ประเด็นน่าสนใจ
- คณะรัฐมนตรี อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. ….
- โดยกระทรวงยุติธรรมให้เสนอ เพื่อกำหนดมาตรการควบคุมพืชกระท่อม
- เป็นการปลดล็อคกระท่อมจากยาเสพติด ประเภท 5 เพื่อให้สามารถนำมาใช้งานทางการแพทย์ – ศึกษาวิจัยและพัฒนาต่อไป
- โดยกำหนดให้ใช้ได้สำหรับทางการแพทย์-งานวิจัย ห้ามเยาวชนต่ำกว่า 18 เสพ, ห้ามผสม 4×100 หรือผสมกับสารอื่น รวมถึงห้ามนำเข้า-ส่งออก กำหนดสถานที่ห้ามจำหน่ายและประชาสัมพันธ์
- มีการกำหนดโทษ กรณีฝ่าฝืนตั้งแต่ปรับ จนถึงจำคุก
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมครม.วันนี้ ได้แถลงถึงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ว่า ครม. ได้มีมติอนุมัติหลักการเกี่ยวกับ ร่างพระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงยุติธรรมได้เสนอเข้ามาพิจารณา ก่อนจะส่งต่อไปให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร์ และเสนอต่อสภาต่อไป
โดยการเสนอให้มีการปลดล็อคกระท่อม ออกจากยาเสพติดประเภท 5 โดยออก พ.ร.บ. กระท่อม เพื่อให้สามารถนำกระท่อมมาใช้ประโยชน์ ทางการแพทย์ เพื่อการรักษาผู้ป่วย รวมถึงการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้สามารถนำกระท่อม มาใช้ประโยชน์ ได้อย่างจริงจังมากขึ้น
เนื่องจากผลการวิจัยที่ผ่านมาพบว่า ประเทศไทยมีการใช้ในตำรายาสมุนไพรพื้นบ้าน นอกจากนี้ยังสามารถควบคุมกำหนดบทลงโทษที่ชัดเจน ในการใช้กระท่อมให้เป็นไปตามแนวทางของการใช้ประโยชน์อย่างถูกต้อง ร่วมกับการป้องกันไม่ให้เยาวชนนำไปใช้ในทางที่ผิดจนก่อเกิดอันตรายจากการผสมสารต่าง ๆ ลงไป จนเกิดอันตรายต่อชีวิตต่อไป
สาระสำคัญ – ข้อกำหนด เกี่ยวกับ พ.ร.บ. กระท่อม
- กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดผลิต นำเข้า หรือส่งออกพืชกระท่อม เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท
. - ห้ามขายพืชกระท่อมให้กับผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี และสตรีมีครรภ์ ห้ามใช้ จ้างวาน หรือยินยอมให้ผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ขายพืชกระท่อม ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท ห้ามมิให้ขายพืชกระท่อมในสถานที่บางแห่ง เช่น โรงเรียน หอพัก สวนสาธารณะ สวนสัตว์ สวนสนุก หรือขายผ่านอินเตอร์เน็ต หรือเร่หาย ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท
. - ห้ามโฆษณาหรือทำการสื่อสารการตลาดพืชกระท่อม ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน และปรับไม่เกิน 500,000 บาท
. - ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เสพพืชกระท่อม และห้ามผู้มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป เสพพืชกระท่อมแบบ 4 x 100 (ผสมกับยา ยาเสพติด วัตถุออกฤทธิ์) รวมทั้งห้ามมิให้ผู้ใดยุยงส่งเสริมให้ผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี หรือสตรีมีครรภ์เสพพืชกระท่อม ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
. - กำหนดให้กฎหมายฉบับนี้ไม่มีผลบังคับใช้กับผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยา อาหาร และเครื่องสำอาง ที่มีส่วนประกอบของพืชกระท่อม ตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยา อาหาร และเครื่องสำอาง

เหตุผลของการแก้ไข ปลดล็อกกระท่อม
สำหรับกระท่อมเป็นพืชที่มีการใช้งานในเชิงเพื่อการรักษา และทางการแพทย์ในตำราแพทย์พื้นบ้าน ตำรายาสมุนไพร ซึ่งได้มีการตราข้อกฎหมาย เพื่อกำหนดห้ามเสพ ปลูก มี ซื้อ ขาย ให้และแลกเปลี่ยนพืชกระท่อม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2486 เนื่องจากในพืชกระท่อมมีสารไมทราไจนีน ที่มีฤทธิ์กดประสาท เมื่อเสพโดยการเคี้ยวใบจะทำให้มีอาการข้างเคียง ได้แก่ ปากแห้ง ปัสสาวะบ่อย เบื่ออาหาร ท้องผูก นอนไม่หลับ
ถ้าหากเสพเป็นระยะเวลานานติดต่อกันจะมีผล ต่อสุขภาพ ได้แก่ ท้องผูกรุนแรง เม็ดสีที่ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีคล้ำ ใจสั่น อาจทำให้มีอาการชักของร่างกาย และมีผลต่อตับและต่อมไทรอยด์ได้ ต่อมาได้มีการจัดให้ กระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษ ประเภท 5
ซึ่งต่อมาในการศึกษาค้นคว้าภายหลังพบว่า กระท่อมมีผลกระทบต่อร่างการ แต่ไม่มาก เมื่อเทียบกับประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการใช้กระท่อม ในการบรรเทาอาการปวด แทนการใช้มอร์ฟีน โดยมีประสิทธิภาพดีกว่า สามารถใช้ในการบำบัดผู้ติดยาเสพติดชนิดอื่น ๆ ได้
นอกจากนี้ยังเป็นพืชสำคัญทางเศรษฐกิจอีกด้วย ทำให้สามารถส่งออกได้ เนื่องจากหลาย ๆ ประเทศไม่ได้กำหนดให้กระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษ เนื่องจากไม่เข้าหลักเกณฑ์ของสหประชาชาติที่กำหนดเกณฑ์ของยาเสพติดไว้ 4 ข้อคือ
- ก่อให้เกิดอาการขาดยา
- ไม่มีประโยชน์ทางการแพทย์ หรือมีน้อยมาก
- ก่อให้เกิดปัญหาทางด้านสาธารณสุข
- ทำให้เกิดปัญหาสังคม
ซึ่งกระท่อมไม่เข้าในเกณฑ์ทั้ง 4 ข้อนี้แต่อย่างใด