ประเด็นน่าสนใจ
- ประเทศไทยมีการแก้กฎหมายเกี่ยวกับการข่มขืนและกระทำชำเราขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นการปรับปรุงจากกฎหมายเดิม โดยเพิ่มโทษสูงสุดคือ ‘ประหารชีวิต’
- นักสิทธิมนุษยชนบางส่วนมองว่า กฎหมายที่มีการปรับแก้ขึ้นใหม่ ‘ไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลง’
- กฎหมายฉบับนี้ก็มีข้อดีในด้านการคุ้มครองเฉพาะกลุ่มมากขึ้น
หลังจากเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่กฎหมายเกี่ยวกับการข่มขืนและกระทำชำเราขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นการปรับปรุงจากกฎหมายเดิม ทีมข่าว MONO29 ได้พูดคุยสอบถามมุมมองของประชาชนว่ามีความเห็นอย่างไรบ้างกับกฎหมายฉบับนี้ ติดตามจากรายงานของคุณฐิติญา เกษกาญจน์
นี่เป็นมุมมองของ “รุ่งทิวา เสนะเพชร” หญิงสาวที่แม้จะไม่เคยเผชิญกับเหตุการณ์ในภาวะเสี่ยงต่อการถูกข่มขืน หรือ กระทำอนาจาร แต่รู้สึกว่าปัญหานี้เป็นเรื่องใหญ่ในสังคมที่ไม่ควรมองข้าม ซึ่งเมื่อเว็บไซต์ราชกิจนานุเบกษา เผยแพร่พระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 ที่มีใจความหลักเกี่ยวข้องกับการปรับแก้กฎหมายของการกระทำชำเราออกมาบังคับใช้ จึงอยากให้บทลงโทษต่างๆมีการดำเนินการอย่างจริงจัง มากกว่าที่เคยเป็นมา
เช่นเดียวกับ “สิริรัตน์ พนาวสุ” ที่บอกว่ารู้สึกอุ่นใจในเรื่องความปลอดภัยหลังมีข้อกฎหมายเกี่ยวกับคดีข่มขืน และกระทำชำเราที่เข้มข้นมากขึ้น
ด้านมุมมองของนักสิทธิมนุษยชน มองว่า กฎหมายที่มีการปรับแก้ขึ้นใหม่ หากมองเรื่องโทษสูงสุด “ข่มขืน เท่ากับ ประหาร” นั้นไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลง เพราะโทษทางอาญา กรณีการข่มขืนและทำร้ายร่างกายจนถึงแก่ชีวิต การประหารก็คือโทษสูงสุดอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตามกฎหมายฉบับนี้ก็มีข้อดีในด้านการคุ้มครองเฉพาะกลุ่มมากขึ้น อาทิ ผู้พิการ หญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และลูกจ้าง รวมทั้งการเพิ่มโทษทางกฎหมายที่สูงขึ้น
ทั้งนี้นอกจากตัวบทกฎหมายแล้วสิ่งที่มนุษย์ทุกคนควรให้ความสำคัญคือการเคารพสิทธิของผู้อื่น และไม่ล่วงละเมิดร่างกายและจิตใจผู้อื่นให้เกิดความเสียหาย นับเป็นการป้องกันปัญหาตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่ดีที่สุด