ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

อัปเดต – ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ใน พท. กรุงเทพฯ

ประกาศสภาวะฉุกเฉินร้ายแรงในเขตกรุงเทพ

Home / NEWS / อัปเดต – ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ใน พท. กรุงเทพฯ

เมื่อเวลา 04.00 น. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์การชุมนุมที่เกิดขึ้น เมื่อวานนี้ ( 14 ต.ค.) ได้ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย วุ่นวาย และมีการกระทำต่อขบวนเสด็จพระราชดำเนิน จึงทำให้การชุมนุมที่เกิดขึ้น ไม่ได้เป็นการชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ และเพื่อเป็นการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ด้วย

รัฐบาลจึงจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขปัญหา และรักษาความสงบเรียบร้อย จึงได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง

ประกาศสภาวะฉุกเฉินร้ายแรงในเขตกรุงเทพ

ประกาศแต่งตั้ง พล.อ.ประวิตร เป็นผู้กำกับเหตุการณ์ฉุกเฉินฯ

ในช่วงเช้าที่ผ่านมาได้มีคำสั่งนายกรัฐมนตรี โดยอ้างอิงตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพฯ แต่งตั้งให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้กำกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และให้ ผบ.ตร. เป็นผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ

ข้อกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ

ได้มีการประกาศข้อกำหนดต่าง ๆ ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง ในเขตกทม. ในช่วงเช้าที่ผ่านมาโดย มีข้อกำหนดโดยสรุป คือ

  • ห้ามชุมนุมมั่วสุมเกินกว่า 5 คนขึ้นไป
  • ห้ามไม่ให้เสนอข่าวยั่วยุ จำหน่าย เผยแพร่สื่อต่าง ๆ ที่เป็นการบิดเบือนข้อมูล ทำให้เกิดความเข้าใจผิด หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อย
  • ห้ามใช้เส้นทาง ยานพาหนะ ตามที่ประกาศกำหนดตามประกาศ
  • ห้ามเข้าไปยังอาคาร สถานที่ ที่ประกาศหรือมีคำสั่งห้าม

ประกาศให้อำนาจเจ้าหน้าที่ฯ ในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ

หลังจากที่ได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เมื่อช่วงเช้าที่ผ่าน ก็ได้มีการประกาศเพิ่มเติม เพื่อให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ โดย ให้อำนาจกับพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้สามารถกระทำการได้ดังนี้คือ

  • จับกุม ควบคุมตัว บุคคลที่ต้องสงสัย ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน
  • ออกคำสั่งเรียกบุคคลมารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่
  • ยึด ตรวจค้น รื้อ-ถอน-ทำลาย อายัดเครื่องมือ สิ่งปลูกสร้าง หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์
  • สามารถสั่งห้ามไม่ให้บุคคล กระทำการใด ๆ หรือสั่งให้ทำ หรืองดเว้น ได้เท่าที่จำเป็นในการควบคุม และดูแลความปลอดภัย
  • สั่งห้ามการกระทำการใด ๆ ที่เป็นการปิดกั้นเส้นทางการจราจร

โดยท้ายคำสั่ง ระบุว่า ให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบ ใช้มาตรการต่าง ๆ ตามความจำเป็นและเหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดความเดือดร้อนกับประชาชนเกินสมควร