์‘ …. ก็เป็นได้

ขั้วที่ 3 กับการจัดตั้งรัฐบาล ปรากฏการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้!!

ดูเหมือนว่าความชัดเจนระหว่าง 2 พรรคนี้ จะเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น เมื่อล่าสุดนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ได้โพสต์ภาพและข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Anutin Chanvirakul” พร้อมระบุข้อความว่า “ทำงานกันอยู่ ไม่ได้มากินข้าวเฉยๆ ตามที่พูดไว้ทุกอย่าง” โดยภาพดังกล่าวเป็นภาพคู่กับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์

หลังจากมีการปรากฏภาพดังกล่าวออกไป ในโซเชียลต่างออกมาตีความกันต่างๆนานา ซึ่งหลายทัศนะก็มองว่าการจับมือร่วมกันระหว่าง 2 พรรคนี้ เป็นเรื่องที่ดีและอาจเกิดปรากฏการณ์ใหม่ๆ ทางการเมือง แต่นั้นมันก็ยังไม่ใช่คำตอบที่คนส่วนใหญ่ต้องการเท่าไรนัก เพราะตอนนี้คนสนใจแต่เพียงว่า 2 พรรคที่กล่าวมาข้างต้นจะไปลงเอยกับ ‘พรรคเพื่อไทย‘ หรือ ‘พรรคพลังประชารัฐ‘ หรือ แตกหน่อสร้างขั้วที่ 3 ในการจัดตั้งรัฐบาลเสียเอง

หากว่ากันตามเนื้อผ้าแล้ว การจับขั้วการเมืองครั้งนี้สามารถออกมาได้หลายทิศทางเช่นกัน ไม่ว่าจะการจับมือร่วมกับขั้วของพรรคเพื่อไทย หรือ พรรคพลังประชารัฐ หรือ อาจจะมีการร่วมจับมือกันของพรรคที่ได้คะแนนเสียงขนาดกลาง ในการร่วมจัดตั้งรัฐบาลในขั้วที่ 3 ซึ่งหากมองดูแล้วย่อมมีเปอร์เซ็นต์ที่จะออกไปได้ทั้ง 3 ทาง

ข้อดีหากเกิดขั้นการเมืองที่ 3 และได้จัดตั้งรัฐบาล

1.ตัดการผูกขาดทางการเมืองของพรรคใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทย หรือหยุดการสืบทอดอำนาจของ คสช.

2.เป็นสีสันใหม่ทางการเมือง และเป็นสิ่งที่ประชาชนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างชัดเจน

3.เป็นการผนึกกำลังทั้งนักการเมืองรุ่นเก๋า บวกกับนักการเมืองรุ่นใหม่ ที่พร้อมผลักดันนโยบายที่ทันยุคทันสมัย

ข้อดีหากพรรคขนาดกลางร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับฝั่ง ‘พรรคเพื่อไทย’

1.เป็นหยุดการสืบทอดอำนาจของ คสช. อย่างเต็มรูปแบบ

2.มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อไม่ให้เอื้อประโยชน์กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง (โดยเฉพาะสิ่งที่ คสช. วางรากฐานไว้)

3.การขับเคลื่อนนโยบายเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ข้อดีหากพรรคขนาดกลางร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับฝั่ง ‘พรรคพลังประชารัฐ’

1.พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อแน่นอน

2.พรรคเล็กๆ ได้มีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ

3.บ้านเมืองสงบไม่มีการแบ่งสีเสื้อ

แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าเหรียญจะออกมาในทิศทางไหน เชื่อว่าคนไทยทุกคนอยากเห็นประเทศเดินไปข้างหน้าเสียที การเลือกตั้งในครั้งนี้ ทำให้เราได้เห็นพลังของประชาชนส่วนใหญ่ ที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงของประเทศ

ซึ่งดูได้จากคะแนนเสียงการเลือกตั้งในครั้งนี้ไม่ได้กระจุกอยู่ที่พรรคใดพรรคหนึ่งเพียงพรรคเดียว แต่กลับเกิดปราฏการณ์นักการเมืองหน้าใหม่ขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ฉะนั้นแล้วทิศทางการเมืองไทยจะออกมารูปแบบไหน จะตรงใจในสิ่งที่ประชาชนคาดหวังมากน้อยเพียงใดก็ต้องติดตามกันต่อไป