เศรษฐกิจไทย

โฆษกรัฐบาลเผย เศรษฐกิจไทยดีกว่าที่คาดการณ์ อันดับความน่าเชื่อถือ BBB+

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย ธนาคารโลกจัดอันดับ Doing Business 2020 ของไทย อยู่ที่อันดับ 21 จาก 190 ประเทศ เป็นอันดับที่ดีที่สุดของไทยในรอบ 6 ปี

Home / NEWS / โฆษกรัฐบาลเผย เศรษฐกิจไทยดีกว่าที่คาดการณ์ อันดับความน่าเชื่อถือ BBB+

ประเด็นน่าสนใจ

  • โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย ธนาคารโลกจัดอันดับ Doing Business 2020 ของไทย อยู่ที่อันดับ 21 จาก 190 ประเทศ เป็นอันดับที่ดีที่สุดของไทยในรอบ 6 ปี
  • ชี้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยกำลังมีการปรับตัวเพื่อรองรับสู่ฐานการผลิตอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง
  • ขณะที่บริษัท Fitch Ratings (Fitch) ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ BBB+

วันที่ 31 ต.ค.63 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยจากที่ธนาคารโลกจัดอันดับ Doing Business 2020 ของไทย อยู่ที่อันดับ 21 จาก 190 ประเทศ เป็นการปรับตัวดีขึ้นถึง 6 อันดับ และเป็นอันดับที่ดีที่สุดของไทยในรอบ 6 ปี

สะท้อนให้เห็นว่าโครงสร้างเศรษฐกิจไทยกำลังมีการปรับตัวเพื่อรองรับสู่ฐานการผลิตอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ทั้งใน 10+2 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเป็นผลมาจากความพยายามของภาครัฐ หลายหน่วยงานในการลดขั้นตอนการขออนุมัติ การนำระบบดิจิทัลมาใช้ และการปรับปรุงระเบียบต่างๆ ให้เอื้อต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ขณะที่บริษัท Fitch Ratings (Fitch) ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ BBB+ และให้มุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) จาก 3 เงื่อนไขสำคัญ ได้แก่

  • 1) ภาคการคลังและภาคการเงินต่างประเทศไทยที่อยู่ในระดับสูง สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงและความผันผวนของเศรษฐกิจ รวมทั้งผลกระทบที่เกิดจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19
  • 2 ) ภาคการคลังสาธารณะที่แข็งแกร่ง จากการรักษาวินัยทางการคลัง โดยยึดหลัก พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 อย่างเคร่งครัด
  • 3) ภาคการเงินต่างประเทศที่เข้มแข็ง โดยมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล และทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง

“ตัวเลขเศรษฐกิจหดตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านั้น โดยกระทรวงการคลังรายงานเศรษฐกิจไทยปี 2563 หดตัวที่ร้อยละ -7 ซึ่งน้อยกว่าที่มีการคาดการณ์ก่อนหน้านั้นที่ร้อยละ -8.2 ถึง -7.2 ซึ่งผลส่วนหนึ่งมาจากการที่รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการเพิ่มกำลังซื้อแก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการ “คนละครึ่ง” โครงการ “ช้อปดีมีคืน”

โครงการเที่ยวปันสุข รวมทั้งโครงการต่างๆ จากงบพรก. เงินกู้ฯ ที่จะทยอยดำเนินการ ให้เกิดการจ้างงาน และการกระจายรายได้ ซึ่งขณะนี้เริ่มมีสัญญาณของการปรับตัวของเศรษฐกิจในทิศทางที่ดีขึ้น โดยรัฐบาลได้ดำเนินการฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านมาตรการระยะสั้นและระยะยาว

เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อได้ แต่ทั้งนี้การชุมนุมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นสิ่งที่รัฐบาลมีความกังวลเป็นอย่างยิ่ง ว่าจะมีผลกระทบต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่กำลังเดินหน้าไปด้วยดีให้สะดุดลง และจะกระทบบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน และกระทบความมั่นใจของนักลงทุนได้” โฆษกรัฐบาล กล่าว