ขาเทียม นักวิ่งรณรงค์ วิ่งระดมทุน เทร์รี ฟอกซ์

‘เทร์รี ฟอกซ์’ นักวิ่งขาเทียม ที่วิ่งระดมทุนไกล 5,000 กิโลเมตรนาน 143 วัน !

‘เทร์รี ฟอกซ์’ ผู้ล่วงลับ ที่มีเพียงความตายเท่านั้นที่ทำให้เขาหยุดวิ่งได้ หลังจากเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาเพจ ‘ก้าว’ ของทีมก้าวคนละก้าว ประกาศการจัดกิจกรรมครั้งใหม่โดยใช้ชื่อกิจกรรมว่า “ก้าวต่อไปด้วยพลังเล็กๆ 2562-2563 ทั่วประเทศ” โดยเส้นทางในรอบนี้ จะเป็นการวิ่งผ่าเส้นทางในภาคอีสาน จะเริ่มต้นที่ด่านพรมแดนจังหวัดหนองคาย ผ่านจังหวัดอุดรธานีและมีปลายทางที่ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น…

Home / NEWS / ‘เทร์รี ฟอกซ์’ นักวิ่งขาเทียม ที่วิ่งระดมทุนไกล 5,000 กิโลเมตรนาน 143 วัน !

‘เทร์รี ฟอกซ์’ ผู้ล่วงลับ ที่มีเพียงความตายเท่านั้นที่ทำให้เขาหยุดวิ่งได้

หลังจากเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาเพจ ‘ก้าว’ ของทีมก้าวคนละก้าว ประกาศการจัดกิจกรรมครั้งใหม่โดยใช้ชื่อกิจกรรมว่า “ก้าวต่อไปด้วยพลังเล็กๆ 2562-2563 ทั่วประเทศ” โดยเส้นทางในรอบนี้ จะเป็นการวิ่งผ่าเส้นทางในภาคอีสาน จะเริ่มต้นที่ด่านพรมแดนจังหวัดหนองคาย ผ่านจังหวัดอุดรธานีและมีปลายทางที่ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น

 ตูน บอดี้สแลม
อาทิวราห์ คงมาลัย หรือ ตูน บอดี้สแลม

ก่อนหน้านี้โครงการก้าวคนละก้าว เกิดขึ้นในครั้งแรกเมื่อปี 2018 ที่นำโดย อาทิวราห์ คงมาลัย หรือ ตูน บอดี้สแลม ซึ่งแรกเริ่ม มีเป้าหมายในการระดมทุนให้แก่ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ หลังดำเนินการมานาน 55 วัน โครงการนี้ได้ยอดบริจาคทะลุ 1 พันล้านบาท ซึ่งเป็นโครงระดมทุนที่ถูกพูดถึงมากที่สุด และได้รับเสียงชื่นชมมากที่สุดโครงการหนึ่งในประเทศไทย เพราะเป็นโครงการที่สร้างรอยยิ้มและความสุขให้คนไทย หลังจากที่มีความร่วมมือร่วมใจในการบริจาคเงินหลั่งไหลมาจากทั่วทุกพื้นที่

ทั้งนี้การวิ่งเพื่อรณรงค์ หรือ ระดมทุนเคยปรากฏในต่างประเทศมาแล้วหลายครั้ง และมีนักวิ่งที่ต้องการให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหลายคนที่ออกมาขับเคลื่อนโครงการเหล่านี้เพื่อจุดประสงค์ต่าง ๆ  ซึ่งเมื่อย้อนดูตามประวัติศาสตร์แล้ว ในต่างประเทศ มีหนึ่งในนักวิ่งระดมทุนที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคนหนึ่ง นั่นก็คือ ‘เทร์รี ฟอกซ์’ ที่เคยมีชีวิตอยู่เมื่อราว 38-60 ปีก่อน และเนื่องจากเขาเป็นผู้พิการ ที่ต้องตัดขาทิ้งจากอาการป่วย และออกวิ่งเป็นระยะทางไกลด้วย ‘ขาเทียม’ จึงทำให้ครั้งหนึ่งเขาเป็นคนที่ผู้คนทั่วโลกรู้จักเป็นอย่างดี

