การเกณฑ์ทหาร ทหาร ทหารเกณฑ์

ขั้นตอนการเกณฑ์ทหาร และวิธีการผ่อนผัน ให้ชายไทยเข้าใจในหน้าที่

เวียนกลับมาอีกครั้ง สำหรับการเกณฑ์ทหาร ซึ่งในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี ตามกฎหมายชายไทยที่มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ จะต้องเข้ารับราชการทหารตรวจเลือกทหาร หรือการเกณฑ์ทหารตามกำหนด ปีนี้กองทัพบกได้ทำการเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการเป็นทหารกองประจำการ ระหว่างวันที่ 1-2 เม.ย. 62 (ยกเว้น 6…

Home / NEWS / ขั้นตอนการเกณฑ์ทหาร และวิธีการผ่อนผัน ให้ชายไทยเข้าใจในหน้าที่

เวียนกลับมาอีกครั้ง สำหรับการเกณฑ์ทหาร ซึ่งในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี ตามกฎหมายชายไทยที่มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ จะต้องเข้ารับราชการทหารตรวจเลือกทหาร หรือการเกณฑ์ทหารตามกำหนด

ปีนี้กองทัพบกได้ทำการเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการเป็นทหารกองประจำการ ระหว่างวันที่ 1-2 เม.ย. 62 (ยกเว้น 6 เม.ย.) และช่วงนี้หลายพื้นที่คึกคักเป็นพิเศษ เพราะได้มีชายไทยจำนวนมากตบเท้าเข้าคัดเลือกทหารกันแล้ว

ตามกฎหมายไทย การคัดเลือกทหารมีอยู่ด้วยกัน 2 ลักษณะ ได้แก่ การคัดเลือกทหารกองประจำการ และการคัดเลือก
ทหารกองเกิน

ทหารกองประจำการ คือ ผู้ซึ่งขึ้นทะเบียนกองประจำการ และได้เข้ารับราชการในกองประจำการจนปลด กล่าวคือชายไทยอายุ 18 ปี คนใดได้รับหมายเรียก จะต้องไปเข้ารับการตรวจเลือกเกณฑ์ทหาร ตามหมายเรียกของนายอำเภอ/ผู้อำนวยการเขต/ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ โดยหลักฐานที่ต้องใช้ มีดังนี้

1. หมายเรียก (แบบ สด.35)

2. ใบสำคัญ (แบบ สด.9)

3. บัตรประจำตัวประชาชน

4. ประกาศนียบัตรหรือหลักฐานการศึกษา

ขั้นตอนการเกณฑ์ทหารกองประจำการ 

ผู้ที่ได้รับหมายเรียก  (แบบ สด.35)  ต้องเข้าแถวตามตำบล จากนั้นประธานกรรมการตรวจเลือกทหารหรือประธานกรรมการเกณฑ์ทหาร  จะทำการชี้แจงความจำเป็นถึงการตรวจเลือกทหาร เมื่อประธานกรรมการชี้แจงเสร็จ กรรมการสัสดีจะชี้แจงถึงขั้นตอนการปฏิบัติในการตรวจเลือกทหาร  รวมทั้งสิทธิต่าง ๆ ของผู้ถูกเข้ารับราชการทหารกองประจำการคือผู้ที่สมัครหรือผู้ที่จับสลากแดงได้  ซึ่งมีขั้นตอนการปฏิบัติดังนี้

  • กรรมการเรียกชื่อเข้าตรวจเลือก
  • กรรมการแพทย์ตรวจร่างกายว่าสมบูรณ์ดีหรือไม่ ซึ่งคนที่ร่างกายพิการทุพพลภาพ หรือมีโรคที่กฏหมายกำหนดให้ไม่ต้องเข้ารับราชการทหา
  • กรรมการจะวัดขนาดสูงและขนาดรอบตัวของร่างกาย
  • ประธานการตรวจเลือก/เกณฑ์ทหารจะตรวจสอบขั้นสุดท้ายถ้าร่างกายสมบูรณ์ดีและขนาดสูง  1 เมตร  60  เซนติเมตร ขนาดรอบตัว  76  เซนติเมตร ในเวลาหายใจออก  จะให้รอจับสลากสำหรับคนที่ร่างกายสมบูรณ์ดี แต่ขนาดสูงต่ำกว่า 1 เมตร  60  เซนติเมตร ขนาดรอบตัวต่ำกว่า 76  เซนติเมตร ในเวลาหายใจออกและคนร่างกายไม่สมบูรณ์ดีหรือร่างกายพิการทุพพลภาพหรือมีโรคที่ขัดต่อการเป็นทหารกองประจำการ ประธานกรรมการจะปล่อยตัวพร้อมกับมอบใบรับรองผลการตรวจเลือกให้ทหารกองเกินรับไป
  • ทหารกองเกินหรือบุคคลที่จับสลากแดงหรือสมัครเข้าเป็นทหารกองประจำการ ประธานกรรมการตรวจเลือกจะส่งตัวให้นายอำเภอ/ผู้อำนวยการเขต/ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอออกหมายนัดให้ไปเข้ารับราชการทหารตามผลัดที่จับสลากได้ หรือผลัดที่สมัครไว้

