ไวรัส RSV

ระวังติดเชื้อ RSV กรมควบคุมโรค แนะให้สังเกตอาการบุตรหลาน

ในช่วงนี้มีการแชร์ข่าวสารในโลกออนไลน์จากบรรดาผู้ปกครอง ระบุว่าบุตรหลานป่วยติดเชื้อไวรัส RSV ด้านกรมควบคุมโรค เผยโรคดังกล่าวมักพบบ่อยช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จะมีอาการรุนแรง

Home / NEWS / ระวังติดเชื้อ RSV กรมควบคุมโรค แนะให้สังเกตอาการบุตรหลาน

ประเด็นน่าสนใจ

  • ในช่วงนี้มีการแชร์ข่าวสารในโลกออนไลน์จากบรรดาผู้ปกครอง ระบุว่าบุตรหลานป่วยติดเชื้อไวรัส RSV
  • ด้านกรมควบคุมโรค เผยโรคดังกล่าวมักพบบ่อยช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จะมีอาการรุนแรง
  • พร้อมแนะนำควรล้างมือบ่อยๆด้วยสบู่และน้ำสะอาด หลีกเลี่ยงการไปสถานที่มีผู้คนหนาแน่น

วานนี้ (27 ต.ค.63) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวในโซเชียลมีเดียว่า ในช่วงฤดูหนาวนี้มีโอกาสพบเด็กป่วยด้วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV) ได้นั้น กรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลว่า

โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (Respiratory Syncytial Virus: RSV)

-เป็นโรคที่มักพบได้บ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว
-เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี อาจมีอาการรุนแรงได้มากกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ

จากข้อมูลศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า อุบัติการณ์ของโรค RSV ในเด็กของปี 2563 มีอัตราป่วยเท่ากับปี 2562 ในเดือนเดียวกัน และโรคทางเดินหายใจที่ตรวจหาเชื้อจะพบเป็น RSV มากกว่าร้อยละ 30 ของผู้ป่วย โดยเฉพาะในเด็กเล็กแรกเกิด-5 ปี แสดงถึงมาตรการการป้องกันโรคทางเดินหายใจในเด็กขณะนี้ไม่ได้แตกต่างกับปีที่แล้วมากนัก อย่างไรก็ตาม การดูแลบุตรหลาน ให้ปลอดภัยจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV) ก็ยังมีความสำคัญมาก

การติดต่อของเชื้อไวรัส

  • ติดต่อได้จากการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ
  • ไวรัสเข้าสู่ร่างกายผ่านทางตา จมูก ปาก
  • จากการสูดหายใจเอาเชื้อที่อยู่ในอากาศในรูปละอองฝอยจากการไอ จามของผู้ป่วย

อาการ

  • ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะแสดงอาการหลังสัมผัสถูกเชื้อไวรัสในระยะเวลา 4-6 วัน เมื่อป่วยจะสามารถแพร่กระจายเชื้อได้นาน 3-8 วัน
  • อาการโดยทั่วไปอาจจะเหมือนไข้หวัดธรรมดา
  • อาการจำเพาะของเชื้อนี้ มักพบในเด็กเล็ก คือ หลอดลมฝอยอักเสบ
  • เริ่มแรกจะมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น ไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ จนถึงอาการรุนแรง เช่น หายใจหอบเหนื่อย อกบุ๋ม ได้ยินเสียงปอดผิดปกติ เสียงหายใจมีเสียงหวีด รับประทานอาหารได้น้อย และซึมลง

การรักษา

ส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการ ซึ่งโรคนี้สามารถพบได้ในผู้ป่วยทุกกลุ่มอายุ แต่อาการจะรุนแรงในเด็กเล็ก เด็กที่คลอดก่อนกำหนด และกลุ่มผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคปอด โรคหัวใจ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันร่างกายผิดปกติ เป็นต้น

สำหรับการป้องกันควรล้างมือบ่อยๆด้วยสบู่และน้ำสะอาด โดยเฉพาะ ก่อนมื้ออาหาร หลังเข้าห้องน้ำ ควรสอนให้เด็กๆล้างมืออย่างถูกต้อง ไม่ใช้แก้วน้ำหรือของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น รักษาสุขอนามัยส่วนตัว หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ที่ติดเชื้อและการไปในสถานที่ที่ผู้คนหนาแน่น ไม่ควรพาเด็กไปเล่นในที่ที่มีเด็กเล่นอยู่ด้วยกันจำนวนมาก

ส่วนผู้ที่ป่วยควรงดการออกนอกบ้านในช่วงที่ไม่สบาย เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่น และควรปิดปากปิดจมูกเวลาไอจามด้วยหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย ทำความสะอาดบ้าน รวมทั้งของเล่นเด็กเป็นประจำ ควรรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ดื่มน้ำมากๆ และให้เด็กพักผ่อนให้เพียงพอ

สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองขอให้สังเกตอาการบุตรหลานอย่างใกล้ชิด เมื่อมีอาการป่วยเป็นไข้หวัด ควรแยกเด็กออกจากเด็กปกติ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อและพาไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาต่อไป ส่วนในเด็กโตและผู้ใหญ่อาการจะดีขึ้นหลังได้รับการรักษา 1-2 สัปดาห์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422