สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ เตือนหน้าฝนระวังโรคไข้เลือดออกระบาด
นายแพทย์พรณรงค์ ศรีม่วง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า ในช่วงหน้าฝนจะมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มมากขึ้น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการจึงมีมาตรการให้สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่งเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกในพื้นที่อย่างใกล้ชิด พร้อมเตรียมทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว ลงพื้นที่เพื่อควบคุมโรคภายใน 24 ชั่วโมง รวมถึงการรณรงค์ให้ประชาชนทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทุกสัปดาห์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2561 มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกทั่วประเทศ จำนวน 85,849 ราย เสียชีวิต จำนวน 114 ราย ในส่วนจังหวัดสมุทรปราการ มีผู้ป่วยจำนวน 1,531 ราย เสียชีวิต 3 ราย
ทั้งนี้โรคไข้เลือดออก หลังจากถูกยุงลายที่มีเชื้อกัด 5-8 วัน จะมีอาการไข้สูงลอย 38.5-40 องศาเซลเซียส ติดต่อกัน 2-7 วัน หน้าแดง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก ปวดเบ้าตา บางรายมีปวดท้อง อาเจียน เบื่ออาหาร มีจุดแดงเล็ก ๆ ตามแขนขา ลำตัว อาจมีเลือดกำเดาไหล และเลือดออกตามไรฟัน อาการคล้ายเป็นหวัด แต่มักไม่ไอ และมักไม่มีน้ำมูก ผู้ที่อาการไม่รุนแรงหลังจากไข้ลดลง อาการต่าง ๆ จะดีขึ้น
แต่ในรายที่มีอาการรุนแรง ขณะที่ไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว จะเกิดภาวะช็อก ผู้ป่วยจะมีอาการซึมลง กระสับกระส่าย กระหายน้ำ เหงื่อออก ตัวเย็น ปากเขียว ชีพจรเบาเร็ว ความดันโลหิตลดลง บางรายมีอาการปวดท้องกะทันหัน อาจมีเลือดออกในกระเพาะอาหารและลำไส้ ถ่ายเป็นเลือด ปัสสาวะน้อยลง ไม่ค่อยรู้สึกตัว ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอาจเสียชีวิตได้
จึงขอแนะนำวิธีการป้องกันให้ใช้มาตรการ 3 เก็บ ได้แก่ 1.เก็บบ้าน ให้ปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายเกาะพัก 2.เก็บขยะเศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย และ 3.เก็บน้ำ ปิดให้มิดชิดหรือเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกสัปดาห์ไม่ให้ยุงลายวางไข่ และใช้มาตรการ 5 ส. ได้แก่สะสาง สะดวก สะอาด สุขลักษณะ สร้างนิสัย ในบ้าน สถานที่ทำงาน โรงเรียน วัดและชุมชน ดำเนินการพร้อมกันทุกวันศุกร์ หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลสายด่วน 1422 หรือสถานบริการสาธารณสุขของรัฐทุกแห่งใกล้บ้าน