ทหารกองเกิน

ทหารกองเกิน คือ ผู้ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ และยังไม่ถึง 30 ปีบริบูรณ์ ซึ่งได้ลงบัญชีทหารกองเกินตามมาตรา 16 หรือผู้ซึ่งได้ลงบัญชีทหารกองเกินตามมาตรา 18 แล้ว

กล่าวคือ ชายสัญชาติไทยเมื่ออายุ  17  ปีบริบูรณ์  ต้องไปลงบัญชีทหารกองเกิน (ขึ้นทะเบียนทหาร)  ตามภูมิลำเนาของบิดา  ถ้าบิดาถึงแก่กรรมให้ลงบัญชีทหารกองเกินตามภูมิลำเนาของมารดา   ถ้าบิดา มารดาถึงแก่กรรมให้ลงบัญชีทหารกองเกิน ตามภูมิลำเนาของผู้ปกครอง เมื่อลงบัญชีทหารกองเกินเสร็จแล้วจะได้รับใบสำคัญ  (แบบ สด.9)  โดยนำหลักฐานไปลงบัญชีทหาร ดังนี้

1. บัตรประจำตัวประชาชน

2. สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน

3. สูติบัตร  (ถ้ามี)

จากนั้นผู้ที่ลงบัญชีทหารกองเกิน เมื่ออายุ 20  ปีบริบูรณ์  ต้องไปรับหมายเรียกเข้ารับราชการทหาร (แบบ สด.35)  ภายในปี พ.ศ.นั้น ๆ กรณีมอบอำนาจให้บุคคลอื่นไปรับหมายเรียกแทน   จะต้องมีหนังสือมอบอำนาจ และนำหลักฐานไปยืนต่อนายอำเภอ/ผู้อำนวยการเขต/ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ ดังนี้

1. ใบสำคัญ (แบบ สด.๙)
2. บัตรประจำตัวประชาชน

ทั้งการคัดเลือกทั้งทหารกองประจำการ และทหารกองเกิน ใช่ว่าเมื่ออายุครบแล้วจะได้รับการตรวจเลือกทันที แต่สามารถที่จะทำเรื่องผ่อนผันการคัดเลือกทหารได้ หากมีกิจจำเป็นและไม่พร้อมที่จะเข้ารับการตรวจเลือกในปีนั้นๆ

การผ่อนผันการตรวจเลือกทหารเพื่อเลี้ยงดูบิดา มารดา

ผ่อนผันเกณฑ์ทหาร เพื่อเลี้ยงดูบิดามารดา ซึ่งไร้ความสามารถหรือพิการทุพพลภาพ หรือชราจนหาเลี้ยงชีพไม่ได้และไม่มีผู้อื่นเลี้ยงดู ขั้นตอนดังนี้

1. ถ้ามีบุตรต้องเกณฑ์ทหารพร้อมกันหลายคน ให้บิดามารดาเลือกเพียงคนเดียว

2. ยื่นคำร้องต่อนายอำเภอ/ผู้อำนวยการเขต/ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ ก่อนวันเกณฑ์ทหารไม่น้อยกว่า 30  วัน

3. ทำการร้องขอผ่อนผันต่อคณะกรรมการตรวจเลือกในวันตรวจเลือกอีกครั้ง

หลักฐานที่ต้องนำไปแสดงการขอผ่อนผัน

  • ใบสำคัญ (แบบ สด.9)
  • หมายเรียก (แบบ สด.35)
  • บัตรประจำตัวประชาชนของตนเอง/บิดาหรือมารดา
  • สำเนาทะเบียนบ้าน
  • หลักฐานที่แสดงว่าบิดาหรือมารดาเป็นคนไร้ความสามารถหรือพิการทุพพลภาพ
  • หลักฐานอื่นที่มีและเกี่ยวข้อง