เทร์รี ฟอกซ์
เทร์รี ฟอกซ์

เมื่อย้อนประวัติของ ‘เทร์รี ฟอกซ์’ อดีตนักกรีฑาชาวแคนาดา เกิดในปี 2501 ซึ่งถ้าปัจจุบันเขายังมีชีวิตอยู่ จะมีอายุราว ๆ 61 ปี แล้วแม่ของเขาเล่าว่าในวัยเด็ก ฟอกซ์ เป็นเด็กที่มีความมุ่งมั่นและอดทนเห็นได้จากในช่วงที่เขาหัดเดินที่เมื่อใดฟอกซ์ล้มลง เขาก็จะพยายามลุกขึ้นมาเดินใหม่เสมอ ในวัยเด็กเขาชอบเล่นกีฬามาก และเป็นนักกีฬาตัวยง ทั้งฟุตบอล รักบี้ เบสบอล และบาสเก็ตบอล

เขาน่าจะได้ใช้ชีวิตเหมือนกับคนปกติทั่วไป แต่จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นเมื่อเริ่มมีสัญญาณโรคร้ายในเดือนพฤศจิกายน 1976 ฟอกซ์ ประสบอุบัติเหตุระหว่างกำลังขับรถกลับบ้าน แม้จะไม่เป็นอะไรมาก เพียงแต่รู้สึกเจ็บที่หัวเข่าข้างขวา และอาการเจ็บนี้ ก็กำเริบอีกครั้งในเดือนต่อมาซึ่งเจ้าตัวก็เพิกเฉยต่ออาการเจ็บครั้งนั้น

จนกระทั่งเดือนมีนาคม 2520 อาการเจ็บปวดรุนแรงขึ้นจนเขาต้องเข้าโรงพยาบาล ซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่าฟอกซ์เป็นมะเร็งกระดูก (osteosarcoma) และเกิดขึ้นใกล้ๆ กับหัวเข่าซึ่งแพทย์ตรวจพบเนื้องอกที่ขาข้างขวาของเขา อาการป่วยครั้งนี้เกิดขึ้นขณะที่เขามีอายุได้เพียง 18 ปี และสิ่งเลวร้ายที่สุดสำหรับชีวิตนักกีฬาก็เกิดขึ้น เมื่อเขาต้องตัดขาข้างขวาทิ้ง ตามคำแนะนำของแพทย์

ขาเทียมที่เทร์รี ฟอกซ์ ใช้วิ่งระดมทุน

หลังจากตัดขาข้างหนึ่งแล้ว เทร์รี ฟอกซ์ ต้องใช้ขาเทียม และกลายเป็นคนพิการทั้งที่มีอายุได้เพียง 18 ปี  จนทำให้เขาตระหนักได้ว่า ผู้ป่วยโรคมะเร็งมีโอกาสรอดชีวิตเพียงน้อยนิด เขาจึงเห็นคุณค่าของการวิจัยโรคมะเร็ง ประกอบกับในระหว่างที่ ฟอกซ์เข้ารับเคมีบำบัดที่หน่วยงานควบคุมโรคมะเร็งบริติชโคลัมเบีย (British Columbia Cancer Control Agency) เป็นเวลานาน 16 เดือนทำให้เขาได้พบกับผู้ป่วยที่ทุกข์ทรมานและเสียชีวิตจากโรคมะเร็งมากมาย หลังจากสิ้นสุดการรักษา ฟอกซ์ตั้งใจอุทิศตัวให้กับความก้าวหน้าทางการแพทย์และการมีชีวิตเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็ง

แม้ร่างกายจะไม่สมบูรณ์ดังเดิม แต่มุมมองการใช้ชีวิตในแง่บวกของเขา ทำให้ฟอกซ์ฟื้นตัวจากอาการป่วยอย่างรวดเร็ว แม้จะเหลือขาแค่ข้างเดียว แต่นั้นก็ไม่ใช่อุปสรรค์ เพราะเขายังคงเล่นกีฬาสม่ำเสมอ ครั้งหนึ่งฟอกซ์ได้ลงเล่นบาสเก็ตบอลบนรถเข็นทั้งยังชนะการแข่งขันระดับชาติถึงสามครั้ง รวมถึงได้ตำแหน่ง all-star  จากสมาคม North American Wheelchair Basketball ในปี 2523

