ถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญในหน้าประวัติชาติไทยอีกเหตุการณ์หนึ่ง กับ เหตุการณ์ 14 ตุลา หรือ “วันมหาวิปโยค” เป็นเหตุการณ์การปราบปรามผู้ประท้วงอย่างรุนแรงโดยรัฐบาลนายกรัฐมนตรีจอมพลถนอม กิตติขจร จนมีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน บาดเจ็บกว่า 800 คน และมีผู้สูญหายอีกเป็นจำนวนมาก
ฉนวนเหตุ
การประท้วงนั้นเกิดขึ้นเนื่องจากสาเหตุหลายประการ คือ ประเทศไทยได้อยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารมานานเกือบ 15 ปีตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประกอบกับข่าวการฉ้อราษฎร์บังหลวงหลายอย่างในรัฐบาล รวมทั้งรัฐประหารตัวเองในปี 2514 ข่าวการลักลอบล่าสัตว์ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติ นำไปสู่การเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย มีการตีพิมพ์ “บันทึกลับจากทุ่งใหญ่” ทำให้เกิดความสนใจในหมู่ประชาชน
นำไปสู่การเดินแจกใบปลิวของนิสิตนักศึกษาในกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 6–9 ตุลาคม มีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถูกทหารจับกุม ซึ่งต่อมาบุคคลเหล่านี้ได้ชื่อว่า “13 ขบถรัฐธรรมนูญ” ทำให้เกิดการประท้วงใหญ่เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สู่การเดินประท้วงในถนนราชดำเนิน โดยมีประชาชนทยอยเข้าร่วมหลายแสนคน รัฐบาลจอมพลถนอมประกาศยอมรับข้อเรียกร้องของผู้ประท้วงว่าจะร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้ผู้ชุมนุมบางส่วนสลายตัว
เกิดการนองเลือด
ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ผู้ประท้วงบางส่วนเดินทางไปพระบรมมหาราชวังเพื่อขอพบผู้แทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อตกลงสลายตัว แต่เกิดเหตุระเบิดแถวพระบรมมหาราชวังและเริ่มการปราบปรามการประท้วงอย่างรุนแรงโดยมีการระดมรถถังและเฮลิคอปเตอร์ ฝ่ายผู้ประท้วงมีผู้เข้าร่วมเพิ่มเป็นประมาณ 500,000 คน
จนฝ่ายความมั่นคงถอนกำลังออกไปในช่วงเย็น และในเวลา 19.15 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเผยแพร่พระราชดำรัสทางโทรทัศน์ว่ารัฐบาลทหารลาออกแล้ว หลังจากนั้นมีเหตุการณ์ปะทะกันอีกเล็กน้อยในวันที่ 15 ตุลาคม แต่ผู้ชุมนุมสลายตัวเมื่อทราบว่าบุคคลสำคัญในรัฐบาลสามคนที่เรียกว่า “3 ทรราช” เดินทางออกนอกประเทศแล้ว
หลังเหตุการณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้ง สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นการเริ่มต้นของ “ยุคการทดลองประชาธิปไตย” ที่สิ้นสุดลงด้วยเหตุการณ์ 6 ตุลา และรัฐประหารปี 2519 ผู้เสียชีวิตได้รับยกย่องเป็น “วีรชนเดือนตุลา” และมีแผนก่อสร้างอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาเพื่อเป็นอนุสรณ์
อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา
คณะรัฐมนตรีมีมติให้ก่อสร้างอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ขึ้นที่ สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง มีการวางศิลาฤกษ์ในปี 2518 แต่กว่าจะแล้วเสร็จก็ล่วงมาถึงปี 2541 ธงชัย วนิจจะกูลเขียนว่า เป็นเพราะเหตุการณ์ 6 ตุลาทำให้เกิดการตีความการเคลื่อนไหวของนักศึกษาใหม่ว่าเป็นความวุ่นวาย และที่จริงในตอนแรกอนุสรณ์สถานดังกล่าวตั้งใจจะให้รวมผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 6 ตุลาและพฤษภาทมิฬด้วยแต่ถูกขัดขวาง
พ.ศ. 2546 สภาผู้แทนราษฎรมีมติเอกฉันท์กำหนดให้วันที่ 14 ตุลาคมของทุกปีเป็น “วันประชาธิปไตย” เป็นวันสำคัญของชาติ
ข้อมูล : wikipedia