ข่าวสดวันนี้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

[อัปเดต] พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว

รายงานข่าวแจ้งว่า เวลา 09.00 น. ที่ผ่านมา พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี  และรัฐบุรุษ ได้ถึงแก่อสัญกรรมแล้วในวัย 98 ปี ด้วยอาการหัวใจล้มเหลว หลังจากเมื่อคืนที่ผ่านมา พล.อ.เปรม…

Home / NEWS / [อัปเดต] พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว

ประเด็นน่าสนใจ

  • พลเอกเปรม ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาด้วย วัย 98 ปี
  • วาสนา นาน่วม โพสต์เฟซบุ๊กอาลัย
  • ป๋าเปรม ดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรี ทั้งในรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10

รายงานข่าวแจ้งว่า เวลา 09.00 น. ที่ผ่านมา พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี  และรัฐบุรุษ ได้ถึงแก่อสัญกรรมแล้วในวัย 98 ปี ด้วยอาการหัวใจล้มเหลว หลังจากเมื่อคืนที่ผ่านมา พล.อ.เปรม ถูกพาตัวส่งโรงพยาบาลพระมงกุฏ

โดยแหล่งข่าวใกล้ชิดได้ให้ข้อมูลว่า เมื่อช่วงเช้าตรู่ที่ผ่านมา พล.อ.เปรม ได้ลุกมาเดินออกกำลังตามปรกติ ก่อนที่จะมีอาการอ่อนแรง จึงได้มีการนำตัวส่งโรงพยาบาลพระมงกุฏฯ หลังจากอยู่ในการดูแลของหมอเป็นเวลาราว 3 ชั่วโมงเศษ ก็ได้ถึงแก่อสัญกรรมในเวลา 09.09 น.

ขณะที่ วาสนา นาน่วม ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเพื่อยืนยันว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ได้ถึงแก่อสัญกรรม โดยระบุว่า หลังเสร็จภารกิจสำคัญในชีวิตของการเป็นองคมนตรี 2 แผ่นดินแล้ว ‘ป๋าเปรม’ก็จากลาไปอย่างสงบ รุ่งเช้าวันที่ 26 พ.ค.2562 RIP

สร้างความโศกเศร้าให้ผู้ที่ทราบข่าว และมีคนเข้าไปไว้อาลัยในการสูญเสียบุคคลสำคัญของชาติในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว

ประวัติ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

พล.อ.เปรม เกิดเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2463 ที่ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เป็นบุตรของรองอำมาตย์โทหลวงวินิจทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์) และนางวินิจทัณฑกรรม (ออด ติณสูลานนท์) เป็นบุตรคนที่ 6 ในจำนวนพี่น้อง 8 คน

การศึกษา

พล.อ.เปรม เริ่มการศึกษาชั้นประถมศึกษา เมื่อปี พ.ศ. 2469  ที่โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา จนสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากนั้นในปี พ.ศ.2478 เข้าศึกษา ต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 7 – 8 แผนกวิทยาศาสตร์ ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย  เมื่อจบแล้วได้สอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ณ โรงเรียนเท็ฆนิคทหารบก ปัจจุบัน คือ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ในปี พ.ศ.2481 แต่ระหว่างเรียนได้เกิดกรณีพิพาทระหว่างรัฐบาลไทยกับฝรั่งเศสขึ้น ทำให้นักเรียนนายร้อยทุกคนต้องออกจากโรงเรียนเพื่อออกมารับราชการก่อนกำหนด

การรับราชการทหาร

3 มกราคม 2484 พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เข้ารับตำแหน่งเป็นผู้บังคับหมวด ประจำกรมรถรบ  ปฏิบัติหน้าที่ ณ สมรภูมิรบปอยเปต ประเทศเขมร ในกรณีพิพาทในอินโดจีน (ไทย-ฝรั่งเศส) และได้รับแต่งตั้งให้เป็นว่าที่ร้อยตรีรับกระบี่ในสนามรบ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2484

ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา พ.ศ. 2485 – 2488 พล.อ.เปรม ได้รับคำสั่งให้ไปประจำการ เป็นกองหนุนของกองทัพพายัพ จังหวัดลำปาง ต่อมาได้เลื่อนยศเป็น ร้อยเอก และเป็นผู้บังคับกองร้อยที่ลพบุรี หลังได้รับคำสั่งให้ไปขึ้นอยู่กับกองพล.3 ที่เชียงตุง จากการที่กองทัพเคลื่อนย้ายกำลังจากลำปางไปอยู่ ที่ จ.เชียงราย

จากนั้นในปี พ.ศ. 2495 ได้รับทุนจากกองทัพบกโดยการสอบแข่งขันได้ไปศึกษาต่อที่ The United States Army Armor School รัฐเคนตักกี้ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยขณะนั้นได้รับพระราชทานยศเป็น “พันตรี”  เป็นผู้บังคับกองร้อยที่ 3 กองพันทหารม้าที่ 4 จังหวัดอุตรดิตถ์ รองผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 4 และรองผู้บังคับการจังหวัดทหารบกอุตรดิตถ์

ซึ่งหลังจากใช้เวลา 2 ปี ในการศึกษาด้านการทหารจากสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2497 พล.อ.เปรมก็ได้กลับกลับมารับราชการเป็นอาจารย์ในแผนกวิชายุทธวิธี กองการศึกษา โรงเรียนยานเกราะ กองพลน้อยทหารม้า (กรุงเทพฯ) และได้รับพระราชทานยศ “พันโท” ต่อมามีการจัดตั้งโรงเรียนทหารม้ายานเกราะ ศูนย์การทหารม้า ที่จังหวัดสระบุรี พล.อ.เปรมได้รับพระบรมราชโองการเป็นผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า ยศพลตรี เมื่อปี 2511