จุดเริ่มต้นของโครงการการวิ่งระดมทุน เกิดขึ้นเมื่อฟอกซ์มีโอกาสได้อ่านบทความเกี่ยวกับดิก ทรัม (Dick Traum) ผู้พิการคนแรกที่ลงแข่งขันรายการนิวยอร์ค มาราธอน ซึ่งบทความนี้เอง ทำให้เขาเกิดแรงบรรดาลใจในการออกไปวิ่งมาราธอน โดยเริ่มจากการฝึกร่างกายเป็นเวลา 14 เดือน แม้ช่วงเวลานั้นจะเต็มไปด้วยความยากลำบากและความเจ็บปวด แต่เขาก็ผ่านมันไปได้และร่วมลงแข่งวิ่งจริงในที่สุด

ในเดือนสิงหาคม 2522 ฟอกซ์ได้ลงแข่งวิ่งมาราธอนที่เมืองพรินซ์จอร์จ รัฐบริติชโคมลัมเบีย แม้เขาจะเข้าเส้นชัยเป็นคนสุดท้าย แต่ความพยายามของเขาสร้างความประทับใจให้ผู้แข่งขันคนอื่น ๆ เป็นอย่างมาก ภายหลังการแข่งขันมาราธอน ฟอกซ์เริ่มเล่าถึงแผนโครงการวิ่งระดมทุนของเขาให้กับคนในครอบครัวฟัง โดยแผนแรกคือการวิ่งขอรับบริจาคเงินให้ได้ 1 ล้านดอลลาร์ เพื่อหาเงินสนับสนุนการวิจัยโรคมะเร็ง ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นขอรับบริจาคเงินจากชาวแคนาดา 24 ล้านคน คนละ 1 ดอลลาร์

โดยวันที่ 12 เมษายน 2523 ฟอกซ์ได้เริ่มออกวิ่ง ที่เมืองเซ็นท์จอห์นนิวฟันด์แลนด์ ร่วมโครงการที่ชื่อว่า “Marathon of Hope” ข้ามจากแคนาดาฝั่งตะวันออกไปยัง จุดหมายปลายทางคือเมืองวิคตอเรีย รัฐบริติช โคลัมเบีย ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของประเทศ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อระดมทุน และรณรงค์การวิจัย และสร้างความตระหนักเพื่อผู้ป่วยโรคมะเร็ง ซึ่งใช้เวลายาวนานกว่า 143 วันมีระยะทางกว่า 5,373 กิโลเมตร ซึ่งตลอดระยะทาง มีผู้ร่วมบริจาคเงินเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ในระหว่างที่วิ่งไปตามเส้นทางต่าง ๆ มักมีประชาชนส่งเสียงให้กำลังใจ แต่ด้วยอาการป่วยทำให้เขาผ่านช่วงเวลาในการวิ่งระดมทุนไปอย่างยากลำบากในบางครั้ง โชคดีที่เขามีทุนเดิมจากการเป็นนักกีฬา และมีกล้ามเนื้อขาข้างซ้ายที่แข็งแรงจึงทำให้เขาวิ่งผ่านเส้นทางอันยาวไกลไปได้ แม้จะอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนหนาว และพายุที่รุนแรง

นอกเหนือจากการรณรงค์ และระดมทุนเพื่อผู้ป่วยมะเร็งแล้ว เขายังต้องการให้ผู้คนเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อผู้พิการ ที่แม้ร่างกายจะไม่สมบูรณ์ แต่ก็สามารถสร้างปาฏิหาริย์ให้เกิดขึ้นได้ ครั้งหนึ่งเขาเคยกล่าวผ่านสื่อว่า การที่เขาสูญเสียขาข้างหนึ่งไปนั้นคือ “รางวัลและความท้าทาย”  ถ้อยคำของฟอกซ์ส่งผลต่อทัศนคติของคนพิการ ที่เป็นการเปลี่ยนให้ผู้พิการมองโลกในแง่บวก เป็นการเปลี่ยนความคิดว่าคนพิการจำนวนมากมักคิดว่าความพิการทางร่างกายคือความล้มเหลวในชีวิต

