ประเด็นน่าสนใจ
- อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับการชุมนุมว่ารัฐบาลควรจะรับฟังเสียงผู้ชุมนุม
- ด้าน ‘วิษณุ’ ระบุเป็นเรื่องดีที่อดีตนายกรัฐมนตรี เสนอแนะ ที่จะนำไปสู่คณะกรรมการสมานฉันท์ เพื่อรับฟังความเห็นของทุกฝ่าย
- พร้อมยืนยันว่าการมี คณะกรรมการสมานฉันท์ ไม่ใช้การซื้อเวลาแต่อย่างใด
วันนี้ (30 ต.ค. 63) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ปฏิเสธแสดงความเห็นกรณีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับการชุมนุมว่ารัฐบาลควรจะรับฟังเสียงผู้ชุมนุม โดยมองว่าขณะนี้เป็นการพูดคนละภาษา รบกันคนละสนาม ควรจะนำมาพิจารณาหรือไม่ โดยนายวิษณุ กล่าวสั้นๆ ว่ายังไม่ได้อ่าน ยังไม่ได้เห็นขอเสนอดังกล่าว
ทั้งนี้ เมื่อถามย้ำว่าการแสดงความเห็นของนายอานันนท์ จะมีผลต่อสถานการณ์หรือไม่ ไม่ทราบ เพราะไม่รู้เรื่อง จึงไม่รู้จะแสดงความเห็นอย่างไร พร้อมบอกว่า อย่าเอาสิ่งที่คนใดคนหนึ่งพูดและเอามาถามต่อ จะทำให้บานปลาย และไม่ขอวิจารณ์ว่าจะเพิ่มความชอบธรรมให้กับผู้ชุมนุมหรือไม่
ส่วนข้อเสนอของนายอานัทท์ จะเป็นอีกทางออกให้กับประเทศหรือไม่นั้น นายวิษณุ บอกว่า เป็นเรื่องดี ที่จะนำไปสู่คณะกรรมการสมานฉันท์ เพื่อรับฟังความเห็นของทุกฝ่ายมาพิจารณา ว่าจะหาทางออกอย่างไร ซึ่งการที่ฝ่ายค้านประกาศไม่เข้าร่วมจะทำให้เดินหน้าได้หรือไม่นั้น ว่าฝ่ายค้านยังไม่ปฏิเสธชัดเจนในเรื่องนี้ เพราะยังไม่เห็นรูปแบบที่ชัดเจน
รวมถึงฝ่ายรัฐบาลก็ยังไม่เห็นรูปแบบเหมือนกัน ก็คงจะลังเลทั้งนั้น ซึ่งรัฐบาลไม่ได้เป็นผู้ตั้ง พร้อมทั้งยังเผยว่า อย่าเพิ่งไปพูดตีปลาหน้าไซ เพราะจะทำให้แตกตื่น ตกใจว่ามีเลห์เหลี่ยม แอบแฝงอยู่ และในส่วนของรัฐบาลขณะนี้ยังไม่ได้คิดวางตัวบุคคล เพราะยังไม่ทราบรายละเอียดของโครงสร้าง ต้องไปถามสถาบันพระปกเกล้า ว่าประกอบด้วยใคร ทำอะไร ซึ่งเมื่อมีโครงสร้างชัดเจน รัฐบาลก็จะต้องนำเข้าที่ประชุม ครม. พิจารณา ซึ่งขณะนี้ยังไม่รู้ว่าโครงสร้าง จะต้องมีตัวแทนรัฐบาลหรือไม่
นายวิษณุ กล่าวถึง เสียงวิพากษ์วิจารณ์ ว่าการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ เป็นการชื้อเวลา ว่าเรื่องนี้เท่าที่ฟังมา เป็นการอภิปรายในสภา ที่ ส.ส.ฝ่ายค้าน เช่น นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย และ ส.ว.เห็นตรงกันว่าควรมีคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง เพื่อนำปัญหาทั้งหมดมาพูดคุยในคณะกรรมการ รวมถึงให้คณะกรรมการชุดนี้ไปคิด คำถามการทำประชามติก็ได้ แต่มีการติง ว่าตามมาตรา 116 ว่ารัฐบาลมีสิทธิ์ทำประชามติ แต่ห้ามทำในเรื่องของตัวบุคคล
ดังนั้นถ้าตั้งโจทย์เป็นจะต้องมีความคำตอบให้กับสังคม โดยไม่เกี่ยวกับตัวบุคคล ดังนั้นจะเรียกว่าเป็นคณะกรรมการสมานฉันท์หรือไม่ ยังไม่ทราบ เพราะเป็นการเรียกกันไปเอง ส่วนมองว่าเป็นการซื้อเวลานั้น ทุกอย่างต้องใช้เวลา แต่ถ้าใช้เวลานาน จึงจะเป็นการชื้อเวลา แต่อย่าไปคาดหวังว่าทุกอย่างจะจบในคณะกรรมการ แล้วจบแฮปปี้แอนดิ้ง คงไม่ใช่ ซึ่งอาจจะมีหลายทาง