การผ่อนผันการตรวจเลือกทหารเพื่อเลี้ยงดูบุตร

หากต้องการขอผ่อนผันการเกณฑ์ทหารเพื่อเลี้ยงดูบุตร ซึ่งมารดาตายหรือไร้ความสามารถ หรือพิการทุพพลภาพ ซึ่งบุตรยังหาเลี้ยงชีพไม่ได้ หรือไม่มีผู้อื่นเลี้ยงดู  ทำตามขั้นตอน ดังนี้

1. ยื่นคำร้องขอผ่อนผันต่อนายอำเภอ/ผู้อำนวยการเขต/ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่ง อำเภอ ก่อนถึงวันเกณฑ์ทหาร/ตรวจเลือกทหารไม่น้อยกว่า  30  วัน

2. ร้องขอต่อคณะกรรมการตรวจเลือกทหาร  ในวันตรวจเลือกทหาร/วันเกณฑ์ทหารอีกครั้ง

หลักฐานที่ต้องนำไปยื่นคำร้องขอผ่อนผัน

  • ใบสำคัญ (แบบ สด.9)
  • หมายเรียก (แบบ สด.35)
  • บัตรประจำตัวประชาชนของตนเอง/ภรรยา
  • สำเนาทะเบียนบ้าน
  • ใบสำคัญการสมรส/ทะเบียนสมรส
  • ใบมรณบัตรของภรรยา (ถ้ามี)
  • หลักฐานที่แสดงว่าภรรยาไร้ความสามารถหรือพิการทุพพลภาพ
  • หลักฐานอื่นที่มีและเกี่ยวข้อง (ถ้ามี)

การผ่อนผันการตรวจเลือกทหารเพื่อศึกษาภายในประเทศ

การผ่อนผันเนื่องจากอยู่ระหว่างการศึกษาภายในประเทศ เป็นการผ่อนผันให้ เนื่องจากมีจำนวนคนมากกว่าจำนวนคนที่หน่วยทหารต้องการ โดยนักเรียนโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 หรือเทียบเท่า  จะได้รับการผ่อนผันจนสำเร็จระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเทียบเท่า แต่อายุไม่เกิน  22  ปีบริบูรณ์

ขณะที่นิสิตหรือนักศึกษามหาวิทยาลัยของรัฐ สถาบันการศึกษาของรัฐหรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชน  จะผ่อนผันให้ศึกษาที่ไม่สูงกว่าระดับปริญญาโท และจนถึงอายุครบ 26 ปีบริบูรณ์ แต่สำหรับการศึกษาภาคนอกเวลาหรือภาคสมทบ หรือนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงและมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชต้องมีผลการศึกษาสอบไล่ได้ภาคละไม่น้อยกว่า 9 หน่วยกิต ทุกภาคติดต่อกัน

ขั้นตอนยื่นคำร้องขอผ่อนผัน

  • ยื่นคำร้องขอผ่อนผันต่อสถานศึกษาที่ศึกษาอยู่
  • ไปเข้ารับการตรวจเลือกเพื่อใช้สิทธิ์การผ่อนผันการตรวจเลือกทหารในวันตรวจเลือก
  • หลักฐานที่ใช้ประกอบในการขอผ่อนผัน ได้แก่ ใบสำคัญ (แบบ สด.9) หมายเรียก (แบบ สด.35) บัตรประจำตัวประชาชน


การขอผ่อนผันการตรวจเลือกทหารเพื่อไปศึกษาต่อต่างประเทศ

การผ่อนผันการเกณฑ์ทหาร เนื่องจากไปศึกษาต่อต่างประเทศ จะได้รับการผ่อนผันการตรวจเลือกทหารตามจำนวนปีที่ใช้การศึกษาตามหลักสูตรจนกว่าจะจบการศึกษา แล้วยกเว้นให้ไม่ต้องมาแสดงตนในวันตรวจเลือกเกณฑ์ทหาร โดยให้นักเรียนผู้ขอผ่อนผันหรือมอบอำนาจให้บิดามารดา หรือผู้ปกครอง ยื่นคำร้องขอผ่อนผันต่อนายอำเภอ/ผู้อำนวยการเขต/ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอท้องที่ภูมิลำเนาทหาร