การวิ่งของฟอกซ์ เป็นที่สนใจจากสังคม และโด่งดังไปทั่วประเทศ ทำให้มีผู้ให้การสนับสนุนในโครงการเป็นจำนวนมาก ซึ่งหนึ่งในผู้สนับสนุนในโครงการ“Marathon of Hope” คือ Isadore Sharp ผู้ก่อตั้งโรงแรม Four Seasons สื่อต่าง ๆ รายงานว่า สาเหตุที่เขาร่วมสนับสนุนโครงการนี้ก็เพราะว่าเขา ได้เคยสูญเสียลูกชายของตัวเองไปด้วยโรคมะเร็ง โดยเขาได้สนับสนุนฟอกซ์ด้วยการให้ที่พักสำหรับเขาและทีมงามแบบฟรี ๆ พร้อมบริจาคเงิน 10,000 ดอลลาร์ให้โครงการเพื่อผู้ป่วยมะเร็ง หลังจากนั้นมีบริษัท อื่น ๆ ในแคนาดาอีกมากมาย ให้การสนุบสนุนในโครงการนี้เช่นกัน

หลังจากเขาวิ่งไปได้ 143 วัน ในวันที่ 1 กันยายน 1980 เมื่อเดินทางมาถึงหาดธันเดอร์ การวิ่งระดมทุน ต้องสิ้นสุดลงก่อนบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ เมื่อฟอกซ์พบว่าโรคมะเร็งกลับมาอีกครั้ง เชื้อมะเร็งได้ลุกลามไปที่ปอดของเขา ฟอกซ์มีอาการทรุดหนักและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2524 ด้วยวัย 23 ปี  ประชาชนแคนาดามีการร่วมไว้ทุกข์ และลดธงชาติครึ่งเสาทั่วประเทศ  งานศพของเขามีการถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศผ่านทางโทรทัศน์

แม้เขาต้องจบชีวิตลง แต่นั่นกลับเป็นจุดเริ่มให้มีการจัด Marathon of Hope ต่อไป ที่ผ่านมาโครงการนี้ระดมเงินได้กว่า 3.5 ล้านเหรียญ รวมกับเงินบริจาคก่อนหน้านั้นอีก 24 ล้านเหรียญ รวมถึงยังเป็นโครงการที่สร้างความตื่นตัวเรื่องโรคมะเร็งให้ประชาชนมากขึ้น ทั้งยังทำให้เกิดสถาบันวิจัย สถาบันการกุศล งานอีเวนต์ โดยมีเทร์รี ฟอกซ์ เป็นจุดศูนย์กลางและล่าสุดในปี 2559 มูลนิธิ เทร์รี ฟอกซ์ ได้ประกาศว่าระดมเงินได้ทั้งสิ้น 715 ล้านเหรียญ เพื่อหาทางรักษาโรคมะเร็งในนามของเทร์รี ฟอกซ์อีกด้วย

อย่างไรก็ตามการวิ่งรณรงค์ของฟอกซ์ได้รับการขนานนามว่าเป็น “มาราธอนแห่งความหวัง” ที่แท้จริง แม้ว่าเขาจะจากโลกนี้ไปแล้ว แต่เขาก็ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Companion of the Order of Canada  และมีผู้เข้าร่วมในโครงการมาราธอนแห่งความหวังหลายล้านคนในกว่า 60 ประเทศทั่วโลก

ทั้งนี้ทั้งนั้น “มาราธอนแห่งความหวัง” กลายเป็นโครงการระดมทุนเพื่อผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทุกวันนี้ประชาชนชาวแคนาดา ยังคงจดจำฟอกซ์ในฐานะของ ‘วีรบุรุษ’ เห็นได้จากการสร้างรูปปั้นของเขาไว้ตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศเพื่อเป็นอนุสรณ์ นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมการวิ่งเทร์รี ฟอกซ์ เป็นประจำทุกปีจวบจนถึงปัจจุบัน

ที่มา www.terryfox.org