ประเด็นน่าสนใจ
- สํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานสถานการณ์ความยากจนในปี 2562 ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น
- สัดส่วนคนจนปี 2562 ลดลงเหลือ 4.3 ล้านคน ทำให้ประเทศไทยบรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายในการแก้ปัญหาความยากจนตามที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12
- จังหวัดที่มีปัญหาความยากจนน้อยที่สุด ได้แก่ นนทบุรี , รองลงมาคือ ปทุมธานี , ภูเก็ต , สมุทรปราการ , และ กทม.
วานนี้ 31 ต.ค.63 นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม พอใจภาพรวมผลลัพธ์การแก้ไขปัญหาความยากจน ภายหลังสํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานสถานการณ์ความยากจนในปี 2562 ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น
โดยสัดส่วนคนจนลดลงจากร้อยละ 9.85 ในปี 2561 มาอยู่ที่ร้อยละ 6.24 ในปี 2562 หรือมีคนจน จำนวน 4.3 ล้านคน ลดลงจาก 6.7 ล้านคน ในปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของเศรษฐกิจและการขยายมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ อาทิ โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ตามแนวทางประชารัฐ เป็นต้น
โดยส่งผลให้ภาพรวมคนไทยมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 9,847 บาทต่อคนต่อเดือน จากปี 2560 ที่มีรายได้ 9,614 บาทต่อคนต่อเดือน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.42 ขณะที่ครัวเรือนยากจนมีรายได้เพิ่มขึ้นจาก 2,823 บาทต่อคนต่อเดือนในปี 2560 เป็น 3,016 บาทต่อคนต่อเดือนในปี 2562 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.81 ซึ่งการที่คนจนมีรายได้เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย ชี้ให้เห็นว่าในช่วงเวลาดังกล่าวผลประโยชน์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรอบปี ตกกับคนยากจนมากขึ้น
จากนี้สัดส่วนคนจนปี 2562 ที่ร้อยละ 6.24 ทำให้ประเทศไทยบรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายในการแก้ปัญหาความยากจนตามที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ที่มีเป้าหมายให้สัดส่วนประชากรที่อยู่ใต้เส้นความยากจนลดลงเหลือร้อยละ 6.5 ณ สิ้นแผนพัฒนาฯ ในปี 2564 อีกด้วย
สะท้อนถึงการประสบความสำเร็จในการลดปัญหาความยากจน และการให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความยากจนของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม แม้สัดส่วนคนจนในภาพรวมจะมีแนวโน้มลดลง แต่การรักษาระดับสัดส่วนคนจน ให้อยู่ในระดับต่ำต่อไปจนสิ้นแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ยังต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป เนื่องจากในปี 2563 ประเทศไทยประสบกับภาวะวิกฤติโรค Covid-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และการจ้างงาน
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า จากการรายงานของสภาพัฒน์ฯ พบว่า สัดส่วนความยากจนลดลงเกือบทุกจังหวัด และภาพรวมสัดส่วนคนจนมีแนวโน้มลดลงในทุกภูมิภาค โดยในปี 2562 จังหวัดที่มีปัญหาความยากจนน้อยที่สุด ได้แก่ นนทบุรี (ร้อยละ 0.24) รองลงมาคือ ปทุมธานี (ร้อยละ 0.24) ภูเก็ต (ร้อยละ 0.40) สมุทรปราการ (ร้อยละ 0.56) และ กทม. (ร้อยละ 0.59)