ภัยแล้ง

เตือน 489 ตำบล เตรียมรับมือภัยแล้งปี 2564

น้ำต้นทุนในปี 2564 มีน้อยกว่าปรกติ หลายพื้นที่เสี่ยงประสบปัญหาภัยแล้งในช่วงฤดูแล้ง 2564

Home / NEWS / เตือน 489 ตำบล เตรียมรับมือภัยแล้งปี 2564

ประเด็นน่าสนใจ

  • ฤดูฝนปี 2563 ปริมาณน้ำฝนในประเทศไทยมีน้อยกว่าค่าปรกติ ซึ่งใกล้เคียงกับในปี 2562 ที่ผ่านมา
  • หลายพื้นที่เสี่ยงประสบปัญหาภัยแล้งในช่วงฤดูแล้ง ปี 2564 จำนวน 498 ตำบล
  • แนะเกษตรกรเลี่ยงทำนาปรัง, ลุ่มเจ้าพระยาควรประหยัดน้ำ

สิ้นฤดูฝนในปี 2563 ทำให้ในอีกไม่นาน ฝนจะเริ่มค่อย ๆ ลดลง เข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเต็มตัว ซึ่งนั่นหมายความว่าประเทศไทยจะยังจำเป็นที่จะต้องใช้น้ำที่มีอยู่ในฤดูฝนที่เพิ่งผ่านพ้นไปนี้ ไปจนถึงราวเดือน พ.ค. – มิ.ย. 2564

ซึ่งภาพรวมของปริมาณน้ำในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วง เดือน ตุลาคม 2563 นี้ หลายคนจะรู้สึกว่า มีฝนตกอย่างต่อเนื่อง มีพายุเข้าต่อเนื่อง แต่ภาพรวมของปริมาณน้ำในประเทศไทย โดยเฉพาะในเขื่อนใหญ่ ๆ กลับน่าเป็นห่วง เมื่อเขื่อนหลักของประเทศไม่ได้มีน้ำมากอย่างที่คิด

ลุ่มน้ำเจ้าพระยา – ลุ่มน้ำแม่กลอง ต้องประหยัด


ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลวันนี้

5,131

ล้าน ลบ.ม.
แต่สามารถใช้ได้ เพียง

1,331

ล้าน ลบ.ม. หรือ 14% เท่านั้น


ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ทั่วประเทศไทย จำนวน 447 แห่ง มีน้ำกักเก็บอยู่ราว 43,739 ล้าน ลบ.ม. จากความจุ 76,068 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 58% ของความจุ และมีปริมาณน้ำสามารถใช้ได้ราว 19,800 ล้าน ลบ.ม. หรือ 38% ของความจุอ่างฯ

ในขณะเดียวกัน จากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำหลัก ๆ นี้ ซึ่งหากดูเฉพาะเขื่อนหลักสำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง ปริมาณน้ำต้นทุนของทั้งสองลุ่มน้ำ มีอยู่อย่างจำกัด เนื่องจากในฤดูฝนที่ผ่านมา แนวฝน-แนวพายุพัดเข้าไทยนั้นจะไม่ขึ้นไปทางตอนเหนือของประเทศ

สำหรับในเขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 4,011 ล้าน ลบ.ม.

ซึ่งต้องส่งน้ำให้กับ 22 จังหวัดภาคกลางตลอดระยะเวลา 6+3 เดือน ก็คือ

  • ช่วงตั้งแต่เดือน พ.ย. 63 – เม.ย. 64
  • ช่วงตั้งแต่ พ.ค. – ก.ค. 64 (กรณีฝนทิ้งช่วง)

ปริมาณฝนในปี 2563 เทียบกับค่าปรกติ

สถานการณ์น้ำในแม่น้ำสายหลัก

สำหรับแม่น้ำสายหลักในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง แนวโน้มของปริมาณน้ำในลำน้ำมีแนวโน้นลดลง ระดับน้ำอยู่ในระดับน้ำน้อยถึงปรกติ โดยจะเป็นว่า ในหลายจุดระดับน้ำ อยู่ในระดับ น้ำน้อยวิกฤติ

ในขณะที่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีสถานะใกล้เคียงกับภาคเหนือและภาคกลางคือ ระดับน้ำในแม่น้ำสายหลักอยู่ในระดับน้ำน้อย ถึงอยู่ในเกณฑ์ปรกติ

มีเพียงบริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ที่มีแนวโน้มน้ำมาก

