ย้อนเรื่องราวก่อการกบฏเข้ายึดอำนาจ ‘พล.อ.เปรม’ แต่สุดท้ายล้มเหลว การกบฏยุติลงอย่างรวดเร็ว
เมื่อพูดถึง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษคู่แผ่นดิน ที่ผ่านมาได้มีการสร้างผลงานที่เป็นประวัติศาสตร์มาอย่างโชกโชน โดยหนึ่งในนั้นคือการปราบกบฏที่มีจำนวนกำลังทหารเข้าร่วมมากถึง 42 กองพัน ซึ่งถือได้ว่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย โดยเป็นการพยายามยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาล พล.อ.เปรม โดยกลุ่มกบฏยังเติร์ก หรือ กบฏเมษาฮาวาย ที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1-3 เมษายน พ.ศ. 2524
ทั้งนี้กลุ่มผู้ก่อการเป็นการรวมตัวกันของนายทหารที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 7 หรือรุ่น “ยังเติร์ก” ได้แก่ พันเอกมนูญ รูปขจร (ม.พัน.4 รอ.) , พันเอกชูพงศ์ มัทวพันธุ์ (ม.1 รอ.) , พันเอกประจักษ์ สว่างจิตร (ร.2) , พันโทพัลลภ ปิ่นมณี (ร.19 พล.9) , พันเอกชาญบูรณ์ เพ็ญตระกูล (ร.31 รอ.)
พันเอกแสงศักดิ์ มงคละสิริ (ช.1 รอ.) , พันเอกบวร งามเกษม (ป.11) , พันเอกสาคร กิจวิริยะ (สห.มทบ.11) โดยมี พลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา รองผู้บัญชาการทหารบก เป็นหัวหน้าคณะ
สาเหตุของการยึดอำนาจเกิดจากการที่ พล.อ.สัณห์ รู้สึกไม่พอใจ พล.อ.เปรม หลังกองทัพบกได้มีการต่ออายุราชการให้กับ พล.อ.เปรม ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก ออกไปอีก 1 ปี ทำให้ พล.อ.สัณห์ ในฐานะรองผู้บัญชาการทหารบกหมดสิทธิ์ที่จะขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบก
ลำดับเหตุการณ์กบฏยังเติร์ก หรือ กบฏเมษาฮาวาย
เวลา 02.00 น. ของวันที่ 1 เมษายน 2524 คณะผู้ก่อการที่เรียกตัวเองว่า “คณะกรรมการสภาปฏิวัติ” ได้จับตัว พลเอกเสริม ณ นคร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, พลโทหาญ ลีนานนท์, พลตรีชวลิต ยงใจยุทธ และพลตรีวิชาติ ลายถมยา ไปไว้ที่หอประชุมกองทัพบก พร้อมยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยุบสภา ถอดถอนคณะรัฐมนตรี ประกาศแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง
จากนั้น พล.อ.เปรม ได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช, สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินไปประทับที่กองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา และตั้งกองบัญชาการตอบโต้ และใช้อำนาจปลดผู้ก่อการออกจากตำแหน่งทางทหาร
การตอบโต้ของรัฐบาลเริ่มต้นด้วยการโดยส่งเครื่องบินเอฟ-5อี บินเข้ากรุงเทพมหานครเพื่อสังเกตการณ์ พร้อมกับเคลื่อนกำลังพล ทหารทั้ง 2 ฝ่ายปะทะกันเล็กน้อย
เช้าตรู่ของวันที่ 3 เมษายน 2524 การกบฏได้ยุติลงอย่างรวดเร็ว จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้แกนนำผู้ก่อการหลบหนีออกนอกประเทศ โดย พันเอกมนูญ รูปขจร ลี้ภัยที่ประเทศเยอรมนี ขณะที่ พลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา หัวหน้าคณะ หลบหนีไปประเทศพม่า ต่อมาระดับแกนนำได้รับพระราชทานอภัยโทษ 52 คน ได้รับนิรโทษกรรม และได้รับการคืนยศทางทหารในเวลาต่อมา
กบฏทหารนอกราชการ หรือ กบฏ 9 กันยา
