แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ยืนยัน ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ ขณะนี้พบว่ามีผลดีในการรักษามากกว่าผลเสีย
หลังจากที่ องค์การอาหารและยา ออกมา เปิดเผยข้อมูลว่า หลายโรงพยาบาลพบผู้ป่วย วูบ ปวดหัว คลื่นไส้อาเจียน มารักษาที่ห้องฉุกเฉินมากขึ้นจากการใช้กัญชา หมอที่รักษาโรคมะเร็ง เผย ผู้ป่วยบางรายเมื่อได้รับการรักษาจากสรรพคุณของกัญชาแล้ว ไม่ยอมรักษาทางการแพทย์แผนปัจจุบัน เพราะยังเข้าใจว่าเป็นยาสรรพคุณที่ครอบคลุมในการรักษา ขณะที่กุมารแพทย์ออกมาระบุว่าสารในกัญชาบางชชนิดส่งผลให้เด็กพัฒนาการแย่ลง
นพ.สมยศ กิตติมั่นคง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกัญชาในทางการแพทย์ ให้ข้อมูลว่า สำหรับกัญชาปัจจุบันมีกว่า 3 หมื่นสายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์ก็มีสรรพคุณในการรักษาและการรักษาที่เหมาะสมก็ต้องเป็นแบบชนิด “คอกเทล” คือการรักษาควบคู่กับการรักษาชนิดอื่นและตัวยาชนิดอื่นด้วย เปรียบเสมือนการให้เคมีบำบัดอย่างเดียวที่อาจจะไม่ได้ผล ส่วนผลข้างเคียงนั้นก็ขึ้นอยู่กับแต่ละผู้ป่วย
บางคนอาจจะมีผลข้างเคียงเรื่องความดันหรือระดับน้ำตาลในเลือดแต่ไม่อันตราย เพราะฉะนั้นการรักษาทางการแพทย์ จะต้องผ่านแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประเมิน ซึ่งจะทราบปริมาณในการใช้หรือผู้ที่จะใช้ด้วยตัวเองจะต้องศึกษาด้วยว่าจะต้องเริ่มใช้อย่างไรในปริมาณเท่าใด
ส่วนข้อกังวลที่ว่ากัญชาใต้ดินนั้นไม่ทราบส่วนผสมที่แน่ชัดเนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีห้องแลปที่ถูกกฎหมาย แต่ที่พบแน่นอนคือจะมีสารของ “THC” และ “CBD” การนำมาใช้ในเด็กเพื่อรักษาโรคลมชักนั้นในต่างประเทศก็นิยมใช้และได้ผล แต่ยังไม่มีงานวิจัยในต่างประเทศใดว่าสารทั้งสองตัวจะส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก
อย่างไรก็ตามแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกัญชาในทางการแพทย์ ยืนยันว่า สำหรับผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้สารสกัดกัญชาในการแพทย์ขณะนี้ยังพบว่ามีผลดีในการรักษามากกว่าผลเสีย และที่แน่นอนคือยังไม่พบว่าการใช้กัญชาในการรักษาจะส่งผลระยะยาวถึงชีวิต