ข้อมูลปริมาณน้ำในลำน้ำสายต่าง ๆ (ข้อมูล 13 พ.ย. 63)

สาเหตุของสถานการณ์น้ำ

ในปี 2563 ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีในประเทศไทยมีปริมาณน้อยกว่าปรกติ ซึ่งในช่วงต้นฤดูฝนปี 2563 ปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปี 2562 เนื่องจากสภาวะฝนทิ้งช่วงต่อเนื่องจากฤดูแล้ง ก่อนที่จะเริ่มมีฝนตกชุกมากขึ้นในช่วงปลายฤดูฝนที่ผ่านมา

ปริมาณน้ำในลำน้ำแต่ละภาค
กราฟปริมาณน้ำฝนสะสมตั้งแต่ต้นปีจนถึง 12 พ.ย. 2563 โดยเส้นสีแดงคือปริมาณน้ำฝนสะสมในปี 2563

ซึ่งในช่วงปลายฤดูฝนที่ผ่านมา มีร่องมรสุมพาดผ่าน และมีพายุพัดเข้ามาในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณน้ำฝนเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าในปี 2562 ที่ผ่านมา แต่หากดูพื้นที่ที่ฝนตกเป็นรายภาคแล้วจะพบว่า

แนวพื้นที่ของฝนตกลงมานั้น ส่วนใหญ่ไปอยู่ในบริเวณพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือทางตอนบน และตอนล่างของภาค รวมถึงภาคตะวันออกและใต้

ในขณะที่ปริมาณน้ำฝนในภาคกลาง และฝั่งตะวันตกของประเทศนั้นมีปริมาณฝนไม่มากนัก จึงทำให้ปริมาณน้ำให้ในเขื่อนหลัก โดยเฉพาะลุ่มเจ้าพระยา มีปริมาณที่ค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพล

ปริมาณน้ำฝนสะสมในปี 2563 นี้ จะเห็นพื้นที่มีฝนตกน้อย – มาก
ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำ

ผลกระทบ 498 ตำบลเสี่ยงแล้ง

เนื่องจากน้ำต้นทุนมีน้อยส่งผลทำให้น้ำที่เหลืออยู่ ไม่มีเพียงพอสำหรับการทำนาปรังได้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ดังนั้น คำแนะนำสำหรับเกษตรกร ควรเลือกปลูกพืชน้ำที่ใช้น้ำน้อยเป็นทางเลือกแทน หรือหามีแหล่งน้ำของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นบ่อบาดาล สระน้ำ ก็จะยังคงพอช่วยผ่อนปัญหาไปได้

ซึ่งในช่วงเวลาที่เหลืออีกกว่าครึ่งปี ก่อนถึงฤดูฝนในปี 2564 จึงมีหลายพื้นที่ที่เสี่ยงประสบปัญหาภัยแล้งอย่างแน่นอน โดยเฉพาะทางบริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน

พื้นที่เสี่ยงภัยไม้ผลขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง 2564

ในพื้นที่ที่ปริมาณน้ำมีน้อย ทำให้เสี่ยงที่ไม้ผลจะขาดแคลนน้ำราว 3.3 แสนไร่ ในพื้นที่ 32 จังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคอีสาน จำนวนกว่า 113 อำเภอ

น้ำกินน้ำใช้ ฤดูแล้ง 2564

นอกจากสถานการณ์น้ำในภาคเกษตรแล้ว สำหรับน้ำกินน้ำใช้ในการอุปโภคบริโภค ก็จะได้รับผลกระทบทั้งในและนอกเขต พื้นที่ดูแลของการประปาฯ

ทั้งในภาคเหนือ – ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ดังนั้นในระยะเวลาอีกกว่า 6 เดือนจนกว่าจะถึงฤดูฝนปี 2564 นั้น ถือเป็นช่วงเวลาที่จะต้องใช้น้ำกันอย่างประหยัด


อีกทั้งในปี 2563 นี้ แม้ว่าเข้าฤดูฝน แต่ก็ยังเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงจนกระทั่งในช่วงท้ายฤดูกาลที่ผ่านมา ดังนั้น คนไทยจะต้องเตรียมพร้อมเผชิญปัญหาน้ำใช้ไปอีกเกือบ 9 เดือนเลยทีเดียว


ข้อมูล : กรมชลประทาน, คลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ โดย สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน), สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ, กรมอุตุนิยมวิทยา