ในช่วงระยะเวลา 5 ปี ที่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้านี้ ท่านมักเรียกแทนตัวเองต่อผู้ที่อาวุโสน้อยกว่าว่า “ป๋า” และเรียกผู้ที่อาวุโสน้อยกว่าอย่างเอ็นดูและเป็นกันเองว่า “ลูก” จนเป็นที่มาของคำว่าป๋า หรือ ป๋าเปรม และคนสนิทของท่านมักถูกเรียกว่า ลูกป๋า และเรียกติดปากกันมาจนถึงปัจจุบัน

การรับราชการทหารของ พล.อ.เปรม ถือว่ามีความสามารถโดดเด่นในหลายด้าน จนกระทั่งปี 2517 ได้รับพระราชทานยศ “พลโท” และดำรงตำแหน่ง แม่ทัพภาคที่ 2 จังหวัดสกลนคร  ในวันที่ 1 ตุลาคม  หลังจากที่ก่อนหน้านี้  เมื่อปี 2512 เป็นองครักษ์เวร เป็นนายทหารพิเศษประจำกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ และได้รับการแต่งตั้งเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 2 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2516 จากการที่ย้ายไปเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 2 ดูแลพื้นที่ภาคอีสาน

ถัดมาอีก 3 ปี ใน พ.ศ. 2520  พล.อ.เปรม ก็ได้ พระราชทานยศ “พลเอก” และดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และปฏิบัติหน้าที่รองผู้อำนวยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ทั่วไปฝ่ายทหาร หลังจากช่วงเวลานั้นรัฐบาลได้มีผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ขยายพื้นที่เข้ามายังประเทศไทย

จากนั้นก็เป็นผู้บัญชาการทหารบก จนเกษียณอายุราชการ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2523 แต่คณะรัฐมนตรีได้มีมติต่ออายุราชการอีก 1 ปี ก่อนที่ 26 สิงหาคม 2524 พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ได้อำลาการรับราชการทหาร

บทบาททางการเมือง นายกรัฐมนตรี และองคมนตรี

สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พล.อ.เปรมได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จากนั้นได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ และวุฒิสมาชิก ช่วงปี 2511 – 2516 ในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร

พลเอกเปรมเข้าร่วมรัฐประหารในประเทศไทย 2 ครั้ง ซึ่งนำโดยพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งยึดอำนาจจากรัฐบาลหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช และวันที่ 20 ตุลาคม 2520 ซึ่งยึดอำนาจจากรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร

พล.อ.เปรม เมื่อครั้งเป็นนายกรัฐมนตรี

พล.อ.เปรม รับตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นครั้งแรกในรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่องในรัฐบาลนั้น ในช่วงปลายรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ควบคู่กับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก

ในช่วงนั้น พล.อ.เปรมได้รับการยอมรับจากหลายฝ่าย หลังจากพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2523 สภาผู้แทนราษฎรทำการหยั่งเสียงเพื่อหาตัวผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเลือกพล.อ.เปรม เป็นนายกรัฐมนตรี โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พล.อ.เปรม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2523 เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 16 ของไทย

พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสืบต่อจากพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2523 ซึ่งตลอดระยะเวลาในการบริหารประเทศได้มีผลงานสำคัญมากมาย เช่น การปรับปรุงประมวลกฎหมายรัษฎากรและกฎหมายสรรพสินค้า เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคม การสร้างงานตามโครงการสร้างงานในชนบท (กสช.)

การจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐบาล และเอกชน (กรอ.) เพื่อส่งเสริมบทบาททางการค้าและการลงทุนของภาคเอกชนภายในประเทศ การดำเนินการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยอย่างได้ผล โดยนำนโยบายการใช้ “การเมืองนำการทหาร” ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 เป็นผลให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอ่อนกำลังลงและสลายตัวไปในที่สุด

โดยรวมแล้ว พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีองไทย รวมทั้งสิ้น 3 ครั้ง มีคณะรัฐมนตรีทั้งหมด 5 ชุด รวมเวลาทั้งสิ้น 8 ปี 5 เดือน หลังจากการปฏิเสธการรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2531 และทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศยกย่อง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ไว้ในฐานะรัฐบุรุษ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2531

เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2541 จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นประธานองคมนตรีในสมัยรัชกาลที่ 9 จนถึง วันที่ 13 ตุลาคม 2559 จากนั้นดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม – 1 ธันวาคม 2559 และดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรี ในสมัยรัชกาลที่ 10 ตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2559 ถึงปัจจุบัน ก่อนจะถึงอสัญกรรมในเช้าวันนี้ในที่สุด

ชีวิตส่วนตัว

พล.อ.เปรม ชื่นชอบดูการแข่งขันกีฬา โดยเฉพาะกีฬามวยและฟุตบอล มักเปิดโอกาสให้นักกีฬาเข้าพบเพื่อคารวะ และให้กำลังใจ ก่อนจะเดินทางไปแข่งขันในต่างประเทศอยู่เสมอ นอกจากนี้ยังชื่นชอบการร้องเพลง ระยะหลังได้ฝึกหัดเล่นเปียโนกับ ณัฐ ยนตรรักษ์ และประพันธ์เพลงเป็นงานอดิเรก พลเอกเปรมมีผลงานเพลงบันทึกเสียงจำหน่าย บรรเลงดนตรีโดย กองดุริยางค์ทหารบก

ข้อมูลข่าวจาก finearts.go.th และ wikipedia