ภายหลังความล้มเหลวในการก่อการของกบฏยังเติร์ก ได้เกิดความพยายามรัฐประหารยึดอำนาจ พล.อ.เปรม อีกครั้ง จากคู่ขัดแย้งที่เป็นกลุ่มนายทหารนอกประจำการคณะหนึ่งที่รียกว่า กบฏทหารนอกราชการ หรือ กบฏ 9 กันยา ประกอบด้วย นาวาอากาศโท มนัส รูปขจร พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ พลเอก เสริม ณ นคร พลเอก ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา
พลอากาศเอก กระแส อินทรรัตน์ พลตรี ทองเติม พบสุข พันเอก ประจักษ์ สว่างจิต พันเอก สาคร กิจวิริยะ ร่วมด้วยทหารประจำการอีกส่วนหนึ่ง อาทิ เอกรัฐ ษรารุรักษ์ และพลเรือนบางส่วนซึ่งเป็นผู้นำแรงงาน อาทิ นาย สวัสดิ์ ลูกโดด นาย ประทิน ธำรงจ้อย โดยได้ความสนับสนุนทางการเงินจาก เอกยุทธ อัญชันบุตร
โดยการพยายามยึดอำนาจในครั้งนี้อยู่ในช่วงที่ พล.อ.เปรม เดินทางไปราชการที่ประเทศอินโดนีเซีย ส่วนพลเอก อาทิตย์ กำลังเอก ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น อยู่ระหว่างปฏิบัติภารกิจในทวีปยุโรป
ลำดับเหตุการณ์กบฏทหารนอกราชการ หรือ กบฏ 9 กันยา
เหตุการณ์เริ่มขึ้นในเวลา 03.00 น. วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 โดยมีรถถังจำนวน 22 คัน จากกองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ พร้อมด้วยกำลังทหารกว่า 400 นาย เข้าควบคุมกองบัญชาการทหารสูงสุด สนามเสือป่า กรมประชาสัมพันธ์ และองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อสมท.)
ขณะที่ฝ่าย นายเอกยุทธ อัญชันบุตร ซึ่งเป็นพลเรือน ได้นำกำลังทหารส่วนหนึ่งและผู้นำสหภาพแรงงานเข้ายึดองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และควบคุมตัวนายพิเชษฐ สถิรชวาล ผู้อำนวยการ ขสมก. ในขณะนั้น เพื่อนำรถขนส่งมวลชนไปรับกลุ่มผู้ใช้แรงงานเข้ามาร่วมด้วย
ต่อมาทหารฝ่ายรัฐบาลซึ่ง พลเอก ประจวบ สุนทรางกูร รองนายกรัฐมนตรี อยู่ในตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี ตั้งกองอำนวยการฝ่ายต่อต้านขึ้นและออกแถลงการณ์ตอบโต้ รวมถึงได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในวันเดียวกัน
เวลาประมาณ 09.50 น. รถถังของฝ่ายกบฏที่ตั้งอยู่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าเริ่มระดมยิงเสาอากาศวิทยุและอาคารของสถานีวิทยุกระจายเสียงกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ และยิงปืนกลเข้าไปในบริเวณวังปารุสกวัน ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ทำให้ผู้สื่อข่าวต่างประเทศเสียชีวิตสองคน คือ นีล เดวิส ชาวออสเตรเลีย และบิล แรตช์ ชาวอเมริกัน
เวลา 15.00 น. โดยพลโท พิจิตร กุลละวณิชย์ เป็นตัวแทนฝ่ายรัฐบาล และพลเอก ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นตัวแทนฝ่ายกบฏ และทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้ และถอนกำลังกลับที่ตั้งในเวลา 17.30 น.
ส่วนพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เดินทางกลับประเทศไทยในคืนวันเดียวกัน และเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส โดยทันที
เมื่อการกบฏล้มเหลวทั้ง พันเอก มนูญ รูปขจร และนาวาโท มนัส รูปขจร ได้ลี้ภัยไปประเทศสิงคโปร์และเดินทางไปอยู่ในประเทศเยอรมนีตะวันตก ส่วนที่เหลือให้การว่าถูกบังคับจากคณะผู้ก่อการกบฏ มีผู้ถูกดำเนินคดี 39 คน หลบหนี 10 คน
ทั้งนี่เชื่อกันว่าเบื้องหลังการยึดอำนาจครั้งนี้ พันเอก มนูญ รูปขจร ทำหน้าที่เพียงเป็นหัวหอกออกมายึดเท่านั้น เพื่อคอยกำลังเสริมของผู้มีอำนาจนำออกมาสมทบในภายหลัง และการก่อการครั้งนี้ล้มเหลวเนื่องจากมีใครบางคนที่ นัดแล้วไม่มา
ขอบคุณภาพ/ข้อมูล wikipedia