หลักฐานที่จะต้องนำไปยื่นคำร้องขอผ่อนผันทหาร

  • ใบสำคัญ (แบบ สด.9)
  • หมายเรียก (แบบ สด.35)
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ขอผ่อนผันของผู้ยื่นคำร้องขอผ่อนผันแทน
  • สำเนาทะเบียนบ้าน
  • หนังสือรับรองของสถานศึกษาพร้อมสำเนาคำแปลเป็นภาษาไทย
  • หนังสือรับรองของสถานฑูตหรือสถานกงสุลไทย ณ ประเทศที่ไปศึกษา

การรับราชการทหารกองประจำการ และทหารกองเกิน นอกจากการตรวจเลือกเข้ารับราชการแล้ว (จับใบแดง/ใบดำ) ยังมีอีกวิธีคือชายไทยที่ผ่านเกณฑ์การตรวจร่างกายก็สามารถร้องขอยื่นสมัครเข้าเป็นทหารกองประจำการและทหารกองเกินได้ โดยสามารถเข้าไปแจ้งความจำนงค์กับเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยคัดเลือกทหารนั้นๆ

การเข้ารับราชการเป็นทหารกองประจำการ โดยปกติมีระยะเวลาสองปี แต่สำหรับผู้มีคุณวุฒิต่างๆ อาจมีระยะเวลาเข้ารับราชการกองประจำการน้อยกว่าสองปีได้

โดยผู้ที่มีคุณวุฒิ ม.6  หรือเทียบเท่าขึ้นไป ต้องนำหลักฐานการศึกษาหรือประกาศนียบัตรหรือหนังสือรับรองวิทยฐานะที่จบ รด. ปี 1 หรือปี  2 แสดงต่อคณะกรรมการตรวจเลือกภายในวันตรวจเลือก ซึ่งจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า ถ้าสมัครเป็นทหาร 1 ปี  ถ้าจับได้สลากแดงเป็นทหาร 2 ปี

หากจบประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรืออนุปริญญาขึ้นไป ถ้าสมัครเป็นทหาร 6 เดือน ถ้าจับสลากได้สลากแดงเป็นทหาร  1 ปี  หรือจบ รด. ปี 1 ถ้าสมัครเป็นทหาร  1 ปี  ถ้าจับได้สลากแดงเป็นทหาร 1 ปี  6 เดือน หากจบ  รด. ปี 2 ถ้าสมัครเป็นทหาร 6 เดือน ถ้าจับได้สลากแดงเป็นทหาร 6 เดือนเช่นกัน

ส่วนผู้ที่ได้รับการยกเว้นไม่ให้เข้าตรวจรับราชการทหาร ได้แก่บุคคลที่สำเร็จวิชานักศึกษาวิชาทหาร (รด.) โดยกลุ่มนักศึกษาวิชาทหารที่สำเร็จหลักสูตรชั้นปีที่ 3 ให้ขึ้นทะเบียนกองประจำการแล้วปลดเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 1 แทน ซึ่งจะต้องนำหลักฐานที่จะต้องไปยื่นแสดง คือ

  • ใบสำคัญ  (แบบ สด.9)
  • หมายเรียก (แบบ สด.35)
  • บัตรประจำตัวนักศึกษาวิชาทหาร
  • สำเนาทะเบียนบ้าน

การฝึกทหารเกณฑ์ทั้งคนสมัครใจ และคนที่จับสลากได้รับใบแดง จะมีขั้นตอนเหมือนกัน โดย 3 เดือนแรกจะมีการฝึกที่หนักสร้างร่างกายและความอดทน เพื่อปรับจากพลเรือน ให้เป็นพลทหาร จากนั้นแต่ละหน่วย แต่ละกรม จะมีวิธีการเรียนทางทหารที่แตกต่างกันออกไป

การเกณฑ์ทหาร นับเป็นเรื่องระทึกในชีวิตของชายไทยทุกคนที่ต้องเคยผ่านพ้น เพราะเป็นหน้าที่ที่ถูกบัญญัติไว้ในกฎหมาย หากละเลยไม่ปฏิบัติตามอาจมีโทษสูงสุดคือจำคุกไม่เกิน 3 ปี ซึ่งโทษดูเหมือนจะไม่หนักหนาสาหัส แต่เชื่อเถอะว่า มีผลกระทบตามมาอีกเป็นขบวนเป็นแน่ถ้าคิดหนีทหาร ทางที่ดีควรทำหน้าตามหน้าที่ เพราะสุดท้ายแล้วพยายามจะหลบเท่าไหร่ คงไม่พ้นอยู่ดี  . . .